ปลาตะเพียนทั่วไป หรือปลาตะเพียนขาว เป็นอีกหนึ่งปลายอดนิยม เพราะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ให้ลูกดก สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เกือบตลอดปี... ภาคกลางมักทำเป็นต้มเค็ม ภาคอีสานและเหนือทำเป็นปลาส้ม นิยมกินแต่ตัวเมีย เพราะตัวใหญ่ เนื้อแน่นกว่าตัวผู้แล้วแถมยังได้กินไข่

ขณะที่พ่อแม่พันธุ์ปลาตะเพียนทั่วไปมีเปอร์เซ็นต์ให้ลูกเป็นตัวผู้และตัวเมียอย่างละครึ่ง ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่

“ปลาตะเพียนที่เลี้ยงกันอยู่ มักเลี้ยงรวมในบ่อ ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย และโตช้ากว่าประมาณ 20% ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ตัวเมียจึงมีราคาสูงกว่าตัวผู้ และโดยทั่วไปนิยมขนาด 3-5 ตัวต่อ 1 กก. ทำให้เวลาเลี้ยงมักมีปัญหาเรื่องขนาดปลาไม่เท่ากัน เมื่อถึงเวลาจับจึงต้องขายแบบคละไซส์ เกษตรกรไม่ค่อยได้ราคา กรมประมงจึงพัฒนาสายพันธุ์ปลาตะเพียนขาวให้ตอบโจทย์เรื่องจำนวนตัวเมีย โดยแต่ละครอกให้มีตัวเมียมากว่า 80%”

นางวิระวรรณ ระยัน ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง บอกถึงที่มาของปลาตะเพียนขาวนีโอเมล ที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการของตลาด

...

หลังจากศูนย์วิจัยได้ปรับปรุงพันธุ์ปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำโขง (Silver 2K) สำเร็จ และกระจายพันธุ์อย่างแพร่ หลายในแถบภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ทางศูนย์จึงนำปลาตะเพียนสายพันธุ์นี้มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ พัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ลูกเป็นตัวเมียเยอะกว่าตัวผู้

เริ่มจากการนำแม่พันธุ์ปลาตะเพียนขาวสายพันธุ์แม่น้ำโขงตัวใหญ่สมบูรณ์มาทำลายสารพันธุกรรมในน้ำเชื้อแล้วเหนี่ยวนำด้วยขบวนการไจโนจีนีซีสให้มีโครโมโซมเป็น 2 ชุด (2n) จนได้ผลผลิตเป็นปลาตะเพียนขาวไจโนจีนีซีสเพศเมีย (XX-Female)

จากนั้นทำการแปลงเพศโดยการให้กินอาหารผสมฮอร์โมน จนได้ปลาตะเพียนขาวนีโอเมลเพศผู้ (Neomale, XX–male) สำหรับใช้เป็นพ่อพันธุ์ในการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล โดยเมื่อนำไปผสมกับปลาตะเพียนขาวเพศเมียปกติ จะสามารถผลิตได้ลูกปลาตะเพียนขาวเพศเมียได้กว่า 80% สามารถแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวที่มีขนาดแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี

“จากปี 2550 ที่ผลิตตะเพียนน้ำโขงได้แพร่หลาย ทางศูนย์มีการพัฒนาสายพันธุ์มาตลอด กระทั่งปี 2562 จึงประสบความสำเร็จได้ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล โดยเรานำปลาเพศเมียมาทำลายสารพันธุกรรม

จากนั้นแปลงเพศให้ตัวเมียเดิมกลายเป็นตัวผู้ ทำให้จากเดิมมีไข่มาเป็นมีน้ำเชื้อ เมื่อนำปลาที่ผ่านการแปลงเพศมาผสมกับปลาตะเพียนขาวแม่น้ำโขงทั่วไป จะได้ลูกปลาเพศเมียมากกว่าเพศผู้”

ปลาตะเพียนขาวนีโอเมล แม้รูปร่างลักษณะภายนอกเหมือนปลาตะเพียนขาวทั่วไปทั้งหมด แต่ตัวพ่อพันธุ์จะมีขนาดใกล้เคียงกับแม่พันธุ์ ทำให้การเพาะพันธุ์จากเดิมใช้พ่อพันธุ์ 2 ตัว : ตัวเมีย 1 ตัว เปลี่ยนมาเป็น 1 : 1

...

และจากการติดตามผลการเลี้ยงทั้งในบ่อดินและในนาข้าว อัตราความหนาแน่นเฉลี่ยไร่ละ 1,960 ตัว พบว่ามีอัตรารอดกว่า 80% ระยะการเลี้ยงให้ได้ขนาด 3–5 ตัว/กก. ตามที่ขนาดที่ตลาดต้องการ ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 5–7 เดือน ใช้ระยะเวลาเลี้ยงสั้นลงกว่าปลาตะเพียนขาวประมาณ 1 เดือน ให้ผลผลิตที่สูงกว่า 15–20% ผลผลิตที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอ

สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ หรือกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำกรมประมง 0-4463-4861 ในเวลาราชการ.

กรวัฒน์ วีนิล