“จุรินทร์” โชว์ตัวเลขส่งออกรอบใหม่!!! กรกฎา +20.27% ส่งผล 7 เดือนแรกเกินเป้ากว่า 4 เท่าตัว เผยยางขยายตัวสูงสุด +121%
วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เวลา 9.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขที่เป็นทางการของการส่งออกเดือนกรกฎาคมยังขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักโดยเป็น +20.27% ถ้าไม่รวมยุทธปัจจัยทองคำ และน้ำมัน จะเป็น +25.38% โดยมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 708,651.66 ล้านบาท ตัวเลขการส่งออกรวม 7 เดือน +16.20% มูลค่า 4,726,197.35 ล้านบาท ในภาพรวมมีการขยายตัวต่อเนื่องทั้ง 3 ส่วนทั้ง 1.สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2.สินค้าอุตสาหกรรม และ 3.ตลาดสำคัญของไทย ทั้ง 3 ส่วนยังขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในภาพรวมเป็น +8 เดือนต่อเนื่อง เดือนกรกฎาคม +24.3% สำหรับสินค้าที่ขยายตัวเป็นอย่างดีประกอบด้วย 1.ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 80.2% ถือว่าเป็นการขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่องและยังขยายตัวดีในตลาดสำคัญเกือบทุกตลาด เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ เป็น +37.1%
2.ยางพาราเดือนกรกฎาคม ขยายตัว 121.2% เป็นการขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง 3.ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็น +62% ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องในตลาดสำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนขยายตัว 48.1% 4.อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 23 เดือน ต่อเนื่องเดือนกรกฎาคม +17.3% 5.ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ กรกฎาคม +51.7% ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง 6.ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง กรกฎาคม +8.4%
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวในภาพรวม 5 เดือนต่อเนื่อง กรกฎาคม +18% ทำรายได้เป็นมูลค่า 561,879.61 ล้านบาท โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี 1.รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ กรกฎาคม +39.2% คิดเป็นมูลค่า 70,773.38 ล้านบาท ถือว่าขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง 2.ผลิตภัณฑ์ยางพาราขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่องเฉพาะกรกฎาคม +16% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกถึง 37,335 ล้านบาท 3.สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเช่น เม็ดพลาสติก ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ +59% บวก 6 เดือนต่อเนื่อง 4.อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนกรกฎาคม +43.8% ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง 5.คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เดือนกรกฎาคม +19.3% ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง และ 6.เหล็ก เดือนกรกฎาคมขยายตัว 59.4% ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง
ตลาดที่สำคัญขยายตัวดีเกือบทุกตลาดสำคัญ ยกเว้นตลาดเดียวคือตลาดออสเตรเลียเพราะตัวเลขติดลบบ้าง เช่น อัญมณี เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า แต่บางตัวยังขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์ +24.8% ยางพารา +26.8% ตลาดสำคัญที่สุดและตัวดีประกอบด้วย 1.สหรัฐฯ +22.2% บวก 14 เดือนต่อเนื่อง 2.จีน +41% บวก 8 เดือนต่อเนื่อง 3.ญี่ปุ่น +23.3% บวก 9 เดือนต่อเนื่อง 4.ตลาดอาเซียน +26.9 บวก 3 เดือนต่อเนื่อง 5.ยุโรป +20.9 บวก 6 เดือนต่อเนื่อง 6.อินเดียขยายตัวดีมากและเป็นอนาคตสำหรับตลาดส่งออกของไทย +75.3% บวก 6 เดือนต่อเนื่อง และตลาดใหม่ก็บวกเช่นตลาดลาตินอเมริกา +93.5% และสุดท้ายคือตลาดรัฐเซียและ CIS +53% บวก 4 เดือนต่อเนื่องเป็นตลาดใหม่ที่มีอนาคตของไทยเราแสดงให้เห็นว่าเราจะทำตัวเลขที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
"ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ตัวเลขกรกฎาคมเรายังสามารถรับษาตัวเลขเป็นบวกได้อยู่เพราะ 1.แผนการทำงานของ กรอ.พาณิชย์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนจับมือร่วมกันเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 2.การฟื้นตัวของคู่ค้าสำคัญเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมทั้งจีนยังฟื้นตัวได้ดี 3.ตัวเลข PMI หรือ Global Manufacturing ซึ่งเรียกว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก มีตัวเลขที่เกินกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ตัวเลขเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 55.4 ทำให้โอกาสการซื้อขายกับสินค้ากับหลายประเทศในโลกเพิ่มขึ้น 4.เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงทำให้เราสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก และ 5.สุดท้ายราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูง เมื่อน้ำมันดิบราคาสูงทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องเช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ส่งออกได้ราคาดีขึ้นด้วยทำให้ตัวเลขเป็นบวกขึ้น
