ปิดฉากคดีหวยออนไลน์ ศาลปกครองสูงสุด สั่ง "กองสลาก" จ่าย "ล็อกซเล่ย์" เป็นเงิน 1.6 พันล้าน ค่าเสียหายโครงการหวยออนไลน์
วันที่ 27 พ.ค. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา คดีที่บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด ได้ยื่นฟ้องสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่อศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 5,171,912,740 บาท กรณีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทำให้บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ ได้รับความเสียหายจากความล่าช้าของโครงการหวยออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 54
โดยสั่งแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จากเดิมศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 61 ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลชำระเงิน จำนวน 945,649,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ให้แก่บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ
เป็นพิพากษาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชำระเงินจำนวน 1,654,604,627.54 บาท ให้แก่บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด ผู้รับจ้างให้บริการระบบเกมสลากออนไลน์ โดยเป็นค่าเสียหายจากสิทธิได้รับค่าแห่งการงานที่ทำให้แก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นเงิน 1,049,918,535.60 บาท ค่าใช้จ่ายเพื่อคงความพร้อมต่อไปคำนวณจากวันที่ควรจะเริ่มจำหน่ายสลากจริง จนกว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะปฏิบัติตามสัญญา เป็นเงิน 412,762,954.44 บาท และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกรณีโครงการล้มเลิก เป็นเงิน 191,923,137.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2564 และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
...
ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่า จากข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าบริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ ได้ดำเนินการตามสัญญาพิพาท โดยติดตั้งระบบเกมสลากและเครื่องจำหน่ายสลากครบ 3,000 เครื่อง ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ดำเนินการติดตั้งและทดลองจำหน่ายสลากโดยเครื่องอัตโนมัติ จนกระทั่งติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากทั่วประเทศจำนวน 6,761 ราย ตามรายชื่อที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ดำเนินการอบรมผู้แทนจำหน่ายสลาก และส่งมอบงานทั้งหมดแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว
โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างการติดตั้งระบบเกมสลากและเครื่องจำหน่ายสลากได้มีบันทึกข้อความที่ สกม. 291/2551 ลงวันที่ 22 ก.ค. 51 ตรวจรับไว้แล้ว ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่เคยโต้แย้งว่า บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้องครบถ้วน จึงฟังได้ว่ามีการส่งมอบงานดังกล่าวตามข้อ 7.1.2 ถึงข้อ 7.1.4 ตามสัญญาพิพาทแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการงานที่บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ ได้ลงมือทำไปแล้ว รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำการทดลองจำหน่ายสลากแล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงต้องเริ่มจำหน่ายสลากจริงโดยแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ เริ่มบริการตามสัญญาข้อ 1.7.5 วรรคหนึ่ง
แต่ปรากฏว่าภายหลังจากการลงนามในสัญญาจ้างบริการเกมสลากสัญญาเลขที่ 119/2548 วันที่ 29 ก.ค. 48 และนับแต่วันที่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทำการทดลองจำหน่ายสลากเมื่อวันที่ 24 และ 25 ก.พ. 49 จนถึงวันฟ้องคดีเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยังมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ เริ่มบริการตามสัญญาพิพาท ข้อ 1.7.5 วรรคหนึ่ง จึงแสดงให้เห็นว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นตอบข้อหารือของสำนักงานสลากฯ ว่าการออกสลากพิเศษแบบเลขทาย 3 ตัว และ 2 ตัวนั้น ไม่ถือเป็นการดำเนินการภายในขอบวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2517
ดังนั้น หากสำนักงานสลากปฏิบัติตามสัญญาโดยจำหน่ายสลาก และแจ้งให้บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ เริ่มให้บริการตามสัญญาพิพาท ก็จะเป็นการฝ่าฝืนต่อวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นพฤติการณ์ที่ศาลเห็นสมควรพิพากษาให้สัญญาเลิกกันตามคำขอของบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 7 เม.ย. 54 ซึ่งเป็นวันที่ฟ้องคดีต่อศาล และเมื่อสัญญาเลิกกันแล้วสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำต้องให้บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ กลับคืนสู่ฐานเดิม และต้องชดใช้ค่าการงานอันได้กระทำให้แก่บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ ตามควรค่าแห่งการงาน รวมตลอดถึงค่าเสียหายอันเนื่องจากการผิดสัญญา.