- ผลการศึกษาชี้ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" อาจช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจาก "โควิด-19" ได้
- ความแตกต่างระหว่าง "โควิด-19" และ "ไข้หวัดใหญ่"
- ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อไร หากฉีดพร้อมกัน จะมีผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ซ้ำช่วงนี้ ประเทศไทยต้องเจอกับพายุฝนกระหน่ำ ยิ่งสร้างความกังวลให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มักพบการระบาดของ "ไข้หวัดใหญ่" ที่แพร่กระจายสู่คนทั่วไปได้เช่นเดียวกับโรคโควิด-19 และหากติดเชื้อร่วมกัน อาจทำให้มีอาการรุนแรง และเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตมากขึ้น
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่าในทุกๆ ปี จะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 500-1,000 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลก ประมาณ 3-5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 290,000-650,000 คนต่อปี ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

...
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เผยว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคไม่รุนแรง จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง ดังนี้
1. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
2. หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
3. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
4. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, ไตวาย, ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
5. โรคอ้วน
6. ผู้พิการทางสมอง
7. โรคธาลัสซีเมียและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
นอกจากนี้ ยังพบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดการป่วย ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่ลง รวมไปถึงลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและการเข้ารับการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินได้
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พยายามฉีดปูพรมวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากยิ่งขึ้น เพื่อตัดศัตรูออกไปด้านหนึ่ง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ววัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19 แต่เชื่อว่าน่าจะมีการกระตุ้นทางอ้อมของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ได้ช่วยรักษาบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นทรัพยากรสำคัญในภาวะวิกฤติ อย่างน้อยก็ช่วยลดภาระจากการป่วยไข้หวัดใหญ่ลง เพื่อจะได้รับมือกับโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง รวมทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ลดความสับสน และความวิตกกังวลจากอาการที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงยังลดการเกิดโรคร่วมกันจากทั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

"วัคซีนไข้หวัดใหญ่" ยังจำเป็นในช่วง "โควิด-19" ระบาด
ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เผยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีอัตราการเกิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลงทั่วโลก อาจเกิดจากการใส่หน้ากากอนามัย การกักตัวอยู่บ้าน และการสร้างระยะห่างทางสังคม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มักมีคำถามว่ายังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกหรือไม่ คำตอบคือ มีความจำเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาต่างๆ มากมายที่บ่งชี้ว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด และหากกรณีที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และมีอาการก็จะต้องไปตรวจรักษาเหมือนผู้ป่วยโควิด เพราะอาการที่แสดงเบื้องต้นจะไม่แตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้น ทั้งการติดเชื้อโควิดและเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดเชื้อร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้มีการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น นอนโรงพยาบาลนานมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น

...
ความแตกต่างระหว่าง "โควิด-19" และ "ไข้หวัดใหญ่"
สำหรับความแตกต่างของ "โควิด-19" กับ "ไข้หวัดใหญ่" คือ คนไข้จะมีอาการ มีไข้ ไอ คัดจมูก เจ็บคอ คล้ายคลึงกัน แต่ถ้ามีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงโควิด-19 หากผู้ป่วยมีไข้สูงตั้งแต่วันแรก หรือว่าปวดเนื้อ ปวดตัว อาจจะมีแนวโน้มไปทางไข้หวัดใหญ่มากกว่า
ส่วนระยะฟักตัวของไข้หวัดใหญ่ จะสั้นกว่าโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงผู้ป่วยรับเชื้อจนถึงแสดงอาการ ในกรณีไข้หวัดใหญ่จะแสดงอาการตั้งแต่ 2-3 วันแรก ส่วนโควิดแสดงอาการในช่วง 5-6 วันหลังรับเชื้อ โดยอาการของกลุ่มคนไข้ที่มีอาการรุนแรงหนักในโรคไข้หวัดใหญ่ จะพบลักษณะอาการทางเดินหายใจเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นโควิดจะส่งผลในหลายระบบของร่างกาย เพราะว่าเชื้อนี้ถ้ามีอาการรุนแรงจะทำลายเส้นเลือดของเราให้เกิดการอักเสบ และเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้ เพราะฉะนั้นคนไข้บางคนอาจจะมีอาการหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นต้น

ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อไร
ในปัจจุบัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ได้แนะนำระยะเวลาของการฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนอื่นๆ ในวันเวลาเดียวกันได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด ควรห่างจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ เป็นเวลา 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีนทั้งสองที่อาจจะซ้อนกันได้
...
ขณะที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 3 สายพันธุ์ สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งเพิ่มเติมบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัดและโรงเรียนในทุกช่วงอายุโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งนับเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดี ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ที่มีการระบาดภายในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แพทย์ขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ดีขึ้น ที่สำคัญจากการศึกษาวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความรุนแรงของโควิด และอัตราการเสียชีวิตจากโควิดได้อีกด้วย

สุดท้าย เชื่อว่าอนาคตนับจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 ก็คงจะยังอยู่คู่กับประชากรโลกไปอีกนาน หรือไม่อาจมีสายพันธุ์กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เพราะชัดเจนว่า "โลก" มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ซึ่งจะมีผลต่อเชื้อโรคใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือ วัคซีนโควิด ในช่วงนี้ถือว่ามีความคุ้มค่าและประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน และยิ่งการได้รับวัคซีน 2 อย่าง เปรียบเสมือนการมีเสื้อเกราะ 2 ตัว ทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน.
...
ผู้เขียน : กนกวรรณ นุตตโยธิน
กราฟิก : Chonticha Pinijrob