“วัคซีนโควิดตัวไหน...ปลอดภัย สำหรับเด็ก?” เป็นอีกคำถามสำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆคนในวันนี้ หนึ่งในมุมมองของแพทย์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นมุมมองจากทั้งของหมอและผู้ปกครองสะท้อนมุมคิดไว้ว่า
“...มีหลายคนถามความเห็นผมเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ว่าตกลงจะเอาอย่างไรดี ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโดยตรง...แต่เป็นแพทย์โรคหัวใจเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงวัคซีนบางชนิด”
ผมลังเลที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้มาตลอด เพราะเห็นว่ามันไม่ง่ายเลย เกรงว่าจะชี้นำไม่ถูกต้อง (ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มั่นใจขนาดทุบโต๊ะบอก)...จนวันนี้ ผมต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกอย่างไรดีกับลูกสาวผมเอง
ผมจึงขออธิบายความคิดของผม เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆที่มีลูก และกำลังตัดสินใจว่าควรฉีดหรือไม่ ถ้าฉีดควรฉีดตัวไหน (ถ้าเลือกได้)
“การชั่ง risk benefit ของวัคซีนในเด็ก ไม่ง่ายนัก...ข้อมูล เปรียบวัคซีนแต่ละตัว ก็มีจำกัด คงต้องพิจารณาข้อมูลเท่าที่มีให้ดี”
หนึ่ง...แน่นอน ผลข้างเคียงที่เรากังวลที่สุด สำหรับ mRNA vaccine คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ myocarditis
...
รายละเอียดคือ...ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่ 95% อาการไม่มาก หรือไม่มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตพบน้อยมากๆ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ทราบผลกระทบระยะยาวจนถึงผู้ใหญ่ จะมีกี่รายที่จะมีการดำเนินโรคต่อเป็นโรคหัวใจ dilated cardiomyopathy หรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะข้อมูลเพิ่งมี
แต่โดยส่วนตัวมองว่าโอกาสเช่นนั้นมีน้อย เพราะกลไกหลักเป็นจากปฏิกิริยาของภูมิต้านทาน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สาเหตุเหล่านี้จะมีผลเพียงระยะสั้น ต่างจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสโดยตรง
ประเด็นต่อมา...อุบัติการณ์สูงขึ้นในเด็กผู้ชาย อายุน้อย อาจถึง 40 ราย ต่อล้านโดส เด็กผู้หญิงความเสี่ยงน้อยกว่านี้ ราว 10 เท่า
Moderna พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบบ่อยกว่า Pfizer (ข้อมูลจากแคนาดาต่างกัน 7 เท่า)
สอง...อัตราการป่วยหนัก เสียชีวิตของเด็กกลุ่มที่เราสนใจ ในประชากรเราเท่าใด
หากเราดูข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาอัตราป่วยหนัก จนต้องนอน ICU ของเด็กวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโควิด จะอยู่ที่ราว 150–200 คน ต่อ ประชากรล้านคน...ข้อมูลนี้ต้องใช้ของประเทศเราเอง และขึ้นกับสถานการณ์ระบาดในแต่ละช่วงเวลา แต่ละพื้นที่
จะหยิบยืมมาจากอเมริกาตรงๆไม่ได้...ปัญหาคือ ผมยังไม่เห็นข้อมูลนี้ของไทยเลยว่า อัตราป่วยหนักต่อประชากรในวัยรุ่นเราเป็นเท่าใด
“หากข้อสองมากกว่าข้อหนึ่งเยอะๆก็ดูจะคุ้ม หากใกล้เคียงกัน อาจต้องพิจารณาวัคซีนที่ความปลอดภัยสูงกว่า แต่ประสิทธิภาพต่ำกว่า อย่างวัคซีนเชื้อตายหรือไม่ ซึ่งข้อมูลในเด็กก็มีจำกัด แต่คาดว่าผลข้างเคียงและประสิทธิภาพต่ำกว่า เหมือนในผู้ใหญ่”
อย่างไรก็ตามส่วนตัวแล้วผมมองไปถึงสถานการณ์ในอนาคตซึ่งเชื่อว่า...การระบาดของโรคนี้จะยังดำเนินต่อไปจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ดังนั้น ผมจึงมองว่า โอกาสที่ลูกจะสัมผัสเชื้อนี้มีมากในอนาคต...ความเสี่ยงในข้อสองจึงจะสูงกว่าข้อแรกมากๆ ผมและภรรยาจึงตัดสินใจ ให้ลูกผู้หญิงอายุ 13 ปี รับ mRNA vaccine โดยถามความสมัครใจของเขาด้วยเพราะเขาเองก็ติดตามข้อมูลข่าวสาร สามารถมีส่วนร่วมใน informed decision นี้ได้
นี่คือวิธีคิดของผม ที่ผมคิดว่าเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับลูกและสังคมโดยรวม ในฐานะพ่อ และหมอโรคหัวใจครับ ผู้ปกครองแต่ละท่าน คงต้องชั่งน้ำหนักข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กันครับ
...
