เมื่อเข้าสู่ช่วงปิดเทอมใหญ่ของทุกปี มักมีเหตุสลดสะเทือนใจ “เด็กแอบชวนกันไปเล่นน้ำจนเสียชีวิต” เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ กลายเป็นอุทาหรณ์เตือน “บรรดาผู้ปกครอง” ให้ตระหนักถึงภัยอันตรายใกล้ตัวนี้ ถ้าหากปล่อยบุตรหลานคลาดสายตาเพียงเสี้ยววินาทีมักมี “เรื่องร้าย” มาเยือนขึ้นได้
ส่วนใหญ่เกิดกับ “เยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี” เพราะชอบแอบหนีชวนกัน ไปเล่นน้ำตามแหล่งธรรมชาติที่เป็นจุดเกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตมากสุด ปัจจัยมาจาก “ผู้ใหญ่ไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของเด็ก” มัวแต่วุ่นอยู่กับการทำมาหากิน “ขาดความใส่ใจบุตรหลาน” ทำให้มีเหตุร้าย “เด็กจมน้ำ” ขึ้นบ่อยเป็นรายวัน
ข้อมูล “กระทรวงสาธารณสุข” ปี 2554-2563 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 7,794 คน เฉลี่ยปีละ 779 คน หรือวันละ 2 คน “ในช่วงปิดเรียนหรือฤดูร้อน” เดือน มี.ค.-พ.ค.เฉลี่ยปีละ 263 คน ถ้าเฉพาะปี 2562 มีจำนวน 559 คน แต่ในปี 2563 แตกต่างจากทุกปี เพราะเป็นช่วงระบาดโควิด-19 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 531 คน
ส่วนใหญ่เกิดในวันเสาร์และวันอาทิตย์ของเดือน ก.ค. มีอัตราสูงที่สุด 55 คน เดือน มิ.ย. และเดือน พ.ย. 54 คน ช่วงเวลา 15.00-18.00 น. ในจำนวนนี้เด็กอายุไม่เกิน 2 ขวบ จมน้ำ 91 คน เป็นเด็กชายสูงมากกว่าเด็กหญิง 2 เท่า กลุ่มอายุ 5-9 ขวบ มีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนสูงสุดเท่ากับ 5.9
...
จุดเกิดเหตุแหล่งน้ำตามธรรมชาติร้อยละ 29.4 สระว่ายน้ำร้อยละ 7.2 อ่างอาบน้ำร้อยละ 4.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเสียชีวิตสูงสุดในอัตราเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 5.7 รองลงมาภาคกลาง 4.9
สะท้อนว่า...ปัญหาเด็กไทยจมน้ำนี้มีมากเป็นอันดับ 1 ถ้าเทียบกับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ทั้งโรคติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ สำหรับจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด คือ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น นราธิวาส สกลนคร นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ และสงขลา
เฉพาะในปี 2564 ก็มีเหตุเด็กอายุ 7-9 ขวบ ชวนกันเล่นน้ำคลองขุดลอกใหม่ และเด็กจมน้ำเสียชีวิต 3 คน ในพื้นที่ อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ล่าสุด “นักเรียน ม.3 ใน จ.กาฬสินธุ์” ก็จมน้ำเสียชีวิตในหนองน้ำใกล้โรงเรียนระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ เพราะ “ว่ายน้ำไม่เป็น” อีกทั้ง “ครู” ยังไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน
ปิดภาคเรียนนี้เป็นช่วงหมดฤดูฝนใหม่ที่ยังมีปริมาณน้ำอยู่มากอันจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุเด็กจมน้ำนั้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บอกว่า
ช่วงปิดเทอมใหญ่ “เด็กนักเรียน” เว้นว่างจากการเรียนไม่มีกิจกรรม ทั้งยังเป็นช่วง “ฤดูร้อน” อากาศตอนกลางวันค่อนข้างร้อนจัด “เด็กมักแอบหนีผู้ปกครองชวนกันไปเล่นน้ำ” ส่งผลให้มักมีข่าวร้ายกันบ่อยในเหตุ “เด็กตกน้ำ หรือจมน้ำเสียชีวิตสูงทุกปี” กลายเป็นช่วง 4 เดือนอันตรายที่ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
แต่ความจริงแล้ว “เด็กจมน้ำเสียชีวิต” ไม่ได้เกี่ยวโดยตรงกับ “ฤดูกาล” แต่มักมีความสัมพันธ์อยู่กับ “การปิดเทอม” ถ้ามีการย้ายช่วงปิดเทอมตรง “ฤดูใด” ก็คงมีตัวเลขเด็กจมน้ำสูงในช่วงนั้นเช่นเดิม
ส่วนใหญ่มักเป็น...“เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ” ที่ต้องตกเป็นเหยื่อการจมน้ำนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ คือ กลุ่มแรก...“เด็กอายุ 6-10 ขวบ” เป็นเด็กเล็กเข้าสู่วัยเด็กโต เริ่มออกวิ่งเล่นกับเพื่อนนอกบ้านเคลื่อนตัวไปไกลสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ เช่น หากหิวข้าวกลับบ้านมากินเอง ทำให้ “ผู้ปกครอง” เชื่อว่า “เด็กดูแลตัวเองได้ดี”
และคิดว่าเด็กรู้ความเสี่ยงอันตรายหลีกเลี่ยงภัยด้วยตนเองได้ จึงไม่เฝ้าดูใกล้ชิดอนุญาตปล่อยให้ไปเล่นนอกบ้าน แต่กลับแอบชวนกันไปเล่นน้ำตามบ่อ หนอง คลอง บึง สระว่ายน้ำในหมู่บ้านล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการจมน้ำทั้งสิ้น ในบางคนไม่ได้จงใจไปเล่นน้ำด้วยซ้ำ แต่อาจพลัดตกจมน้ำเสียชีวิตได้เสมอ
...
