นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปลายปี 2564 จะมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP 26 ที่สหราชอาณาจักร เมืองกลาสโกว์ ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญระดับโลกที่หลายประเทศทั่วโลกต่างออกมาประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในศตวรรษนี้ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องมีบทบาทนำในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมแสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส
ปลัด ทส.กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ในปี 2558 มาจากแหล่งกำเนิด 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ร้อยละ 71.65 ภาคเกษตร ร้อยละ 14.72 ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม ร้อยละ 8.90 และภาคของเสีย ร้อยละ 4.73 โดยภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้สามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ 91 ล้านตันคาร์บอนฯ ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 263 ล้านตันคาร์บอนฯ หรือน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ดังนั้น ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่ประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต คือ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
นายจตุพรกล่าวอีกว่า ทส.จึงส่งเสริมมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชน ปลูกไม้ยืนต้นให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจาก 90 เป็น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2579 และถ้าหากสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวได้ตามเป้าหมาย คือ เพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ ได้เป็นร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ เป็นร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท เป็นร้อยละ 5 จะสามารถเพิ่มปริมาณการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 178.04 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้เป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ที่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น การดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ จึงเป็นอีกมาตรการเสริมที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศไทย ที่มุ่งดำเนินการตามความตกลงปารีส.
...