ทั้งหมดข้างต้นนี้มาจากมุมมองของคุณพ่อคุณหมอ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์แพทย์โรคหัวใจคนดังและนักอนุรักษ์รางวัลลูกโลกสีเขียว เปิดเผยไว้ในเฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit” เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา
วันที่ 23 กันยายน 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” เรื่องวัคซีนในเด็กนั้น มีคนถามกันมามาก คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงสำหรับแต่ละบุคคล
รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า วัคซีนที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้กันนั้นคือ mRNA vaccine เพราะมีข้อมูลพิสูจน์เรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วย ป่วยรุนแรง ลดโอกาสเสียชีวิต และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
ซึ่ง “ความเสี่ยง” ที่มีคือเรื่อง “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” หรือ “เยื่อบุหัวใจอักเสบ”
หากดูตัวเลข โอกาสเกิดนั้นไม่มาก มักมีโอกาสเกิดในเพศชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่มักได้รับการดูแลรักษาให้หายดีได้ แต่มีรายงานเสียชีวิตเช่นกันแต่จำนวนน้อย
...
ส่วนวัคซีนเชื้อตาย เช่น Sinopharm ไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับภาวะดังกล่าว ในภาพรวมค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย แต่ประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะน้อยกว่า mRNA vaccine
บางประเทศมีการฉีด Sinopharm ให้ประชากร แล้วกระตุ้นด้วย mRNA vaccine เช่น ยูเออี แม้ปัจจุบันยังไม่เห็นรายงานวิชาการที่เผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารสากล แต่ภาพรวมการระบาดของยูเออีนั้นก็ดูจะสามารถควบคุมการระบาดได้ดี
เพราะ “ติดเชื้อใหม่” วันละ 300 กว่าคน “เสียชีวิตเพิ่ม” วันละ 2 คน ทั้งๆ ที่มีประชากรราว 10 ล้านคน ซึ่งหากเทียบสัดส่วนการติดเชื้อใหม่ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดของเค้า ก็ถือว่าน้อยกว่าไทย 7 เท่าเลยทีเดียว ในขณะที่สัดส่วนคนเสียชีวิตเพิ่มต่อประชากรทั้งหมด ก็น้อยกว่าไทย 9 เท่า
อย่างไรก็ตาม การเลือก “วัคซีนในเด็ก” ก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ทำความเข้าใจให้ละเอียด ถามไถ่บุคลากรทางการแพทย์ให้กระจ่าง และตัดสินใจเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลูกหลาน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า ทางเลือกสำหรับประเทศไทยในเด็กตั้งแต่อายุสามขวบขึ้นไป เพื่อความปลอดภัยสูงสุดจากหัวใจอักเสบ อาจจะเป็นวัคซีนเชื้อตายสองเข็มแต่เนื่องจากไม่สามารถคุมเดลตาได้ จึงตามด้วย “ไฟเซอร์” หรือ “โมเดอร์นา” ในปริมาณน้อยที่สุดคือ...หนึ่งส่วนสี่โดส เข้ากล้าม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผล
...
หรือ...จะใช้ขนาดหนึ่งใน 5 หรือ...หนึ่งใน 10 ทางชั้นผิวหนังก็ได้ผลเช่นกันและปลอดภัยกว่า (เป็นการศึกษาในผู้ใหญ่ในประเทศไทย) ประเด็นสำคัญมีว่า...การฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น ได้ผลเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ประหยัดวัคซีนได้อย่างน้อยห้าเท่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า...เป็นทางออกในเด็กและผู้ใหญ่ทุกอายุ
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมเหตุผลที่สำคัญที่สุด ทำไม?ต้องปกป้อง “เด็ก” จาก “โควิด”...ไม่ให้ติดเชื้อ แม้อาการติดเชื้อน้อยนิด เพราะผลระยะยาวนั้นใหญ่หลวงนัก.