• กระแสนิยมกิน "อูนิ" จ่ายราคาแพง เพื่อลิ้มลองของล้ำค่าจากท้องทะเล
  • เม่นทะเล นักทำความสะอาดคนสำคัญของแนวปะการัง
  • ทัวร์พากิน "อูนิ" เสิร์ฟสดๆ หวั่นกระทบแนวปารัง


ก่อนหน้านี้ ค่านิยมการบริโภค Uni (อูนิ) หรือ อัณฑะ กับ รังไข่ของเม่นทะเล ซึ่งหลายคนเรียกว่า "ไข่หอยเม่น" ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในประเทศไทย ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่รับประทานอูนิมานานแล้ว และอูนิ ยังจัดเป็นวัตถุดิบที่มีราคาแพง

แต่ต่อมา เมื่อคนไทยบางกลุ่ม ซึ่งต้องมีกำลังซื้อพอสมควร มีความต้องการบริโภค อูนิ มากขึ้น ร้านอาหารญี่ปุ่นบางร้านในประเทศไทย จึงมีการนำเข้า อูนิ ส่งตรงจากญี่ปุ่น โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมก็คือ Murasaki (มุราซากิ) และ Bafun (บาฟุน) ซึ่งอูนิเกรดพรีเมียมที่นำเข้านั้น กว่าจะได้ลิ้มลองก็ต้องจ่ายเงินพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานแบบโอมากาเสะ แบบซูชิ หรือแบบทั้งถาดก็ตาม

ทำให้ หลายคนเริ่มหันกลับมามอง "เม่นทะเล" ของไทย จนเกิดเป็นทัวร์จับเม่นทะเล และให้นักท่องเที่ยวได้รับประทาน อูนิ กันสดๆ ที่สำคัญคือได้รับความนิยมอย่างมาก จนหลายคนกังวลว่า ค่านิยมรับประทานเม่นทะเลตามแนวปะการัง จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทยหรือไม่

"เม่นทะเล" นักทำความสะอาดแห่งท้องทะเล

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เม่นทะเลมีมากกว่า 900 สายพันธุ์ กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ พบในทะเลลึกเกือบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นหาดหิน หาดทราย แนวปะการัง

ประโยชน์หลักของเม่นทะเล คือ ช่วยขูดและกินสาหร่ายที่เกาะปะการัง ซึ่งในแนวปะการังจะมีทั้งปะการังและสาหร่ายปะปนกันอยู่ สาหร่ายจะมีลักษณะเคลือบอยู่ตามปะการัง ก้อนหิน โดยเม่นทะเลจะขูดสาหร่ายกินไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดพื้นที่ว่าง ตัวอ่อนปะการังที่ลอยน้ำมาก็สามารถหาที่เกาะได้

...

กระแส "อูนิ" ฟีเวอร์ คนหัวใสทำทัวร์จับ "เม่นทะเล" หวั่นกระทบแนวปะการัง

หากไม่มีเม่นทะเล คอยกินสาหร่าย สาหร่ายก็จะเคลือบก้อนหินอยู่อย่างนั้น ตัวอ่อนปะการังก็จะลงเกาะไม่ได้ หรือลงเกาะได้ยาก ส่งผลกระทบให้ปะการังมีน้อยลง สาหร่ายยึดพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นกรณีปกติ จะไม่ส่งผลกระทบเท่าไร แต่เมื่อเกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งจะเกิดทุก 2-3 ปี จะทำให้ปะการังที่อ่อนแออยู่แล้วเสื่อมโทรม ที่สำคัญคือ เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว จะฟื้นฟูได้ยากมาก ถ้าเม่นทะเลหายไปจะยิ่งแย่ เพราะการฟื้นฟูเม่นทะเล ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน


ตามธรรมชาติ แนวประการังจะมีสัตว์หลายชนิดในการควบคุมสมดุล หลักๆ คือ ปลิงทะเล กับ เม่นทะเล ซึ่งแนวปะการังในเมืองไทยมีธาตุอาหารสูง ทำให้สาหร่ายโตง่าย หน้าที่ของ "ปลิงทะเล" จะกินตะกอน ส่วน "เม่นทะเล" จะกินสาหร่ายโดยตรง


บทเรียนแสนเศร้า "ปลิงทะเล" ถูกจับเกือบหมด

ผศ.ดร.ธรณ์ เล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน คือ ปลิงทะเลถูกจับเกือบหมด ตนขอยืนยันในฐานะคนที่ทำงานเรื่องนี้มานานพอสมควร ในอดีตเรามีประชากรปลิงทะเลในแนวปะการังมากกว่า 10 เท่าของปัจจุบัน หลังจากปลิงทะเลโดนจับ แม้ว่าจะเลิกจับแล้ว แต่จำนวนปลิงทะเลก็ไม่เคยกลับมาจำนวนเท่าเดิมอีกเลย

กระแส "อูนิ" ฟีเวอร์ คนหัวใสทำทัวร์จับ "เม่นทะเล" หวั่นกระทบแนวปะการัง

เมื่อไม่มีปลิงทะเลคอยกินตะกอน จะทำให้ตะกอนมีจำนวนมาก ซึ่งตะกอนเป็นปุ๋ยช่วยเร่งให้สาหร่ายโตเร็วขึ้น เมื่อสาหร่ายมีมากขึ้น ดังนั้นเม่นทะเลก็จำต้องมีมากขึ้นเพื่อกินสาหร่าย เรามีบทเรียนเรื่องปลิงทะเลแล้ว หากเม่นทะเลถูกจับ แม้ว่าจะเลิกจับก็จะเหมือนเดิม สิ่งที่ตามมาคือ แนวปะการังจะค่อยๆ พังไปเรื่อยๆ อาจจะไม่พร้อมกันทั่วประเทศ แต่ที่ไหนจับเม่นทะเลเยอะ แนวปะการังก็จะพังก่อน

กระแส "อูนิ" ฟีเวอร์ คนหัวใสทำทัวร์จับ "เม่นทะเล" หวั่นกระทบแนวปะการัง

...

เม่นทะเลในประเทศไทย มีหลายสายพันธุ์ ในแนวปะการังส่วนใหญ่ คือ เม่นทะเลสีดาหนามยาว เป็นสายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์อื่นๆ อีกประมาณ 10 ชนิด ซึ่งในท้องทะเลมีอีกหลายสิบสายพันธุ์ แต่ยังไม่มีใครไปศึกษารายละเอียดยิบย่อย

สำหรับเม่นทะเลไทย ที่ถูกคนจับกินจะเป็นเม่นหนามสั้น เพราะตัวอ้วนกว่า แกะง่ายกว่า แต่ปัญหาคือ เม่นทะเลหนามสั้นมีไม่มาก หากเทียบกับ เม่นทะเลหนาวยาว ดังนั้น คนจึงจับเม่นทะเลดำหนามยาวกันมาก เพราะเจอตัวได้ง่ายกว่า

เม่นทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงเม่นทะเล เริ่มเพาะเลี้ยงตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน หวังส่งญี่ปุ่น แต่มาทราบภายหลังว่า คนญี่ปุ่นไม่นิยมกินสายพันธุ์ของเรา เขากินสายพันธุ์ของเขา และสายพันธุ์เวียดนาม เพราะเม่นทะเลของไทย มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งปัจจุบันยังพยายามวิจัยกันอยู่

กระแส "อูนิ" ฟีเวอร์ คนหัวใสทำทัวร์จับ "เม่นทะเล" หวั่นกระทบแนวปะการัง

ปัญหาคือการเพาะเลี้ยงไม่ยาก แต่การเลี้ยงยาก เพราะหนามชนกัน หนามทิ่ม ปริมาณที่ได้น้อย ไม่คุ้มค่า เมื่อถามว่าสำเร็จไหม ตอบว่ามีการทดลองเลี้ยง วิจัย และเป็นฟาร์ม ซึ่งคำว่า "ฟาร์ม" ไม่ใช่แค่จับเม่นทะเลมารวมกัน แต่ต้องเป็นการเพาะพันธุ์ตั้งแต่ต้นมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เลี้ยงจนออกลูก และนำไปขาย

...

