สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและสังคมให้ความสนใจ ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง เกี่ยวกับกรณีที่มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวน 6 คนบุกไปที่บ้านของคู่กรณี และเมื่อไปถึงก็ตะโกนเรียกที่หน้าบ้าน พร้อมกับโยนสิ่งของเข้าไปในบ้านของคู่กรณี หลังจากนั้น คู่กรณีวิ่งออกจากบ้านพร้อมกับถือมีดออกมาด้วย ทั้งสองฝ่ายต่างลงมือทำร้าย 6 ต่อ 1 ผลสุดท้ายวัยรุ่นที่มาด้วยกัน 6 คนถูกแทงเสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บอีก 1 คน ส่วนมือแทงก็ได้รับบาดเจ็บเช่นเดียวกัน โดยถูกตีที่แขนจนหัก หลังจากก่อเหตุก็หลบหนีไปกระทั่งถูกจับกุมได้ คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน
คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ และถกเถียงกันในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก คือ มือมีดจะสามารถอ้างเหตุป้องกันตัว เพื่อให้พ้นผิดจากคดีอาญาได้หรือไม่
หากพิจารณาจากคลิปวิดีโอตามข่าว จะพบว่าฝ่ายมือมีดวิ่งออกจากบ้านไปพร้อมกับมีด และมีคำพูดประมาณว่า “มาดิวัยรุ่น” และมีอีกหลายคลิปที่เผยแพร่อยู่ในโลกโซเชียล เช่น คลิปวิดีโอที่ฝ่ายวัยรุ่น 1 ใน 6 คนก้มกราบ มือมีด หรือคลิปวิดีโอที่มือมีดถูกชายทั้งหกคนรุมตี และอีกหลายคลิป ทั้งจากโทรศัพท์มือถือและกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุ
จากข้อเท็จจริง การวิ่งออกจากบ้านไป เพื่อต่อสู้กับอีกฝ่าย กรณีนี้ถือได้ว่า เป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาท หากจะอ้างป้องกันตัว น่าจะฟังไม่ขึ้น แต่ถ้าจะอ้างเรื่องบันดาลโทสะ ก็น่าจะเป็นไปได้ครับ เนื่องจากกลุ่มวัยรุ่นทั้งหกคน ตะโกนด่า ท้าทาย โยนสิ่งของเข้าบ้าน และยังถูกโดนรุมตี 6 ต่อ 1 ผู้ที่ถูกกระทำเช่นนั้น ก็ย่อมต้องโกรธเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ
...
ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 72 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

การที่จะอ้างป้องกันตัวได้ ผู้กระทำความผิดจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือเป็นฝ่ายเริ่มก่อน หรือสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาท
เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกา 474/2516 จำเลยโกรธผู้เสียหาย ถือปืนไปท้ายิงผู้เสียหายที่เรือนผู้เสียหาย ผู้เสียหายเดินถือเสียมลงจากเรือนมาหาจำเลยในลักษณะที่จะต่อสู้กับจำเลย ต่อจากนั้นจำเลยได้ใช้ปืนยิงผู้เสียหายเช่นนี้ เป็นเรื่องสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้
มีคำพิพากษาตัวอย่างให้ศึกษาครับ คดีนี้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยไปด่าแม่จำเลย ด้วยถ้อยคำรุนแรงและพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กัน ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะ
เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5232/2556
เมื่อโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยด่าว่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำรุนแรงและพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกโจทก์ร่วมข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด และไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ม. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการกับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และ มาตรา 44/1
สุดท้ายอยู่ที่ดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนมาพิจารณาพิพากษาว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ หากเป็นความผิดจริง ศาลจะลงโทษสถานใด แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้ จะได้รับความเมตตาจากศาล ด้วยการลงโทษสถานเบาครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk