“ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือขวัญและกำลังใจ การที่ทุกหน่วยของ อว.ร่วมมือร่วมใจกันเปิดโรงพยาบาลสนามก็เพื่อให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ ท่านทั้งหลายได้เสียภาษีให้รัฐบาลมาตั้งเป็นงบประมาณ สร้างโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล เมื่อมีวิกฤติ อว.พร้อมที่จะเป็นกองหนุนช่วย ถ้าจำเป็นจะขยายมากกว่า 12,000 กว่าเตียงที่มีอยู่ในเวลานี้อีก ก็จะเร่งทำ อยากบอกประชาชนไทยว่า “อย่าวิตกประเทศเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” และขอให้ความมั่นใจว่า “เราจะผ่านโควิด-19 ระลอก 3 ไปได้อย่างแน่นอน”

คำกล่าวของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระหว่างการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ อว. ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) องครักษ์ จ.นครนายก

จากการระบาดของโควิดระลอก 3 อว.ได้เริ่มจัดหาโรงพยาบาล (รพ.) สนาม 3 รอบ รอบแรก วันที่ 9 เม.ย. เปิดที่ รพ.ธรรมศาสตร์ รังสิต 470 เตียง และ ที่ รพ.จักรีนฤบดินทร์ 400 เตียง ต่อมาวันที่ 11 เม.ย. เปิด รพ.สนามกระจายในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 23 แห่ง จากนั้นวันที่ 13 เม.ย. เปิด รพ.สนาม อีก 14 แห่ง รวมแล้วมีมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานวิจัยของ อว. 37 แห่งทั่วประเทศ รวมกัน 12,822 เตียง

ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

...

โดย รพ.สนามที่พร้อมรับผู้ป่วยปัจจุบันมี 8,427 เตียง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,020 เตียง ประกอบด้วย ปทุมธานี 620 เตียง นนทบุรี 40 เตียง สมุทรปราการ 360 เตียง ใช้ไปแล้ว 633 เตียงเหลือ 387 เตียง

ภาคเหนือ 1,043 เตียง ประกอบด้วย เชียงใหม่ 700 เตียง เชียงราย 200 เตียง พิษณุโลก 50 เตียง พะเยา 33 เตียง แพร่ 60 เตียง ใช้ไป 430 เตียง เหลือ 613 เตียง

ภาคกลาง 610 เตียง ประกอบด้วย นครนายก 300 เตียง สุพรรณบุรี 100 เตียง พระนครศรีอยุธยา 160 เตียง สมุทรสงคราม 50 เตียง ใช้ไป 13 เตียง คงเหลือ 597 เตียง

ภาคตะวันออก 320 เตียง คือที่ ฉะเชิงเทรา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,160 เตียง ประกอบด้วย อุดรธานี 686 เตียง อุบลราชธานี 160 เตียง ชัยภูมิ 638 เตียง บุรีรัมย์ 320 เตียง อำนาจเจริญ 300 เตียง ขอนแก่น 258 เตียง บึงกาฬ 50 เตียง นครราชสีมา 200 เตียง มหาสารคาม 72 เตียง สุรินทร์ 60 เตียง สกลนคร 296 เตียง ศรีสะเกษ 120 เตียง ใช้ไป 63 เตียง เหลือ 3,097 เตียง และ ภาคใต้ 2,274 เตียง ประกอบด้วย ภูเก็ต 150 เตียง พัทลุง 350 เตียง ยะลา 260 เตียง ประจวบฯ 144 เตียง นครศรีธรรมราช 100 เตียง นราธิวาส 80 เตียง ปัตตานี 70 เตียง กระบี่ 110 เตียง สงขลา 260 เตียง สุราษฎร์ธานี 750 เตียง ใช้ไป 40 เตียง เหลือ 2,234 เตียง

โดยยึดหลักว่าผู้ป่วยใกล้ที่ไหนไปที่นั่น

“ถึงจะมีผู้ป่วยใหม่เป็นพันรายต่อเนื่องหลายสัปดาห์ อว.ก็รับมืออยู่ ทุกชีวิตของประชาชนมีค่า เราจะดูแลและทำให้ดีที่สุด รพ.สนามเกือบทั้งหมด อยู่ภายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย รพ.สนาม อว.คำนึงถึงความสะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย เราได้เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมเพรียงเท่าที่จะทำได้ มีบุคลากรทางการแพทย์รองรับ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ และยังมีห้องสำหรับผู้ป่วยที่มาเป็นครอบครัวอีกด้วย ยืนยันว่าเราพร้อมเป็นกองหนุนให้กับทางจังหวัด สสจ. กระทรวงสาธารณสุข” รมว.อว.กล่าวและว่า

นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมขึ้นอีกทุกแห่งทุกจังหวัด และให้ประสานงานโดยทันทีกับทางจังหวัด สาธารณสุขในพื้นที่ และดำเนินการร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ที่สำคัญให้อธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยรายงานสถานการณ์ในพื้นที่มายังศูนย์ปฏิบัติการและบริหารการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของ อว.เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

...

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อว.มีคณะแพทยศาสตร์ 22 แห่ง มีโรงพยาบาลหลักที่มีจำนวนเตียงรวมกันกว่า 17,426 เตียง เช่น รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รพ.รามาธิบดี รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น พร้อมรับผู้ป่วยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยอาการรุนแรง ซึ่งโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยได้ร่วมเข้ามาบริหารสถานการณ์โควิดกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดยเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยหรือ UHOSNET ประชุมร่วมกันในศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกวัน ทั้งนี้โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งมีจำนวนเตียงเกือบสองหมื่นเตียงได้เลื่อนการบริการที่สามารถจะชะลอได้ เพื่อเตรียมกำลังไว้รองรับการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

...

“การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยไม่ให้เกิดสถานการณ์ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โดย อว.ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพื้นที่ เพื่อให้การดูแลในภาพรวมเป็นเอกภาพมีการ บริหารไปในทิศทางเดียวกัน พี่น้องประชาชนที่ติดเชื้อและมีความประสงค์จะใช้บริการโรงพยาบาลสนามจะต้องประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งจะดูแลในเบื้องต้นก่อน หลังจากผ่านการคัดกรองที่โรง-พยาบาลในแต่ละจุดแล้วแพทย์ประเมินว่าสามารถเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนามได้ แพทย์จะเป็นผู้ส่งต่อและเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามเอง ยืนยันว่า ขีดความสามารถรองรับของโรงพยาบาลสนามตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือผู้ติดเชื้อต้องอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 14 วัน ขณะนี้จากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั้งพื้นที่และจำนวนเตียงที่ อว. ดูแล สามารถครอบคลุมผู้ติดเชื้อได้หมดทุกคน” ปลัด อว.กล่าวและว่า รพ.สนามของ อว.ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้ทั่วประเทศ รวมแล้ว 1,179 เตียง ซึ่งทั้งหมดอาการไม่หนัก

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหาจากโควิด-19 ระลอก 3 คงมีแต่ความร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยรบช่วยฝ่าฟันในภาวะวิกฤติให้ผ่านไปให้ได้

แม้ รพ.สนาม อาจจะไม่สะดวกสบายมากมายนัก แต่ก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการแบ่งเบาภาระของ รพ.หลัก ที่ผู้ป่วยล้นทะลัก ทั้งสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้

ในสถานการณ์เช่นปัจจุบันนี้ คงต้องยอมรับว่า รพ.สนาม ของ อว. คือกองหนุนสำคัญที่สุดในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19.

ทีมข่าวอุดมศึกษา