- แนวโน้มการระบาดของโควิด-19 หลังวัคซีนไฟเซอร์มาถึงไทย
- ภูมิคุ้มกันหมู่ใช้ได้จริงไหม เทียบการระบาดโควิดในบราซิล เหตุการณ์สงบเพียงไม่กี่เดือน
- วัคซีนไม่เพียงพอ หวั่นเกิดเชื้อกลายพันธุ์ กับการคาดการณ์โควิดจะจบลงที่ตรงไหน
จากวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย จนมีผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 2 หมื่นราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งเกิน 200 ศพต่อวัน หลายคนได้ฝากความหวังไว้ที่วัคซีนชนิด mRNA อย่าง วัคซีนของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส และคาดว่าจะบริจาคเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนไฟเซอร์อีกจำนวน 20 ล้านโดสที่รัฐบาลได้สั่งซื้อไปก่อนหน้านี้ ยิ่งทำให้หลายคนหวังว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายมากขึ้น
จากการสอบถาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จำนวน "วัคซีนไฟซอร์" ที่ได้รับมายังไม่เพียงพอที่จะทำให้สถานการณ์เบาบางลงไปได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำในขณะนี้มี 2 เรื่องด้วยกัน คือ
...
1. หยุดการแพร่เชื้อ และหยุดการปล่อยเชื้อให้ได้มากที่สุด จากคนที่มีอาการและไม่มีอาการ
2. ลด หรือบรรเทาความวิกฤติของระบบสาธารณสุขในการตั้งรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรืออยู่ในอาการวิกฤติ ซึ่งขณะนี้การครองเตียงติดลบอยู่แล้ว
ดังนั้น เรื่องของวัคซีนจึงเป็นสิ่งที่ต้องการมากขณะนี้ ซึ่งเรียกว่า เป็นการบุกเร็ว เข้มข้น และต้องกระจายกว้างในระยะเวลา 3 เดือน เหตุผลที่พูดแบบนี้ หากเราดูตัวเลขที่ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 60% จริงๆ แล้วไม่พอแน่ๆ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อปีที่แล้ว ต้องควบคุมให้ได้กับประชากรเกือบทั้งประเทศ ซึ่งในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้วนั้นไม่สามารถครอบคลุมในกลุ่มเด็กเล็กจนถึงอายุ 15 ปีได้ เพราะในตอนนั้นข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนยังไม่มี แต่สามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเกือบทั้งประเทศได้
ขณะเดียวกันจะต้องประกอบไปด้วยการแยกตัว คัดกรองทุกคนเพื่อให้ผู้ติดเชื้อที่ยังเล็ดลอดเข้ารับการกักตัวในลักษณะที่ต้องรวดเร็วและครอบคลุม ยังมี 2 นัย ได้แก่
1. หยุดการแพร่เชื้อให้หมดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถครองตัวอยู่ได้
2. ป้องกันไม่ให้ประเทศเพาะบ่มสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ในประเทศจีนเองยังใช้วัคซีนเชื้อตาย ในปีนี้ 2564 พบว่าวัคซีนเชื้อตายที่ใช้ไปอาจจะมีประสิทธิภาพจำกัดในการครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ เช่น สายพันธุ์เดลตา ดังนั้นจีนจึงมีการพัฒนาใช้วัคซีนชนิดใหม่ เช่น วัคซีนคู่แฝดของไฟเซอร์ ซึ่งทำสัญญากับ BioNtect และจะทำการฉีดวัคซีนใหม่ทั้งประเทศ
อีกประการคือ จีนใช้วัคซีนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การใช้ซับยูนิตโปรตีนวัคซีน คือเป็นท่อนย่อยๆ หรือชิ้นส่วนย่อยๆ ของโปรตีนของไวรัส แต่ไม่ได้ใช้ระบบการผลิตเหมือนกับโนวาแวกซ์ของอเมริกา ใช้เป็นระบบการผลิตแบบการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งทางจีนไม่ได้มีปัญหาอะไรและยังคิดค้นพัฒนาวัคซีนอื่นๆ โดยวัคซีนที่จีนทำในปีนี้เพื่อครอบคลุมประชากรใหม่ กับสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ดี
โดยในปีนี้ ประเทศจีนได้ตัดสินใจใช้วัคซีนเชื้อตายกับเด็กเล็ก ไปจนถึงเด็กอายุ 14-15 ปี ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งทราบว่าจะมีความปลอดภัยสูงเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากนักก็ตาม แต่ยังสามารถผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการหนัก ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ประเทศจีนจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น
...