สำหรับการระบาดของโควิดอาจจะมีผลกระทบได้โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมกับกันยายนเป็นต้นไป และปลายกรกฎาคม เพราะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ล็อกดาวน์อาจมีผลต่อภาคการผลิตซึ่งเราเริ่มเห็นแล้ว เช่น ผลไม้หรือโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออกบางแห่งต้องปิดตัวลง ทำให้ไม่สามารถผลิตได้โดยต่อเนื่องอาจมีผลกระทบสำหรับการส่งออก รวมทั้งสถานการณ์โควิดในประเทศเพื่อนบ้านและบางประเทศที่เราต้องส่งออกเริ่มมีการติดขัดในช่วงการข้ามแดน เช่น ด่านไทยไปลาวไปเวียดนามและไปจีนมีปัญหาบางช่วงบางเวลาต้องไปแก้ปัญหาหน้างานหลายครั้ง รวมทั้งการส่งออกผลไม้และสินค้าบางประเภท หรือแม้แต่มาเลเซียเพื่อนบ้านติดโควิดและยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเคร่งครัดในการแก้ปัญหา ส่งผลกระทบต่อตัวเลขส่งออก น้ำยางดิบจากไทยไปมาเลเซียทำให้ราคายางประเทศไทยกระทบ เฉพาะราคาน้ำยางดิบแต่ยางก้อนถ้วยราคายังดีมากดีกว่ารายได้ที่ประกัน ส่งผลกระทบต่อตัวเลขส่งออกเพราะเราส่งออกน้ำยางไปมาเลเซียเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเราในขณะนี้ จะดูต่อไปว่ากระทบมากน้อยแค่ไหน ต้องเร่งแก้ปัญหาอย่าให้ภาคการผลิตติดขัด ในเรื่องการแก้ไขอุปสรรคส่งออกตนและ กรอ.พาณิชย์ จะแก้ไขปัญหาหน้างานต่อไปให้ดีที่สุดที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดีมากภาคเอกชนตื่นตัวมาก เราตอบสนองและเดินหน้า
สำหรับครึ่งปีหลังแผนการกำหนดไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นปีต้องปรับตัวนิดหน่อยเพราะสถานการณ์ล็อกดาวน์ในประเทศ และโควิดหลายประเทศที่เป็นคู่ค้ามีปัญหา แต่ทุกอย่างมีความชัดเจนแผน 6 เดือนหลังไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรมทั้งการส่งเสริมการส่งออกในประเทศและต่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรมโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเป็นแม่งานใหญ่เดินหน้าขับเคลื่อนทั้งตลาดเดิมตลาดใหม่ที่ตัวเลขดีขึ้น เป้าการส่งออกปีนี้คือ +4% แต่ตอนนี้ +16.2% ถือว่าเราทำได้เกินเป้า ทางกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนจับมือกันเดินหน้าอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราทำให้ดีที่สุด ตัวเลขเป้าเป็นแค่ตัวเลขไม่ต้องกังวลเรื่องนี้" นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตู้คอนเทนเนอร์ในเชิงปริมาณตัวเลขเข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว ตัวเลขตู้นำเข้ายังสูงกว่าตัวเลขตู้ที่เราส่งออกอยู่ประมาณ 120,000 บีทียู แต่บางช่วงอาจขาดแคลนบ้างเพราะการเข้าออกไม่สมดุลกัน บางช่วงเข้ามากออกน้อย บางช่วงต้องการตู้มากแต่เข้าน้อย ปัญหาใหญ่คือค่าระวางเรือที่แพงมาก แต่แพงทั้งโลกและสินค้าบางตัวได้รับผลกระทบ เช่น ข้าว เพราะบางช่วงค่าระวางเรือแพงกว่าค่าข้าวในตู้ ทำให้ราคาข้าวของเราในตลาดโลกมีความรู้สึกว่าแพงสู้คู่แข่งบางประเทศไม่ได้ วันนี้เริ่มดีขึ้นด้วยเหตุ 2 ปัจจัย ปัจจัยที่ 1 แม้ค่าระวางเรือยังไม่ถูกลงแต่เราจะรวมกลุ่มกันเช่น เอสเอ็มอีต่างๆ รวมตัวกันเช่าเรือหรือเช่าพื้นที่เรือด้วยกันจะลดต้นทุน หรือตนกำลังขอให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศจับมือรวบรวมความต้องการใช้พื้นที่เรือและเช่าเหมาลำเรือ และปัจจัย 2 เงินบาทอ่อนค่าลงทำให้เราสามารถแข่งขันได้ จึงคาดว่าน่าจะดีขึ้น
สำหรับรายละอียดเพิ่มเติม นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่างๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 25.8 ขยายตัวทุกตลาด ประกอบด้วย สหรัฐฯ ร้อยละ 22.3 จีน ร้อยละ 41.0 ญี่ปุ่น ร้อยละ 23.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 20.9 อาเซียน (5) ร้อยละ 26.9 CLMV ร้อยละ 16.1 2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 27.6 ขยายตัวเกือบทุกกลุ่มตลาด ได้แก่ เอเชียใต้ ร้อยละ 73.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 12.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 17.9 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 93.5 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 53.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลียหดตัวร้อยละ 6.8 และ 3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 76.7
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 22.3 (ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 21.2
ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 41.0 (ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ ยางพารา และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 27.2
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 23.3 (ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ทองแดง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 14.0
ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 26.9 (ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 8.6
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 16.1 (ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และทองแดงฯ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 17.9
ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 20.9 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 25.8
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 73.8 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 54.2
ตลาดอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 75.3 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 57.4
ตลาดทวีปออสเตรเลีย (25) หดตัวร้อยละ 6.8 (กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป) อากาศยาน และเครื่องซักผ้า เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 22.6
ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 12.4 (ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์ ยางพารา ข้าว และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 15.9
ตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 17.9 (ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 22.6
ตลาดลาตินอเมริกา (47) ขยายตัวร้อยละ 93.5 (ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาป เครื่องจักรกล และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 46.5
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 53.0 (ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ยางพารา เครื่องปรับอากาศ และผลไม้กระป๋องและแรรูป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 20.0