หากที่ผ่านมาคุณคิดว่าวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ล้าหลังหรือก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก คุณกำลังผิดถนัด! ภายใต้การเปลี่ยนผ่านของโลกรอบด้าน วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ไม่เคยหยุดนิ่ง หากแต่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพมากมาย ต่อยอดองค์ความรู้ออกมาใช้ขับเคลื่อนสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยจึงเป็นแรงหนุนที่สำคัญหนึ่งในการเติบโตของประเทศ แต่คำถามคือ เรากำลังอยู่จุดไหน มีเรื่องใหม่เรื่องใดเกิดขึ้น และมีอะไรอีกบ้างเป็นส่วนหนึ่งในการปูทางสู่อนาคตของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย

ทิศทางของประเทศ

ต่อคำถามที่ว่า วันนี้วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอยู่ในระดับใด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คำตอบอาจจะไม่ได้ชัดเจนนัก แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจหนึ่ง ซึ่ง ศ.ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวไว้ในวันเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564 ว่า จากข้อมูลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำวิจัยเทียบเท่าเต็มเวลา (Full-time equivalent: FTE) เพียง 20 คนต่อจำนวนประชากร 10,000 คน คิดเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ค่อนข้างน้อย เพียง 1.11% เท่านั้น ทั้งที่การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอันสอดรับกับทิศทางระดับนานาชาติ จำเป็นต้องอาศัยความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อการสร้างศักยภาพให้กับประเทศ

หากสังเกตประเทศที่มีความก้าวหน้าสูง ส่วนใหญ่มักขับเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากภายในประเทศ นั่นแปลว่าหากประเทศใดก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีผลอย่างมากต่อการก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงขึ้น โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปต่อยอดและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความเป็นอยู่ของผู้คนในด้านต่างๆ ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของผลลัพธ์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านั้น คือการสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในระดับสากล ที่รอบรู้และมีความเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม ศ.ดร. จำรัส แสดงทรรศนะว่าหนทางหนึ่งของประเทศจึงควรเป็นการสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยชั้นแนวหน้า โดยผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และเมื่อนั้นประเทศไทยจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยี มาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกับหลายประเทศชั้นนำในเอเชีย ซึ่งการเติบโตของประเทศที่ความเข้มแข็งและยั่งยืน เกิดขึ้นโดยมีวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม เป็นแรงหนุนสำคัญ

VISTEC สนับสนุนวิทย์ฯ ไทย เต็มกำลัง

สำหรับคนในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ชื่อของ สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในวันที่เราถามหาแรงหนุนสำคัญเพื่อพาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชื่อนี้ก็ปรากฏชัดขึ้น VISTEC หรือ สถาบันวิทยสิริเมธี คือ สถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีบทบาทอย่างมากในการสร้างและต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดย VISTEC ก่อตั้งและสนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. ต่อมาได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทเอกชนชั้นนำต่างๆ ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

เรื่องที่น่าสนใจหนึ่งจากการถือกำเนิดขึ้นของ VISTEC คือวิสัยทัศน์เพื่อการก้าวเดิน ที่มุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานวิจัยเชิงลึกและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากลได้ ในขณะเดียวกัน ด้วยความเข้าใจในบริบทของประเทศ ประกอบกับความต้องการทางภาคอุตสาหกรรมของไทย ก็นำไปสู่การส่งเสริมหัวข้องานวิจัยที่มุ่งเน้นการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curve ทางด้าน Digital, Robotics และ Bio-Industry อีกด้วย

หากได้ติดตามข่าวสารมาอย่างต่อเนื่องจะทราบว่า การผนึกกำลังกันของภาคเอกชนในลักษณะนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างและบ่มเพาะนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อให้ตอบโจทย์รอบด้านมากขึ้นอีกด้วย VISTEC หรือ สถาบันวิทยสิริเมธี วางตัวเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะนวัตกรรมที่สอดคล้องกับประเทศด้วย โดยตั้งอยู่ วังจันทร์ วัลเลย์ (Wangchan Valley) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ที่กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายบนพื้นที่นี้ คือ ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) และศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOPOLIS) เรียกว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ส่งเสริมและเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างมากด้วย

ก้าวของนักวิทย์ฯ ไทย

อนาคตของประเทศไทยกับการมีสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามอง VISTEC น่าจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญได้ โดยเฉพาะในวันที่ทั้งโลกกำลังแข่งขันกันด้วยงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมา ในการที่เป็นสถาบันการศึกษา เพื่อการบ่มเพาะและ ‘สร้างคน’ VISTEC ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเดินไปข้างหน้าด้วยความแน่วแน่ โดยหลายงานวิจัยที่กำเนิดจากสถาบันฯ ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งได้ถึงความมุ่งมั่นต่อเจตนารมณ์ด้วย ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ก้าวเดินมาถึงจุดใดแล้วบ้างในวันนี้

ล่าสุดกับการคิดค้น ‘เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน’ โดย ศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์ นักวิจัยวัสดุนาโน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564 ก็เป็นอีกย่างก้าวสำคัญที่จะได้เห็นบทบาทจากการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ว่าเข้าไปส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศได้อย่างไรบ้าง ซึ่ง ศ.ดร. วินิช ในฐานะนักวิจัยวัสดุนาโน กล่าวว่างานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการด้านเคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้าด้วยกัน โดยสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการพัฒนาวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์ประสิทธิภาพสูงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบ สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์และใช้งานได้จริงในอนาคต เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามอง

การถือกำเนิดขึ้นของสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่น่าเฝ้าจับตามองอย่างมากในอนาคต หากย่างก้าวนี้แข็งแรงขึ้น เราจะมีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศอีกมาก ผ่านแรงหนุนของงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี แต่ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง วันนี้การก้าวเดินไปข้างหน้าของนักวิทยาศาสตร์ไทยในหลายด้าน ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าเราจะอยู่จุดไหนบนโลกใบนี้.