ดร.สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีแนวคิดพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุ 0-6 ปี ในการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นเพื่อนำไปสู่การจัดสรรแบบถ้วนหน้า โดยกลยุทธ์การพัฒนาฐานข้อมูลต้องร่างเป็นแผนและกำหนดระยะเวลาหรือไทม์ไลน์ให้ชัดเจน ระยะแรกอาจต้องประสานข้อมูลจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
เนื่องจากเป็นผู้อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ต้องนำข้อมูลเปรียบเทียบวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยที่อาจมีตัวแปรต่างๆ เพื่อนำสู่การตัดสินใจ อีกสิ่งสำคัญในการจัดสรรงบประมาณช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ที่วิธีคิดหรือ Mindset ของผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งผู้นำสูงสุดที่เป็นคณะรัฐมนตรี รวมถึงสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการรัดเข็มขัดกับเพิ่มการใช้จ่าย แนวคิดหนึ่งที่อยากนำเสนอถึงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มนี้จะไม่ถูกกระทบรุนแรงจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะเด็กที่ไม่สามารถไปเรียนได้ เกิดภาวะความเครียดที่ส่งผลต่ออีคิวและไอคิวเด็ก เป็นแผลเป็นที่ส่งผลกระทบยาวนาน จึงต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กเปราะบาง ต้องทุ่มงบประมาณให้มากขึ้นด้วยซ้ำ เพื่อให้แผลเป็นมีขนาดเล็กสุดเท่าที่จะเล็กได้
นายเชษฐา มั่นคง ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า โควิด-19 ระลอก 3 ทำให้เด็กเข้ารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กลดลง ขาดบริการด้านสาธารณสุข หรือเข้าถึงลำบาก เด็กจำนวนมากอยู่ในบ้านไม่มีกิจกรรมเสริม พัฒนาการ ส่งผลให้ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ขาดระเบียบวินัย ภาวะโภชนาการถดถอย ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กล่าช้าที่มีจำนวนมากขึ้น เป็นแผลเป็นที่เกิดกับเด็กจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากกว่าเด็กทั่วไปถึง 2-3 เท่า จึงอยากเห็นการทำงานเชิงรุกของทุกฝ่าย รวมถึงการผลักดันเงินอุดหนุนแรกเกิดให้เป็นแบบถ้วนหน้าในปีงบฯ 2565
...
ขณะที่ น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้าแค่เพียงคนละ 600 บาทต่อเดือน สามารถเยียวยากลุ่มเปราะบางได้บ้าง แต่ให้งบฯกองทัพจำนวนมากได้ ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่วิธีคิดของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหน.