วุ่นวายขายปลาช่อนกันไป หลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เพิ่มมาตรการเข้มรับมือการแพร่ระบาดเชื้อโรคร้ายโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เพราะไปๆมาๆกลายเป็นว่า กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร มีเชื้อโรคแพร่ระบาดมากที่สุดในประเทศ!
คนป่วยทะลักขนาดสถานพยาบาลในระบบรับไม่ไหว ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น เปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยอีกแรง!
พ่อเมืองกรุงเทพฯ อยู่ไม่ไหว ออกมาตรการให้ปฏิบัติเบื้องต้นนาน 14 วัน ถ้าไม่ดีขึ้นคงต้องเพิ่มอีก
แต่ประกาศข้อที่กระทบประชาชนที่สุด น่าจะเป็นเรื่องให้ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกจากบ้าน เพราะช่วงหลังคนไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ติดเชื้อมากขึ้น ที่สำคัญอัตราการตายมากขึ้น!
แต่มาตรการบังคับให้ใส่แมสก์ที่เพิ่งคลอด กลับสร้างความสับสนแม้แต่คนในกระบวนการยุติธรรมเอง โดยเฉพาะตำรวจผู้ปฏิบัติ เนื่องจากถึงแม้ว่า โทษแค่ปรับ
แต่ถือว่า ปรับหนักชนิดสะดุ้งโหยงกันเป็นแถว เพราะเริ่มความผิดครั้งแรก 6,000 บาท ความผิดซ้ำครั้งที่สองปรับ 12,000 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 20,000 บาท!
แถมยังมีท่านบรรดานักกฎหมายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งข้อสงสัยถึงอำนาจการเปรียบเทียบปรับของตำรวจ ทำเอาคนทั้งบ้านทั้งเมืองงงกันไปหมด?
เรื่องทำท่าจะสรุปว่า ตำรวจสามารถปรับเองได้ในความผิดครั้งแรก 6,000 บาท เพราะไม่เกิน 1 หมื่นบาทตามกฎหมาย
แต่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ผู้ตรวจการอัยการกรรมการบริหารเนติบัณฑิตยสภา ออกมาแย้งว่า ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อบัญญัติใน ม.37 (4) ประกอบ ม.57 ว่า เมื่อพนักงานสอบสวนพบความผิดให้จับกุมแล้ว ต้องส่งให้อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อเป็นคนเปรียบเทียบ เมื่ออธิบดีกำหนดค่าปรับแล้วให้ส่งเรื่องกลับสถานีตำรวจ ถ้าผู้ถูกจับยินยอมเสียค่าปรับตามที่กำหนดก็ส่งไปปรับเรื่องก็จบ
...
ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่า ตำรวจไม่มีอำนาจปรับทุกกรณี ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นหนังชีวิตว่าจะได้บทสรุปยังไง...
แต่ทั้งหมดทั้งปวงจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือไม่ทำผิด?
สหบาท