“ทุเรียน” ราชาผลไม้ ที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ หากใครได้ลิ้มลอง แล้วหลงรัก มักจะถอนตัวไม่ขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายคน ที่รู้สึกว่า กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์นี้ ทำให้ทุเรียน ไม่ใช่ผลไม้ที่น่าพิสมัยสักเท่าไรนัก

แต่หากเป็นคอทุเรียนแล้ว การที่จะเสาะหาทุเรียนพันธุ์ต่างๆ ที่ใครต่อใครบอกว่าเนื้อดี หอม อร่อย มาลิ้มลองสักครั้ง คงจะฟินไม่น้อย ซึ่งทุเรียนในประเทศไทยเอง ก็มีหลากหลายสายพันธุ์ อย่างพันธุ์ที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ฯลฯ

แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยยังมี ทุเรียน ที่เป็นสินค้า GI หรือ Geographical Indication ที่หมายถึง “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” ซึ่ง กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ออกให้ ซึ่งสินค้า GI หรือ ทุเรียน GI ต้องมีแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีคุณภาพ มีชื่อเสียง แตกต่างจากทุเรียนทั่วไป เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า

สำหรับทุเรียน GI ตามข้อมูลของเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีสายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 8 พันธุ์ด้วยกัน ได้แก่

  • ทุเรียนชะนีเกาะช้าง

ทุเรียนชะนีเกาะช้าง หรือ ชะนีเกาะช้าง (Cha Nee Koh Chang Durian) จ.ตราด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 เป็นทุเรียนพันธุ์ดีปลูกเฉพาะในพื้นที่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด

จากหลักฐานด้านธรณีวิทยาพบว่า เกาะช้างเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นดินภูเขาไฟ มีอากาศบริสุทธิ์ มีอิทธิพลจากน้ำทะเล ประกอบกับต้นทุเรียนมีอายุมาก ลำต้นสูงใหญ่ จึงมีรากหยั่งลึกดูดแร่ธาตุในดินภูเขาไฟที่อยู่ลึกได้ ทำให้ผลผลิตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

...

ลักษณะทางกายภาพ ของทุเรียนเกาะช้าง ทรงผลจะค่อนข้างรี ยาว หนามใหญ่และห่าง เปลือกบาง สีผิวออกสีน้ำตาลปนแดง สภาพผิวเปลือกค่อนข้างแห้งกร้าน และส่วนใหญ่มีหนามแดง ปลายหนามแห้ง จะเห็นร่องพูปรากฏชัดเจน ก้านขั้ว ค่อนข้างเล็ก

เนื้อทุเรียนพันธุ์นี้จะละเอียด แห้ง เหนียว สีเหลืองเข้มไปจนถึงสีเหลืองอมส้ม เนื้อหนา ส่วนใหญ่เมล็ดจะมีขนาดเล็กหรือลีบ รสชาติ หวาน มัน มีกลิ่นหอม

สำหรับการปลูกและการเก็บผลผลิตนั้น “ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” จะสามารถเก็บผลผลิตได้ในต้นที่ปลูกมานานกว่า 20 ปีขึ้นไป ขณะที่การคัดคุณภาพ และคัดขนาด จะแบ่งเป็น 3 เกรด ดังนี้

1. เกรดพรีเมียม มีพูอย่างน้อย 4 พูเต็ม อาจมีร่องรอยการเข้าทำลายของแมลงได้เฉพาะบริเวณผิว เปลือกนอกสุด ผลมีความสมบูรณ์ รูปทรงสวย ไม่บิดเบี้ยว น้ำหนักตั้งแต่ 2.2 กิโลกรัมขึ้นไป

2. เกรดดี มีพูเต็มอย่างน้อย 3 พู มีร่องรอยจากการเข้าทำลายของแมลงได้เฉพาะบริเวณผิวเปลือกนอกสุด รูปทรงอาจบิดเบี้ยวเล็กน้อย น้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป

3. เกรดตกเกรด มีพูเต็มอย่างน้อย 3 พู มีร่องรอยการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้ แต่ต้องไม่กระทบ เนื้อภายใน รูปทรงบิดเบี้ยวได้ น้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมลงมา

  • ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์

ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

เกิดจากการทดลองนำเมล็ดทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของอุตรดิตถ์ไปปลูกที่เชิงดอย ปรากฏว่ากลายพันธุ์มาเป็นทุเรียนลูกเล็กเมล็ดเล็กกว่าทุเรียนทั่วไป แต่รสชาติหวานอร่อย จนได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดทุเรียนที่จัดโดยเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี 2520 จึงตั้งชื่อว่า “หลงลับแล”

