รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยัน ดูแลแรงงานต่างด้าวตามสิทธิ ไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งความช่วยเหลือด้านอาหาร และด้านสาธารณสุข
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีภารกิจในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้มีระบบ มีประสิทธิภาพ มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ทั้งสามารถปรับเปลี่ยนระเบียบ นโยบาย หรือมาตรการใดๆ อย่างทันท่วงที หากเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน สร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิต ให้แก่แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ต่างยึดถือและปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
กระทรวงแรงงานมีมาตรการดูแลแรงงานต่าวด้าว ดังนี้
1. เสนอ ครม.เพื่อผ่อนผันแรงงานต่างด้าวกลุ่มมติ ครม. 20 ส.ค. 62 กลุ่มมติ 4 ส.ค. 63 กลุ่มมติ 10 พ.ย. 63 และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นลงโดยผลของกฎหมายที่ได้ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนด ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งปรับเปลี่ยนระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างด้าวจาก 30 วัน เป็น 60 วัน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มที่กล่าวมา ได้มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งนอกจากช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของภาคธุรกิจแล้ว ยังทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในกิจการที่มีประกันสังคมมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และมีสิทธิการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือได้รับสิทธิรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพที่มีการกำหนดให้ทำเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย
2. การให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้านอาหาร โดยกระทรวงแรงงาน สนับสนุนอาหารวันละ 1 มื้อ ตั้งแต่วันที่ 12 - 27 กรกฎาคม 2564 เป้าหมายแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 520 แห่ง 750,000 กล่อง และปริมณฑล จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ รวมจำนวน 797 แห่ง 500,000 กล่อง ซึ่งให้ความช่วยเหลือทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้างที่ถูกปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด โดยไม่แบ่งแยกสัญชาติว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว
3. การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกให้แก่แรงงานต่างด้าว ณ สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง แล้ว จำนวน 38,140 คน และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่แรงงานต่างด้าว จำนวน 46,451 คน
“ในส่วนวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรร ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เคยนิ่งนอนใจ ยืนยันจะเป็นปากเสียงแทนผู้ประกันตนทุกคนไม่เว้นแรงงานต่างด้าว ในการติดตามให้ได้รับการจัดสรรวัคซีนโดยเร็วที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การยกเลิกการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข ตามที่มีการแชร์ในสื่อโซเชียลนั้น แต่เดิมโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในกิจการที่มีความเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อย่างไรก็ดีหลังจากหารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้ข้อสรุปว่า อำนาจในการตรวจคัดกรองโควิดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้รับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการเอง สำหรับพื้นที่สีแดงเข้มในจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องปิดแคมป์ตามมาตรการของรัฐ กระทรวงแรงงานได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดในการตรวจเชิงรุกและยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางานได้เปลี่ยนการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เป็นการช่วยเหลือด้านอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แทน โดยงบประมาณที่ใช้ในการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นงบจากกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเป็นเพียงหน่วยงานสนับสนุนที่ร่วมให้ความช่วยเหลือในด้านสาธารณสุข ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก เมื่อไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายโครงการได้ จึงปรับเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือด้านอาหาร ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนแก่แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 46,000 คน และปริมณฑล ประมาณ 31,000 คน.