ย้อนกลับมาในประเทศไทย ปัญหาที่กำลังประสบในขณะนี้คือ จำนวนของวัคซีนที่เรามีทั้งหมดไม่ว่าจะมียี่ห้อใดก็ตาม มีปัญหาดังนี้
1. วัคซีนเชื้อตายยังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมประชากร 80-90% ของทั้งประเทศไทย
2. วัคซีนแอสตราเซเนกาก็ไม่เพียงพอ
3. จำนวนวัคซีนไฟเซอร์ ไม่ว่าจะได้มาจากบริจาค หรือสั่งซื้อมาก็ตามยังไม่เพียงพอ
เมื่อจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ การจะปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันให้ได้ภายใน 3 เดือน ไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้ออาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ ตอนนี้สิ่งที่เราทำอยู่คือการทำในลักษณะของภาวะตั้งรับ โดยให้วัคซีนแก่คนที่เปราะบางมากที่สุด และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่อยู่ด่านหน้า ซึ่งมี 2 แง่ด้วยกัน คือ ด่านหน้า และกลุ่มเปราะบาง วัคซีนที่ได้ไปแล้ว ส่วนมากเป็นวัคซีนเชื้อตาย และวัคซีนที่ไม่สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้
เมื่อระยะวลาผ่านไป หลังจากฉีด 2 เข็ม เข้าเดือนที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันการติดเชื้อ จะเริ่มลดน้อยถอยลง ดังนั้นคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางสาธารณสุขจึงมีโอกาสการติดเชื้อ แม้ว่าอาการจะไม่หนักมากก็ตาม แต่จะสามารถแพร่ไปให้คนป่วยที่ต้องดูแลรักษาตรงหน้าได้
...
ปัญหาดังกล่าวจึงมีการแก้ขัด หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาผสมควบรวม หรือเข็มที่ 3 แทรกเข้าไปกับวัคซีนเชื้อตาย เช่น หากในอนาคตมีวัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนโมเดอร์นาก็อาจนำมาฉีดร่วมกัน
เมื่อถามถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนวัคซีนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะสามารถประคับประคองสถานการณ์ไปได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เราไม่สามารถให้คำตอบได้เหมือนกันว่า จะประคับประคองสถานการณ์ต่อไปได้ดีขนาดไหน เพราะว่าในขณะนี้เชื้อโรคเองไม่ได้แพร่กระจายในลักษณะที่คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว เนื่องจากเกิดการแพร่ไปในชุมชนทั่วไป ไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ทำงานในสถานที่แออัด หรือในตลาดเพียงเท่านั้น แต่แพร่ไปที่ทำงานต่างๆ ตามบ้านเรือน รถโดยสารธารณะ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าทั่วไป หรือผู้ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน
เมื่อกลับบ้าน ก็จะนำเชื้อโรคนั้นๆ มาแพร่ต่อที่บ้าน ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างน่ากลัว เพราะเราไม่สามารถระบุได้ว่า ใครมีความเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย เพราะว่าทุกคนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อได้หมดเลย ซึ่งทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนมากกว่า 60% มากไปจนถึง 90% ของจำนวนคนไทยทุกพื้นที่ในประเทศเลยทีเดียว
...
