จากการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “(ร่าง) พ.ร.บ.พืชกระท่อมกับสังคมไทย ทำอย่างไรถึงจะปกป้องเด็กและเยาวชน” รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ จากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด กล่าวว่า กระท่อมถือเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาแต่ยังต้องค้นคว้าวิจัยเรื่องข้อบ่งใช้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ต้องเฝ้าระวังเรื่องการใช้ในทางที่ผิดด้วย เพราะมีสารที่ออกฤทธิ์ทำให้เสพติดได้คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) ออกฤทธิ์เหมือนฝิ่น รวมถึงมีสาร 7-hydroxymitragynine ที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างแรงกว่า หากเปิดเสรีเกินไป จึงน่ากังวลว่าในอนาคตหากใช้ในความเข้มข้นสูง หรืออาจจะมีคนพัฒนาสารให้ออกฤทธิ์แรง กรณีน้ำต้มใบกระท่อมจะมีความเข้มข้นของไมทราไจนีนสูง เพราะมักใช้ใบจำนวนมาก ทำให้สกัดสารออกมาได้มาก จึงมีฤทธิ์กดประสาทได้พอสมควร ในกฎหมายจึงห้ามใช้ โดยเฉพาะนำไปผสมยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากเกิดการเสพติดแล้วจะเหมือนติดฝิ่น เฮโรอีน สารเสพติดไม่ว่าชนิดไหนหากปล่อยให้ติดแล้วล้วนเลิกยาก ที่สำคัญพฤติกรรมการดื่มน้ำกระท่อม มักใช้แก้ว ภาชนะ หรือหลอดเดียวกันวนกันดื่ม เสี่ยงมากในการติดโควิด-19
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มสาระของกฎหมายให้คุ้มครองเด็กเยาวชนในการเข้าถึงพืชกระท่อมด้วย ทั้งแง่การจำกัดอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายที่ไม่พุ่งเป้ามาที่เด็กและเยาวชน ต้องไม่ให้ดำเนินการได้อย่างเสรี เพราะกระท่อมยังมีสารที่ทำให้เกิดการเสพติด เป็นอันตราย นอกจากนี้ ควรเปิดช่องให้สามารถออกอนุบัญญัติ เพื่อควบคุมการขาย การบริโภคที่จะส่งผลต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนในอนาคตได้ด้วย เร็วๆนี้เครือข่ายเยาวชนฯจะไปยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.พืชกระท่อมที่วุฒิสภา.
...