ตราบใดที่ยังมีประเทศหนึ่งประเทศใดในโลกมีการแพร่ระบาดของ “โรคโควิด-19” อย่างกว้างขวาง ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกัน...ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงโรคโควิด-19 กลับมา...“ระบาดระลอกใหม่”

เหมือนอย่างที่ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดรอบที่ 2 จาก ประเทศเมียนมา และ...ล่าสุดรอบที่ 3 จาก ประเทศเขมร

วิธีเดียวที่ช่วยดีที่สุดคือการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ป้องกันโรคโควิด-19 ให้คนในแต่ละประเทศด้วยการ “ฉีดวัคซีน” ทุกคนในประเทศอย่างทั่วถึง ทว่า...ปัญหาสำคัญของประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนคือวัคซีนมีไม่เพียงพอและไม่มีวัคซีนให้เลือก

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ บอกว่า สำหรับประเทศไทยวัคซีนหลักคือวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต และจะเริ่มแจกจ่ายให้คนไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคมนี้...จำนวน 61 ล้านโดส

มีรายงานประสิทธิภาพวัคซีนบริษัทแอสตราเซเนกา หลังฉีดเข็มแรก เข็มเดียว 28-34 วัน สามารถป้องกันการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาล 94%

...

นพ.มนูญ ย้ำว่า ประเทศไทยควรจะปรับแผนการให้วัคซีนคนไทยทุกคนรวมทั้งคนต่างชาติและแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นผู้หญิงตั้งครรภ์ ได้รับวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาคนละ 1 โดส โดยเริ่มให้คนกลุ่มแรกก่อน คือ...คนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว

“ชะลอการให้วัคซีนโดสที่สองไปก่อนตามอย่างประเทศอังกฤษ ถ้ามีวัคซีนเหลือจึงให้โดสที่สองกับคนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว ถ้าทำเช่นนี้ได้ คนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนคนละหนึ่งเข็ม ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

แทนที่รัฐบาลวางแผนจะให้คนไทย 30.5 ล้านคน ได้รับวัคซีน 2 โดส คนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยอีกครึ่งประเทศไม่ได้รับวัคซีน การทำเช่นนี้ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอน ทำให้ไม่สามารถเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

“ภาคเอกชน” ต้องช่วยกันผลักดันภาครัฐให้ปรับแผนการกระจายฉีดวัคซีน ในเวลาเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนรวมตัวกันสั่งซื้อวัคซีนบริษัทอื่นๆผ่านองค์การเภสัชกรรม

นำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากระจายฉีดให้กับคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีนแจกฟรีจากภาครัฐ แบ่งเบาภาระทั้งด้านค่าใช้จ่ายและผู้ปฏิบัติงานบุคลากรทางการแพทย์ในด้านการฉีดวัคซีนให้คนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย

ในภาวะฉุกเฉินนี้ขอให้ทาง “บริษัทผู้ผลิตวัคซีน” และ “โรงพยาบาลเอกชน” อย่าแสวงหากำไรจากวัคซีนมากเกินควร ในเวลาเดียวกันถ้าประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนบริษัทแอสตราเซเนกาได้มากพอ ประเทศไทยควรบริจาควัคซีนให้ประเทศเพื่อนบ้าน...“การช่วยประเทศเพื่อนบ้านก็เหมือนกับช่วยประเทศเราเอง ทุกประเทศต้องผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน” นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ทิ้งท้าย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนอยู่ไม่น้อยด้วยรายงานผลข้างเคียงที่พบในหลายกรณี มุมมองเรื่อง “ผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนแวคและการจัดการ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า แนวทางของกองระบาดยังใช้ ISRR imminozation stress related reaction ค่อนข้างมาก

...

อาการไม่พึงประสงค์แบ่งออกเป็นเฉพาะที่และเป็นระบบ อาทิ บางคนมีไข้ต่ำๆ มีอาการอ่อนเพลีย ง่วง แต่ปฏิกิริยาที่เป็นข่าวและทำให้หลายๆคนกังวลใจ เป็นปฏิกิริยาเครียดตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกว่า...“ISRR” หรือ “Imminozation stress related reaction”

อาจารย์หมอธีระวัฒน์ ย้ำว่า อาจต้องเน้นความสำคัญของภาวะที่เกิดขึ้นจริงและมีผลต่อระบบประสาทอย่างชัดเจน และต้องการการดูแล รวมทั้งการติดต่อกลับไปยังบริษัทผู้ผลิต ISRR เป็นกลไก หรือ mechanisms กลไกที่เป็นจิต psychosomatic หรือ conversion ทางจิตอารมณ์วิตกกังวลที่ปรากฏออกมาทางร่างกายซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางสมองสามารถระบุแยกได้แม้กระทั่งแพทย์ธรรมดาทั่วไปก็ตาม