ผมเคยให้ข้อมูล ช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนว่า จะมีการพยายามฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้วันละประมาณ 800,000 คน ฉีดครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ให้ได้ภายใน 3 เดือน และฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศภายในระยะเวลา 4-5 เดือน ซึ่งจากข้อมูลตรงนี้เอง ในปัจจุบันยังคงทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย ในขณะเดียวกันวัคซีนที่มีการใช้อยู่ตอนนี้ก็มีการกระจายไปให้ยังจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการ ตรงนี้เองเป็นปัญหาของจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ อาจจะเกิดความขลุกขลัก และไม่ทราบว่าส่วนไหนควรจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะกระจายวัคซีนไปให้ ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ทุกพื้นที่และทุกๆ คนมีความสำคัญเท่ากันหมด
ขณะนี้ คนป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตไม่ได้มีเพียงแค่ คนสูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว แต่ยังครอบคลุมไปหลายๆ ช่วงอายุ จะมีตั้งแต่คนอายุ 30-40 ขึ้นไป หรือกระทั่งในเด็กเล็ก ตรงนี้เองทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนมีความหมายมากๆ สำหรับทุกพื้นที่ และแทบจะทุกกลุ่มอายุด้วยซ้ำ และในเวลาอันรวดเร็วด้วย ไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาชีวิต ระงับ ลด การแพร่เชื้อแพร่ระบาดก็ตาม
ผู้ติดเชื้อทะลุ 2 หมื่นคนต่อวัน มาถึงจุดพีคของไทยแล้วหรือยัง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จำนวนตัวเลข 2 หมื่นนั้นจริงๆ แล้วเป็นตัวเลขที่น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง จากที่มีหลายๆ สถาบันวิเคราะห์เอาไว้ซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างจากความเป็นจริงที่ได้รับทราบมา หมายความว่า ในคนที่ติดเชื้อโควิด 100 คน จะมีอาการหนักถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 10-20% ดังนั้นที่เราเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน
ในส่วนนี้ ต้องย้อนกลับไปดูตัวเลขของคนที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล คนที่มีอาการหนัก จนถึงหนักขนาดต้องสอดท่อช่วยหายใจ เพราะฉะนั้นถ้าหากดูจำนวนอยู่ในเกณฑ์ผู้ป่วยสีเหลืองอ่อนแก่จนถึงแดงเกือบแสนคน เราจะไม่ได้นับเกณฑ์ผู้ป่วยสีเขียว ผู้ที่อยู่ใน Home isolation หรือ Hospitel ซึ่งเป็น รพ.สนามที่เป็นสีเขียว
แต่หากเราดูตัวเลขของผู้ป่วยที่ต้องยู่ในสถานพยาบาล ยกตัวอย่างว่า มีผู้ป่วยในสถานพยาบาล 1 แสนคน อาจจะต้องคูณด้วย 10 หรือคูณด้วย 5 และนับไปถึงคนที่ตกสำรวจ คนที่ป่วยที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการตรวจหาเชื้อว่าเป็นหรือไม่เป็นและไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ค่อนข้างมากพอสมควร