จริงๆแล้ว...“เด็กวัย 6 ขวบขึ้นไป” เป็นช่วงการเรียนรู้ ทั้งร่างกาย ความคิดทางเหตุผล และรู้จักผลกระทบความสัมพันธ์ความเสี่ยงได้ดี ดังนั้นถ้า “ผู้ปกครอง” บอกกล่าวสอนให้เด็กรู้จุดพื้นที่เสี่ยงอันตราย และฝึกฝนทักษะเอาตัวรอดจากการจมน้ำอย่าง “การลอยตัวนิ่งในน้ำ” ให้เด็กเกิดความคุ้นเคยโดยที่ไม่แสดงอาการตกใจ
ตั้งแต่การลอยน้ำแบบคว่ำ หรือหงายหน้า ทั้งยังว่ายเป็นท่าได้ดีแล้วจะเป็นการเพิ่มทักษะการเอาตัวรอดกรณีเกิดเหตุ “ไม่ให้เด็กจมน้ำ” ได้อย่างดี แต่อาจต้องได้รับการฝึกฝนจาก “ครูผู้เชี่ยวชาญ” อย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน
กลุ่มที่สอง...“เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ” เริ่มจาก “เด็กอายุ 3-5 ขวบ” มีลักษณะจมน้ำตามแหล่งน้ำรอบบ้าน เช่น บ่อน้ำ คลอง แอ่งน้ำ สาเหตุ “ผู้ดูแลเผอเรอชั่วครู่” ทั้งที่รู้เด็กอยู่ใกล้น้ำย่อมเป็นอันตรายยังปล่อยให้อยู่ลำพัง เช่น เดินหยิบสิ่งของห่างจากเด็ก รับโทรศัพท์ เปิดปิดประตูบ้าน ทำกับข้าว หรือเข้าห้องน้ำเพียงเสี้ยวนาทีเท่านั้น
ทว่า “เด็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ” กำลังหัดนั่ง คลาน ยืน มักจมน้ำเสียชีวิตตามแหล่งน้ำขนาดเล็กภายในบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง อ่างในห้องน้ำ เพราะแม้ว่า “เด็กวัยนี้ทรงตัวไม่ดี” แต่ก็สามารถเคลื่อนตัวไปยังจุดแหล่งน้ำได้อยู่เสมอ ทำให้อาจล้มในท่าศีรษะทิ่มลงน้ำระดับเพียง 4-5 นิ้ว ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้แล้วด้วยซ้ำ
อันเกิดจาก “ความประมาท” ไม่ทันคิดว่า “แหล่งน้ำ” ภาชนะในบ้านจะเป็น “อันตราย” ทำให้เด็กจมน้ำ กลายเป็นเหตุโศกเศร้าของครอบครัวให้เห็นกันบ่อยๆ ดังนั้น “ผู้ปกครองควรสำรวจสภาพรอบบ้าน” ถ้ามีแหล่งน้ำในบ้านต้องปิดฝามิดชิด ปิดประตูห้องน้ำ หรือทำคอกกั้นเด็กอยู่ในจุดปลอดภัย เพื่อไม่ให้เคลื่อนย้ายมาจุดอันตราย
...
ย้อนไปสมัย 10-20 ปีก่อนนี้ “เด็กจมน้ำเสียชีวิต” มีอัตราค่อนข้างสูงเฉลี่ยปีละ 1,600 ราย “หน่วยงานภาครัฐและเอกชน” ต่างตระหนักปัญหานี้ดำเนินการป้องกันในมาตรการต่อเนื่อง ตั้งแต่การรณรงค์ และสื่อสารความเสี่ยงต่างๆ ทั้งกำหนดวันเสาร์แรกของเดือน มี.ค.ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกัน เด็กจมน้ำมาตั้งแต่ปี 2552
ตอนนี้ “ตัวเลขการจมน้ำ” มีแนวโน้มลดลงเหลือเฉลี่ย 700 คนต่อปี หรือเฉลี่ยตายวันละ 2 คน แยกเป็นเด็กต่ำกว่าอายุ 5 ขวบ 200 กว่าคน เด็กอายุ 6-9 ขวบ 200 กว่าคน และกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี 100 กว่าคน ใน
ปี 2565 กำหนดเป้าหมายเด็กต่ำกว่า 15 ปี ต้องลดเหตุจมน้ำเสียชีวิต 2 ต่อ 1 แสน ของประชากร หรือ 200-250 คนต่อปี
ตอกย้ำอีกว่า “กลุ่มเหลืออยู่ 200 กว่าคนนี้” กลับมีแนวโน้มไปใน “กลุ่มเด็กยากจน” ลักษณะครอบครัวเปราะบางทางสังคม ทำให้เสี่ยงสูงจมน้ำมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะอาศัยตามชุมชนเมือง เช่น ครอบครัวยากจนอพยพเข้าเมืองมาอาศัยตามชุมชนแออัด หรือสลัม ในสภาพแวดล้อมที่แทบไม่สามารถป้องกันได้ด้วยซ้ำ
...
แม้แต่ “บางครอบครัว” ไม่มีศักยภาพดูแลบุตรหลานได้เลย เพราะไม่มีเวลาต้องออกไปทำมาหากินรับจ้างทั่วไป หรือออกไปทำงานกลางคืน ซ้ำร้ายพ่อแม่บางคนกลับติดยาเสพติดอีก ดังนั้น “ชุมชนเปราะบาง” มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ขาดความสามารถดูแลความปลอดภัย ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรท้องถิ่น
จัดตั้งผู้ช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองเด็กอันหมายถึง “สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” ในการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชนนี้ให้สามารถสนองต่อเงื่อนไขด้านค่าใช้จ่ายของครอบครัว ที่ต้องมุ่งหารายได้เพื่อความอยู่รอดด้วย
ประการต่อมา...“มาตรการป้องกันเด็กวัย 6 ขวบขึ้นไป” เน้นเพิ่มทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ คือ 1.รู้จักหลีกเลี่ยงเข้าใกล้จุดเสี่ยง 2.ลอยตัวได้ 3 นาที 3.ว่ายท่าอะไรก็ได้ 15 เมตรตะกายเข้าฝั่ง 4.ช่วยเพื่อนถูกวิธีโดยตะโกน โยน ยื่น 5.ใช้ชูชีพเสมอเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ หรือต้องทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง
กลยุทธ์นี้จะทำให้เกิดการสอนทักษะในวงกว้างต้องเสริมพลังผู้สอนนอกระบบการศึกษา เช่น ครูสอนว่ายน้ำตามสระต่างๆ ให้สามารถรับภารกิจนี้ไปดำเนินการให้ได้ เพราะลำพังอาศัยการขยายผ่านโรงเรียนในระบบมักต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ไม่สามารถจัดการสอนการฝึกทักษะได้ทันการตายรายวันของเด็กได้แน่นอน
อีกทั้ง “จัดการชุมชนให้มีความปลอดภัย” ด้วยชุมชนกระจายความรู้จุดเสี่ยงข้อควรระวัง จัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นพื้นที่อันตรายให้ปลอดภัย โดยเฉพาะจัดพื้นที่สนามเด็กเล่นในชุมชนให้เด็กมีจุดร่วมกิจกรรม ขอเสนอให้ศูนย์เด็กและเยาวชนที่มีพี่เลี้ยงชุมชนดูแลเพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์การจัดการความปลอดภัยในเด็กได้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้นแล้ว...“ปิดเทอมนี้” ไม่อยากเห็น “เด็กต้องจมน้ำตาย” แล้วมาให้ความสำคัญกันแบบที่ว่า “วัวหายล้อมคอก” เพราะเรื่องนี้ไม่มีคำว่า “รายสุดท้าย” ดีที่สุดจึงต้องป้องกันทำให้ปลอดภัยก่อนการสูญเสีย.