กระแส "อูนิ" ฟีเวอร์ คนหัวใสทำทัวร์จับ "เม่นทะเล" หวั่นกระทบแนวปะการัง

การจับเม่นทะเลตามแนวปะการังนั้น ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับร้านอาหารญี่ปุ่น เพราะเป็นการนำเข้า "อูนิ" มาจากญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นมีฟาร์ม เขาศึกษาพัฒนามานานแล้ว ต่างจากประเทศไทย ที่เมื่อก่อนไม่กินเม่นทะเลเลย จนกระทั่งได้รับความนิยมมาจากญี่ปุ่น ดังนั้นคิดว่าในประเทศไทยจะมีการเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์มจึงยาก หลายพื้นที่ความต้องการไม่สูง

ทัวร์หัวใสพากิน "เม่นทะเล" แนวปะการัง ทุบหม้อข้าวตัวเอง

ความนิยมที่พูดถึงคือ "การพาทัวร์ไปกินเม่นทะเลตามแนวปะการังโดยเฉพาะ" เกาะบางแห่งในภาคตะวันออก มีการโปรโมตในอินเทอร์เน็ต เมื่อชาวบ้านเห็นว่าคนในพื้นที่ทำทัวร์ ก็ทำตามๆ กัน เพราะฉะนั้นจึงห่วงบางจุด ไม่ใช่ทั้งประเทศ

ที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีการเลียนแบบเร็วมาก เม่นทะเลอาจหมดได้ภายใน 1 ปีกว่า ไม่ใช่ค่อยๆ หมด ดังนั้นจึงต้องเตือนเผื่อไว้ล่วงหน้า หากปล่อยให้ถึงช่วงพีคแล้วจะหยุดไม่ทัน

ขณะนี้ ชาวบ้านหลายเจ้าเริ่มทำทัวร์กันมาก สิ่งที่ต้องการจะพูดคือ เม่นทะเลไม่สามารถทำเป็นสัตว์คุ้มครองได้เพราะยากมาก ดังนั้น คนต้องมีจิตสำนึก ต้องกระจายข่าวให้คนที่คิดจะจองทัวร์ไปกินเม่นทะเลตามแนวปะการังได้ทราบว่า เขากำลังจะไปทำลายแนวปะการัง ความนิยมก็จะหายไป ทัวร์ก็จะลดลง

...

กระแส "อูนิ" ฟีเวอร์ คนหัวใสทำทัวร์จับ "เม่นทะเล" หวั่นกระทบแนวปะการัง

สำหรับคนที่ทำทัวร์เอง ก็กำลังทุบหม้อข้าวตัวเอง ยกตัวอย่าง ลุงเอ ทำทัวร์แนวปะการัง มีคนมาเที่ยวอยู่แล้ว แต่ลุงเอเห็นว่ามีกระแสกินเม่นทะเล ซึ่งเม่นทะเลมีอยู่ในแนวปะการังอยู่แล้ว จึงเพิ่มการกินเม่นเข้ามาในทัวร์ มีการโฆษณาให้คนสนใจมากขึ้น

แต่เมื่อพาคนไปกินเม่นทะเล จนเม่นทะเลหมด จะส่งผลกระทบทำให้แนวปะการังพัง ลุงเอจะต้องหาแนวปะการังใหม่ที่อาจจะไกลขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำลายแนวปะการัง หรือการทุบหม้อข้าวตัวเอง.

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟิก : Sathit Chuephanngam