เน้นย้ำว่า...อาการที่พบขณะนี้ พบเป็นของจริงและบางอาการที่ไม่คิดว่าสำคัญมาก คืออาการชาของแขนข้างที่ฉีดทั้งแขนตั้งแต่ต้นแขนไปจนถึงมือโดยไม่มีอาการอ่อนแรง และไม่เสียความคล่องแคล่วมากหรือนิดหน่อย พบในทันตแพทย์ที่เป็นและไม่หายมาหนึ่งเดือนแล้ว และมีปัญหาในการทำงานมาก

หรือ...ในกรณีที่มีความผิดปกติทางตาไม่ว่าเป็นตาเดียว...monocular หรือจากจอรับภาพในสมองที่เกิดจากจอรับภาพของสมองที่ท้ายทอย ทำให้ภาพแหว่งครึ่งซีกของทั้งสองตา การมองเห็นภาพครึ่งซีก

...

ซึ่งทั้งหมดอธิบายด้วย...การที่เส้นเลือดมีการหดตัวเกร็ง สปาสซั่ม ...ที่เส้นเลือดในตา รวมทั้งที่เกิดในเส้นเลือดสมอง ซึ่งในอวัยวะสำคัญเช่นนี้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะหายเอง

โดยที่รายงานทั้งหลาย “ที่ไม่ได้เกี่ยวกับวัคซีน” จะดีขึ้นเองภายในไม่กี่วัน และเป็นข้ออธิบายว่าทำไมการตรวจคอมพิวเตอร์สมองจึงไม่พบความผิดปกติถึง 30-70% แต่จำนวนที่เหลือที่ไม่หายจะเกิดขึ้นถาวร

ในกรณีของตา แม้กระทั่งชาดังกล่าว แม้โดยไม่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีกก็ตาม สมควรที่จะได้รับยาขยายหลอดเลือดหรือไม่ เช่น isosorbide ด้วยความระมัดระวัง และถ้าไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งถึงสองชั่วโมง ควรต้องทำอย่างไรต่อ อย่างเช่น

“ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ลำปางถึงกับต้องทำการสอดสายแล้วฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมองเอกซเรย์หลอดเลือดและให้ยาขยายหลอดเลือดเฉพาะที่ หรือที่ระยองและทางโรงพยาบาลสมเด็จฯ ณ ศรีราชา ใช้ เกิดลิ่มเลือด 6 ราย ซึ่งแสดงชัดเจนว่าเข้าเกณฑ์ของ “stroke”...ภาวะเส้นเลือดสมองผิดปกติเฉียบพลัน

กรณีข้างต้นเหล่านี้เป็นผู้ได้รับผลแทรกซ้อนที่อยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญทางสมอง neurologist ทั้งสิ้น ในการให้การวินิจฉัยการติดตามและการรักษา เรื่องที่สมควรทำด่วนที่สุดของกระทรวงสาธารณสุขคือ...

...

หนึ่ง...กระทรวงสาธารณสุขต้องรีบติดต่อไปยังบริษัทวัคซีนแจ้งเหตุการณ์ให้ตรวจสอบกระบวนการวิธีบรรจุขวด ซึ่งการสอบถามโดยผู้ที่สนิทกับรัฐบาลจีนพบว่า บริษัทมีปัญหาในการหาขวดบรรจุอยู่แล้ว และน่าจะเป็นกระบวนการปนเปื้อนมากกว่าตัววัคซีนเอง หรือส่งลอตใหม่มาทั้งหมด

แม้ว่า...การปนเปื้อนไม่ได้เกิดขึ้นทุกขวดในลอตเดียวกันก็ตาม

สอง...ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขณะนี้วัคซีนขาดแคลน ต้องเตรียมสถานการณ์ให้พร้อม แต่ไม่ได้หมายความว่าชักช้าจนขัดขวางกระบวนการฉีด ซึ่งต้องการให้วัคซีนในจำนวนมากที่สุดและเร็วที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ “วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค” ซึ่งในกรณีของแอสตราเซเนกาจะเป็นเรื่องของการเกิดเลือดข้นมีลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆในช่องท้องและในสมองร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ

ประเด็นสำคัญ เรายังคงต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดกับ “คนไทย” ทั้งประเทศ โดยที่ทราบข้อจำกัดบางประการและเตรียมรับมือในการแก้ผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น.