มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นอีกพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ ไทยจะส่งออกผลผลิตมะม่วงได้ราว 1,800 ตัน
แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลการส่งออกมะม่วงเกรดพรีเมียมไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกิดการชะงัก จากการไม่มีเที่ยวบินขนส่ง ฉะนั้นการยืดอายุมะม่วงให้เก็บได้นานขึ้น เพื่อพึ่งพาการส่งออกทางเรือ น่าจะเป็นทางทุเลาปัญหา จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงเป็นที่มาของ “โครงการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ”
...
“เดิมการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะใช้การขนส่งทางเครื่องบินเป็นหลัก เพราะระยะเวลารวดเร็ว ทำให้ผลผลิตเสียหายน้อย และผลสุกเมื่อถึงปลายทางพอดี แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 การขนส่งทางเครื่องบินหยุดชะงัก ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยส่งออกตกค้างในประเทศ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การวิจัยครั้งนี้จึงถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศ ที่ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วง ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงชนิดนี้ไปยังประเทศปลายทางได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ สามารถวางจำหน่ายได้นาน มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นๆได้”
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก บอกถึงที่มาของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (สกสว.) โดยคณะวิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิค เพื่อยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วง และเวลาการวางขายในตลาดให้นานขึ้น เพื่อสามารถขนส่งได้โดยทางเรือ
สำหรับแนวทางแรก...ปกติการขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ คณะนักวิจัยจึงได้พัฒนาเทคนิคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยบรรจุในถุงพลาสติก WEB (White Ethylyne Absorbing Bag) ทำให้สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นานถึง 24 วัน ส่งผลให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกมะม่วงทางเรือได้ แถมเมื่อถึงปลายทางก็ยังมีเวลาวางจำหน่ายสินค้าอีกราว 10 วัน
...
วิธีการนี้ลูกค้าปลายทางจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าแรงในการแกะห่อพลาสติกออก ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยแนวทางนี้ได้มีการถ่ายทอดไปให้ภาคเอกชนแล้ว และสามารถระบายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากที่ไม่สามารถส่งออกได้ในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ปัจจุบันสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ถึงสัปดาห์ละ 28 ตัน หรือเดือนละกว่า 100 ตัน
ส่วนแนวทางที่สอง...เป็นการส่งออกมะม่วงในตู้ควบคุมบรรยากาศ สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้นานถึง 30 วัน และเมื่อนำออกมาจากตู้ควบคุมบรรยากาศ จะมีอายุในการเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้อีก 7 วัน
วิธีส่งออกทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศนี้ ทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้ในปริมาณมากๆ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ส่งออกมะม่วงได้มากถึงสัปดาห์ละ 100 ตัน โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ.
กรวัฒน์ วีนิล