"เราที่เป็นหมอได้รับโทรศัพท์กันมาตลอด ในวันนี้ผมเองรับมา 7 สายแล้ว มีคนโทรมาถามว่า อาการแบบนี้จะต้องตรวจที่ไหน ตรวจอย่างไร ตรวจด้วย Rapid Test ไปแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ไปโรงพยาบาลก็ไม่ได้ หลายคนมีอาการเริ่มเป็นผู้ป่วยสีเหลืองจนเกือบเป็นสีแดง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่มีโรงพยาบาลไหนรับ"
สิ่งสำคัญอีกประกาศคือ โรงพยาบาลเอกชนในเวลานี้ ที่สอบถามจากคนรอบตัว ทราบว่าขณะนี้ไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดได้ เพราะกำลังของแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างๆ ไม่พอ จึงไปกระทบกับผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด อาจไม่ได้รับการรักษา ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตไปโดยที่เราช่วยไม่ได้
ดังนั้น ตัวเลขที่มากกว่านี้คงมีแน่ๆ คอขวดอยู่ที่เรื่องของวัคซีน นอกจากจำนวนของวัคซีนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ต่างๆ ที่กลายพันธุ์ไปและมีความสามารถในการหลบหลีกวัคซีนได้ หากเรายึดถือวัคซีนดั้งเดิมที่เรามีอยู่ ถ้าหากยังมีอยู่จะต้องรีบใช้รีบฉีด เพราะในวัคซีนรุ่นต่อไปๆ ต้องหาอะไรที่มีความเก่งในการสู้สายพันธุ์ใหม่ได้
นอกจากอัลฟา เดลตา เดลตาพลัส ต่อไปก็จะมีสายพันธุ์เอปซีลอน (epsilon) ที่ระบาดในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เนื่องจากไม่ค่อยมีความเข้มงวด จนมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ของแคลิฟอร์เนีย แพร่ไปหลายสิบประเทศ จนมาถึงแถบเอเชีย และคาดว่าอีกไม่นาน คงจะค่อยๆ ระบาด เข้ามาถึงประเทศไทย
ที่เรากลัวตอนนี้ ไม่ใช่แค่กลัวสายพันธุ์จากต่างประเทศเท่านั้น แต่หากเราควบคุมการระบาดในประเทศไม่ได้ ต่อไปสายพันธุ์ที่เรามีอยู่ในตอนนี้ จะค่อยๆ เริ่มปรับตัวเองขึ้นมา และในไวรัสเองจะคัดเลือกรูปแบบที่ทำให้เขาเก่งขึ้นเรื่อยๆ เช่น ติดเชื้อง่ายขึ้น เพิ่มจำนวนได้เร็วกว่าเดิม และทำอันตรายต่อมนุษย์ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันรูปแบบของการแพร่ที่เราไม่ชอบคือ แทนที่จะมาในรูปแบบของการแพร่ทางละอองฝอยจากการพูด จาม หัวเราะ จะค่อยๆ ลามไปถึงรูปแบบการแพร่เชื้อทางอากาศ
ถึงแม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แต่โอกาสที่จะเป็นไปได้นั้นมี เพราะตัวพี่ใหญ่ของโคโรนา เช่น ซาร์ส เป็นการแพร่ทางอากาศ ไม่ใช่แพร่ทางละอองฝอยเฉยๆ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องตระหนักว่า หากเราคุมไม่ได้รวดเร็วด้วยวัคซีน การคัดกรอง และการแยกตัว ต่อไปจะมีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยการผสมควบรวมกับพวกกลายพันธุ์ที่เข้ามา หรืออาจจะเป็นตัวกลายพันธุ์ของเราเอง
โควิด-19 จะจบลงที่ตรงไหน
คำถามนี้ หากเป็นคนไทย ก็น่าจะอยากให้ตอบว่า เป็นเดือนหน้า แต่จากการคาดการณ์ตรงนี้สามารถคาดการณ์ได้ 2 นัยคือ
1. ถ้าเรามีทุกอย่างพร้อมคงจะจบได้เร็วภายในสิ้นปีนี้ แต่ดูจากจำนวนวัคซีนที่ต้องเก่งกว่าเดิม ต้องมีจำนวนมากและต้องคุมได้ภายใน 3 เดือน เราเองคงยังทำไม่ได้