ลักษณะทางกายภาพ รูปทรงจะมีผลทรงกลม หรือ กลมรี ปลายผลนูน ฐานผลค่อนข้างกลม ก้านผลมีขนาดใหญ่ ผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนักอยู่ในช่วง 1-2 กิโลกรัม เปลือกบาง หนามผลเว้าปลายแหลม หนามปลายผลและรอบขั้วผลโค้งงอ ร่องพูไม่ชัดเจน

ในส่วนของเนื้อจะมีเนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้ง ละเอียดเหนียว ไม่มีเส้นใย รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เมล็ดลีบเล็ก บางผลมีเมล็ดลีบทั้งผล สำหรับค่าความหวานอยู่ในช่วง 28-31 องศาบริกซ์

...

  • ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์

ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 เช่นเดียวกับ ทุเรียนหลงลับแล ปลูกในเขตพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

จุดกำเนิดของ ทุเรียนหลินลับแล ปลูกโดยนายหลิน ปันลาด เมื่อปี 2493 ซึ่งนำเมล็ดทุเรียนมาปลูกจนได้ต้นใหม่ที่มีลักษณะผลแปลกกว่าทุเรียนอื่นๆ และมีรสชาติดี จนปี 2520 ก็ได้นำทุเรียนส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลรองชนะเลิศ คะแนนสูสีกับ “ทุเรียนหลงลับแล” ซึ่งทุเรียนทั้ง 2 พันธุ์ได้รับความนิยมไม่น้อยกว่ากันเลย

สำหรับลักษณะทางกายภาพ ของทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ ผลทรงกระบอก ปลายผลบุ๋ม ร่องพูชัดเจน ผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนักผลจะอยู่ในช่วง 1-3 กิโลกรัม เปลือกบาง หนามผลโค้งงอ แหลมคม

มีเนื้อมาก ละเอียด เหนียวแห้ง เส้นใบน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เมล็ดลีบเล็ก สำหรับค่าความหวานอยู่ในช่วง 30-35 องศาบริกซ์

...

  • ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ

ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 เป็นทุเรียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นดินภูเขาไฟ ปลูกในพื้นที่ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษ์ และ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ เป็นเขตพื้นที่แนวภูเขาไฟเก่า จึงได้ดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณผุพังมาจากหินบะซอลล์ เป็นดินสีแดงอุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่างๆ โครงสร้างดินระบายน้ำได้ดี ดินไม่แฉะ แต่ยังดูดซับน้ำไว้ในปริมาณที่เหมาะกับพืช จึงทำให้ทุเรียนไม่เป็นโรครากและโคนเน่า เนื้อทุเรียนไม่แกร็น ไม่มีอาการไส้ซึม เหมาะสมกับการปลูกทุเรียน

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงทำให้ได้ทุเรียนที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เนื้อทุเรียนแห้ง นุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด กลิ่นหอม ไม่ฉุน รสชาติค่อนข้างหวาน รสชาติดี

ลักษณะทางกายภาพของ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ คือเปลือกบาง หนามค่อนข้างถี่ เนื้อหนาละเอียด เนียนนุ่ม แห้งเหนียว กรอบนอก นุ่มใน สีเนื้อจะเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล รสชาติหวานมัน ละมุนลิ้น กลิ่นหอม ไม่ฉุนมาก เมล็ดลีบเล็ก

...

สำหรับทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีลักษณะเฉพาะ แยกตามสายพันธุ์ มีดังนี้

- พันธุ์หมอนทอง ผลมีขนาดใหญ่ หนามแหลมสูง ก้านผลใหญ่แข็งแรง เนื้อสีเหลืองอ่อน ละเอียด แห้ง รสชาติหวานมัน เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่

- พันธุ์ชะนี ทรงผลทรงกระบอกหรือทรงไข่ ปลายแหลม กลางผลป้อม พูเห็นเด่นชัดร่องพูไม่ลึก ขั้วผลใหญ่แข็งแรง ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ เนื้อสีเหลืองเข้ม ละเอียดและเหนียว รสชาติหวานมัน

- พันธุ์ก้านยาว ทรงผลกลม หรือทรงลิ้นจี่ค่อนข้างยาว ก้านผลยาวเห็นได้เด่นชัด ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ เนื้อสีเหลือง ละเอียดและเหนียว รสชาติหวานมัน เมล็ดโต

ทั้งนี้ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ จะสามารถเก็บเกี่ยวในช่วงประมาณปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน แล้วแต่สภาพภูมิอากาศของแต่ละปี ซึ่งจะออกช้ากว่าทุเรียนภาคตะวันออก 1 เดือน และก่อนทุเรียนภาคใต้จะออกสู่ตลาด 1 เดือนเช่นกัน

  • ทุเรียนในวงระนอง

ทุเรียนในวงระนอง เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ทรงกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ ปลูกในพื้นที่ตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้ของอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง

ลักษณะทางกายภาพ ผลทรงกลมรี มีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 3-7 กิโลกรัม เปลือกบาง สีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม หนามแหลมยาวถี่สีเขียว เนื้อสีเหลืองทอง หนา เนียน ละเอียด รสชาติหวานหอมมัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน

ทุเรียนในวงระนองปลูกในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ฝนตกเกือบตลอดปี ทุเรียนจึงได้รับน้ำมาก เพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยจะมีการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี หรืออาจคลาดเคลื่อนเล็กน้อยแล้วแต่สภาพภูมิอากาศของแต่ละปี

  • ทุเรียนสาลิกาพังงา

ทุเรียนสาลิกาพังงา คือ ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพังงา โดยคำว่า “สาลิกา” เป็นชื่อพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองของจังหวัดพังงา คนท้องถิ่นในยุคนั้นนิยมเปรียบเปรยความอร่อย เหมือนกับจะงอยปากของนกสาลิกา ที่มีเสียงไพเราะ จึงตั้งชื่อว่า ทุเรียนสาลิกาพังงา ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอกะปง ของจังหวัดพังงา

ลักษณะทางกายภาพ ทรงผลกลม ผลโตเต็มที่จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 1.5-2 กิโลกรัม เปลือกบาง หนามสั้นและถี่ ผลดิบจะมีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อทุเรียนหนา ละเอียด สีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอม แต่ไม่ฉุนมาก รสหวานเข้มข้น เมล็ดลีบ หรือมีขนาดเล็กเกือบทั้งผล จะให้ผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ทุเรียนสาลิกาพังงา มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ว่ามีรสชาติหวานกว่าทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ไม่ฉุน จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มาครองจากโครงการประกวดคัดสรรสุดยอดทุเรียนพื้นเมือง ในงานเกษตรแฟร์ ที่จัดโดยสำนักงานสภาเกษตรจังหวัดพังงา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา

  • ทุเรียนนนท์


ทุเรียนนนท์ ถูกแบ่งย่อยไปตามสายพันธุ์อีก ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว, พันธุ์หมอนทอง, พันธุ์ชะนี, พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมือง ที่มีรสชาติดี หวาน มัน เนื้อละเอียด สีเหลือง ปลูกในเขตพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง, อำเภอบางกรวย, อำเภอปากเกร็ด, อำเภอบางใหญ่, อำเภอบางบัวทอง และอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

สำหรับลักษณะเฉพาะของแต่ละพันธุ์ มีดังนี้

- พันธุ์ก้านยาว ผลกลม ก้นผลกลมใหญ่ ด้านขั้วมน ร่องพูไม่เด่นชัด เปลือกมีสีเขียว ก้านผล (ไม่รวมปลิง) มีขนาดยาวกว่าพันธุ์อื่น เนื้อสีเหลืองอ่อน ละเอียดนิ่ม รสหวานมัน กลิ่นไม่ฉุน

- พันธุ์หมอนทอง ผลกลมยาว ค่อนข้างใหญ่ เนื้อหนา สีเหลือง รสหวานจัด มีกลิ่นน้อยกว่าพันธุ์อื่นๆ

- พันธุ์ชะนี ผลทรงกระบอกหรือทรงไข่ ปลายแหลม กลางผลป่อง กันป้าน ร่องพูปรากฏชัด เนื้อละเอียดและเหนียว ไม่หนา รสหวานมัน กลิ่นแรง

- พันธุ์กระดุมทอง ผลกลมเล็กถึงปานกลาง มีไหล่ผล ด้านขั้วค่อนข้างกว้าง ร่องพูปรากฏชัดเจน เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม ละเอียดไม่เหนียวบาง รสหวานจัด กลิ่นค่อนข้างแรง


ด้วยเพราะจังหวัดนนทบุรี มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านในแนวเหนือ-ใต้ ทำให้สภาพดินในพื้นที่มีแร่ธาตุไหลมารวมกัน จึงเหมาะกับการทำสวนผลไม้ โดเฉพาะสวนทุเรียน ทำให้ทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่มีคุณภาพดี รสชาติหวาน อร่อย

ซึ่งการปลูกทุเรียนในภาคกลางของไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อปี 2330 นายสาย ฉิมคล้าย ได้ถูกเกณฑ์ไปกองทัพ และได้นำเอาเมล็ดทุเรียนที่เก็บจากป่ามาแจกเพื่อนฝูง และนำเมล็ดบางส่วนไปปลูกที่สวนใกล้วัดสัก อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2397 ก่อนที่จะมีการขยายพื้นที่การปลูกทุเรียนไปในพื้นที่ทุกอำเภอของ จ.นนทบุรี

และแม้ราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง แต่ทุเรียนนนท์ก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการสั่งจองล่วงหน้า หรือจองข้ามปี เพื่อที่จะได้ลิ้มลองสักครั้ง

  • ทุเรียนป่าละอู

ทุเรียนป่าละอู แบ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี ที่มีลักษณะเนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เม็ดลีบเล็ก มีผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ที่ปลูกบริเวณเขตพื้นที่ป่าละอู ในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทุเรียนป่าละอู เริ่มนำเข้ามาปลูกในพื้นที่ป่าละอู เมื่อปี พ.ศ.2527 ผู้ที่นำเข้ามาคือ นายพยุง พรายใย โดยเริ่มนำเข้ามาปลูกจำนวน 100 ต้น ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งนนทบุรี ระยอง ซึ่งก็ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ มีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากต้นพันธุ์ที่นำมาจากนนทบุรี และระยอง ซึ่งก็ได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

อีกลักษณะพิเศษของทุเรียนป่าละอู ที่แตกต่างจากทุเรียนในพื้นที่อื่น คือ ผลผลิตจะออกก่อนทุเรียนทางภาคใต้ และหลังภาคตะวันออก มีผลผลิตมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ของทุกปี

  • ทุเรียนปราจีน

ทุเรียนปราจีน แบ่งเป็นสายพันธุ์ ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว, พันธุ์หมอนทอง, พันธุ์ชะนี, พันธุ์กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ มีเนื้อแห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี, อำเภอกบินทร์บุรี, อำเภอประจันตคาม, อำเภอศรีมหาโพธิ์ และอำเภอนาดี ของจังหวัดปราจีนบุรี

สำหรับทุเรียนปราจีน มีจุดกำเนิด จากการที่เกษตรกรนำพันธุ์หลายพันธุ์จากจังหวัดนนทบุรี มาปลูกเมื่อ 100 กว่าปีก่อน จากนั้นก็ขยายพันธุ์ กระทั่งได้รับความนิยม และได้รับรางวัลจากการส่งทุเรียนเข้าประกวดในเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทการค้าภายในประเทศ จากกิจกรรมการประกวดงานทุเรียนโลก เมื่อปี 2015

ลักษณะเฉพาะจำแนกตามพันธุ์ มีดังนี้

- พันธุ์ก้านยาว ทรงผลกลม เปลือกผลค่อนข้างหนา เนื้อสีเหลือง เนื้อหนา ละเอียด กลิ่นไม่ฉุน รสชาติหวานมัน เมล็ดเต็ม

- พันธุ์หมอนทอง ทรงผลยาว ปลายผลแหลม เปลือกผลบาง ขั้วผลใหญ่ พูเนื้อใหญ่ เนื้อสี เหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน

- พันธุ์ชะนี ทรงผลกลมยาว กลางผลป่อง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ขั้วผลสั้นขั้วใหญ่ เนื้อสีเหลืองจัด ละเอียด แห้ง รสชาติหวานมัน มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย เมล็ดยาวแบน

- พันธุ์กระดุมทอง ทรงผลกลมแบน ขั้นผลสั้น เปลือกผลบาง เนื้อสีเหลืองอ่อน ละเอียด กลิ่นไม่ฉุน รสชาติหวานน้อย เมล็ดค่อนข้างใหญ่

เห็นทุเรียน รูปร่างลักษณะเปลือกมีหนามคล้ายกัน แต่ใครจะรู้ว่าหากแยกออกเป็นสายพันธุ์ จะมีหลากหลายสายพันธุ์ขนาดนี้ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีรสชาติ และเนื้อสัมผัสแตกต่างกันไป ให้ผู้บริโภคได้เลือกสรรว่า สัมผัสแบบไหน จะละมุน กินแล้วฟิน ถูกใจมากที่สุด

ว่าแต่ใครเป็น “ทุเรียนเลิฟเวอร์” บ้าง บอกทีว่า พันธุ์ไหนที่โดนใจคุณที่สุด!