2. หวังว่าให้ติดไปเรื่อยๆ พวกที่ฉีดวัคซีนได้ก็ฉีด พวกที่ฉีดไม่ได้แต่ไม่ตาย ก็เหมือนกับติดเชื้อโดยธรรมชาติ ซึ่งหวังว่าจะนำ 2 ตัวเลขนี้มารวมกันคือ ตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีน และตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อตามธรรมชาติแต่ไม่ตาย แต่ลักษณะแบบนี้เองคงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือในบราซิล พื้นที่ที่เรียกว่าเขตมาเนาส์ (Manaus) อยู่ใกล้ๆ กับแถบของแอมะซอน
เมื่อปี 2563 มีการระบาดอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิต และเข้า รพ.มากมาย การระบาดกินเวลาอยู่ 6 เดือนเต็ม มีการประเมินโดยการตรวจเลือดพบว่า มีคนติดเชื้อแล้วเกินกว่า 60% แล้วโรคก็สงบไปครึ่งปี ซึ่งตรงนั้นเองเราเรียกว่า ภูมิคุ้มกันหมู่
แต่ปรากฏว่า คนที่เหลือ และไวรัสที่เหลืออยู่นั้นยังคงอยู่ ไม่ได้สาบสูญหายไป ดังนั้นคนที่เหลือ ซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่เหลืออยู่ ไวรัสก็จะแพร่ไปเรื่อยๆ เรียกว่าการแพร่โดยไม่มีอาการ จนเมื่อแพร่ไปจนถึงจุดหนึ่ง ที่มีความหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดการระบาดใหม่ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา นั่นคือการที่เข้าใจว่า เมื่อมีการติดเชื้อมากกว่า 60% แล้วหวังว่าจะสามารถป้องกันไปตลอดชีวิตทำให้พื้นที่นั้นสงบ ใช้ชีวิตปกติได้ แต่มันไม่ใช่แบบนั้น นั่นคือหลักฐานของโลกความเป็นจริง
หลักฐานที่ 2 คือในวารสารทางการแพทย์ ชื่อวารสารเมเจอร์ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ใช้หลักฐานในการแพร่กระจายและหลักฐานในการฉีดวัคซีนต่างๆ และการควบคุมสถานการณ์ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า หากฉีดวัคซีนไปแล้ว 60% หรือมากกว่า 60% แต่ถ้าไม่สามารถสร้างแรงกดดันต่อไวรัสได้ แรงกดดันที่ว่าคือกันไม่ให้ไวรัสแพร่ต่อได้อีก คือการคัดกรอง แยกตัวเพื่อไม่ให้มีการแพร่แบบเป็นลูกโซ่ต่อ ไม่มีการทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะ ประชาชนไม่มีการเว้นระยะห่าง มีโอกาสที่จะระเบิดขึ้นมาใหม่และจะเป็นการส่งเสริมให้มีการกลายพันธุ์มากขึ้นซึ่งตรงนี้เองเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง
ดูจากลักษณะความเป็นจริงจากพื้นที่ต่างๆ และหากเราติดตามประวัติของพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่มีการควบคุมเข้มข้น เมื่อหยุดระบาดไปพักหนึ่งก็ระบาดขึ้นมาใหม่ ซึ่งในจีนแม้จะมีการควบคุมอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังมีการเล็ดลอดของสายพันธุ์เดลตาเข้ามา จีนเองจึงมีความสุขอยู่ประมาณ 1 ปีกว่า ในที่สุดเมื่อเชื้อเล็ดลอดเข้ามาใหม่ ปรากฏว่า วัคซีนที่มีควบคุมการติดไม่ได้ แต่จีนไหวตัวทัน มีการตรวจคัดกรองแยกตัวคนติดเชื้อที่มีไม่กี่สิบคน ออกจากคนกว่า 10 ล้านคนในเมืองหนึ่งภายในระยะเวลาไม่กี่วัน จากนั้นก็ปิดเมืองทันที
ขณะเดียวกันก็เริ่มพัฒนาผลิตวัคซีนตามที่กล่าวมา นั่นคือ การไหวตัวอย่างรวดเร็ว และไม่ได้พึ่งเพียงแค่วัคซีนอย่างเดียว แต่ยังพึ่งการกดดันต่อไวรัสที่ปล่อยออกมา แล้วไม่ให้แพร่ออกไปอีก และกันไม่ให้ไวรัสกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ในประเทศ.
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun