“เชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษ” ที่ทั่วโลกหวั่นวิตกระบาดมาถึงประเทศไทยแล้ว หลังพบครั้งแรกที่อังกฤษเมื่อเดือนกันยายน 2563 จนนายกฯสหราชอาณาจักรต้องประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ด้วยสถิติที่น่ากังวลพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวพุ่งถึง 5 หมื่นราย
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ และหลายประเทศเร่งศึกษาเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ทำไมทำให้ระบาดเร็วขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น รวมถึงวัคซีนที่พัฒนากันอยู่ในขณะนี้จะต้านอยู่หรือไม่
กระนั้นแล้ว...อย่างไรเสียก็ให้รู้เอาไว้ว่า “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” นั้นระบาดเร็วขึ้น ติดง่ายขึ้น
“อยู่ที่ใดก็ติดเชื้อได้ ถ้าไม่ได้มีวินัยและรักษาระยะห่าง”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำอีกว่า ที่ผ่านมาการตรวจผู้ติดเชื้อที่เห็นในขณะนี้และระบุเน้นมีที่มาจากผับสถานบริการ แต่ต้องไม่ลืมว่าการติดเชื้อนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ ที่ไม่รักษาระยะห่างและคนทั่วไปวางใจ
...
เพราะ...เป็นการแพร่โดยไม่มีอาการ แต่เมื่อตรวจจริงมาดูข้อมูลจริงๆ ในพื้นที่หมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดหนึ่ง ที่ไม่ได้มีสถานบริการอย่างเช่น กทม. หรือในเขตจังหวัดใหญ่
ตรวจ 1,159 รายในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 129 ราย และต่อมาในการตรวจ 455 ราย ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 32 ราย
ในโรงงานเดียวจังหวัดหนึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตรวจ 1,901 ราย พบว่าติดเชื้อ 283 ราย และสามารถแพร่เชื้อได้ 148 ราย และในช่วงเดือนมีนาคมตรวจ 1,854 รายมีติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 538 รายและแพร่เชื้อได้ 200 ราย หรือในเรือนจำที่แออัดมีติดเชื้อหนึ่งรายก็แพร่ไปหมด
“มาตรการมาตรฐานในการป้องกันการแพร่เชื้อต้องตั้งอยู่ในหลักการการแพร่เชื้อและการป้องกัน ในบริบทเดียวกันการตรวจในปัจจุบันนี้ ต้องระบุเป็นการตรวจเชิงรุกในกลุ่มที่เกิดเหตุตามสถานการณ์เท่านั้น”
สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 3 เห็นได้จาก...“ผู้ติดเชื้อ” ที่พบหาเส้นทางโยงใยไม่ได้ชัดเจน และทำให้มีโอกาสขยายการติดไปได้โดยติดตามไม่ได้ ประเด็นถัดมา...และเริ่มเห็นคนติดเชื้อที่มีความผิดปกติ จากการตรวจ เช่น เอกซเรย์ปอด หรือการตรวจทางระบบอื่น ทั้งๆที่ไม่มีอาการและที่มีอาการ
อย่างไรเสีย “การรักษาระยะห่าง วินัย เป็นเรื่องจำเป็น” จากบทเรียนการตรวจเชื้อที่ผ่านมา...โรงงานแห่งหนึ่งที่สมุทรสาคร bubble and seal ผล...แพร่กันต่อ ตรวจครั้งแรกวันที่ 27 มกราคม ประมาณ 2,200 คน มีเชื้อจากแยงจมูก 300 คน คัดออก ที่เหลือ 1,900 คน ทำงานต่อที่โรงงาน...ที่พักในและนอกโรงงาน
ตรวจหลังจากนั้น ครั้งที่ 1 (14 ก.พ.64) มีเลือดบวก 283 คน และในจำนวนนี้ยังปล่อยเชื้อได้ 148 คน ตรวจครั้งที่ 2 (5 มี.ค.64) มีเลือดบวก 538 ราย และเป็นคนที่เลือดบวกทั้งครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง 230 ราย...
แสดงว่ามี “ผู้ที่ติดเชื้อใหม่” อีก และเมื่อตรวจหาเชื้อพบว่าสามารถปล่อยเชื้อได้ 200 ราย
หมายความว่า...การแยงจมูกตรวจเชื้อครั้งเดียว ไม่แน่นอน ย้ำครั้งที่หนึ่งล้านหนึ่ง...แยงหนึ่งครั้ง อาจหลุด เพราะเชื้อยังไม่ออก หรือยังน้อยตรวจไม่เจอ การแยงไม่สมบูรณ์ ต้องแยง 2 ครั้งขึ้นไป
เหตุการณ์ในโรงพยาบาลหลายแห่งบุคลากรติดโควิด ถ้าเป็น ไปได้...Rapid test ที่มีความไว 100% จะเป็นทางออก
...
“การคิดว่าคนที่เหลือไม่มีเชื้อ จากการตรวจแยง ปลอดภัย เป็นเรื่องไม่ปลอดภัย...การที่พบเลือดเป็นบวก และมีภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสในเลือดได้ในระดับสูง ไม่ได้เป็นเครื่องแสดงว่าปล่อยเชื้อไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตที่ดูประวัติการฉีดวัคซีนและดูผลเลือด”
นอกจากนี้แล้ว...การแพร่โดยไม่มีอาการยังคงเป็นการแพร่ที่มีประสิทธิภาพจากการตรวจครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองห่างกันสามสัปดาห์มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 255 ราย (583-238) และในการตรวจครั้งที่สองนี้ พบว่ายังแพร่เชื้อได้ 200 ราย...ถึงแม้ว่าผู้ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ แต่ความสามารถในการแพร่ต่อไปเรื่อยๆยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์
เมื่อออกไปยังชุมชนทั่วไปที่เปราะบางจะเกิดอาการขึ้น
ประการสำคัญก็คือการแพร่ไปเรื่อยๆ ในลักษณะที่ไม่รู้ตัวแบบนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ไวรัสมีการพัฒนาการและกลายเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการแพร่กระจาย และดื้อต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่
สถานการณ์วันนี้...แม้ว่าหลายๆคนยังเป็นกังวล แต่ในเมื่อชีวิตต้องก้าวเดินกันต่อไป ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกอีกว่า วัคซีน...ยังเป็นเรื่องความจำเป็นอย่างเร่งด่วน คลุมให้มากสุดทั่วประเทศให้เร็วที่สุด แม้ว่ามีผลข้างเคียง แต่เราเริ่มสังเกต มองออก และป้องกัน รักษาได้
...
“ต้องขยายการฉีด จัดหาวัคซีน รวมทั้งภาครัฐ เอกชน ใช้ระบบการฉีด ทะเบียน ติดตาม แบบเดียวกัน เอกชน...ไม่ถือโอกาสค้ากำไรอย่างไม่สมเหตุสมผล และเมื่อเกิดผลข้างเคียงอย่างเลี่ยงไม่ได้ กรณีของเอกชนเป็นการรับผิดชอบของใคร?”
ประเทศอิสราเอล ฉีดทั้งประเทศแล้วและได้ผล แต่ยังตระหนักว่า “ยังคงติดเชื้อได้ แต่ตนเองไม่ตาย และถ้าเกิดติดยังสามารถปล่อยได้ โดยเชื้อที่ปล่อยน้อยและปล่อยสั้นลง”
อัปเดตข้อมูลวัคซีนเมื่อต้นเดือนเมษายนมีว่า...วัคซีนแอสตราเซเนกา มีการฉีดไปไม่นานนัก อาจต้องวิเคราะห์ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ทั้งที่แบบที่เกิดในต่างประเทศและในประเทศ
หมอดื้อ บอกว่า ต่างประเทศในคนอายุน้อยกว่า 55 ปี...ผู้หญิงมากกว่าที่เป็นลักษณะ VIPIT vaccine induced prothrombotic immune thrombocytopenia...ลิ่มเลือด และเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีนทำให้เกิดภูมิต่อเกล็ดเลือด ภายหลังจาก 3 วัน เป็น adaptive...ปรับตัวได้ และลักษณะที่เกิดไม่เลือกอายุ ภายใน 3-4 วันแรก บริเวณที่ฉีดแขนบวมปวดระบม รวมทั้งมีอาการไข้หนาวสั่นและอาจกระทบความดันโลหิต
“ต้องระวังในคนที่มีโรคเส้นเลือดผิดปกติอยู่แล้วไม่ว่าตีบหรือโป่งพอง ดังที่พบได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ...การที่ทราบความรุนแรง เกิดได้บ่อยแค่ไหน อย่างไร ในคนอายุต่างๆ มีโรคประจำตัวหรือไม่ ทำให้สร้างความมั่นใจมากขึ้น และการได้รับวัคซีนเป็นเรื่องจำเป็นมาก”
อนึ่ง คนที่ได้รับวัคซีนที่มีอาการข้างเคียง ที่ไม่ใช่ VIPIT พบว่ามาจากขวดเดียวกัน ที่แบ่งฉีดได้ และมีทั้งที่ไม่มีความผิดปกติในคนอื่นๆ ดังนั้น อาจเป็นปฏิกิริยาของคนที่ได้รับวัคซีนเอง
...
“วัคซีน”...ที่ได้ในไทย ทำการผลิตจากที่ใด เพราะขั้นตอนการผลิต แม้ทำตามที่ได้รับถ่ายทอดมา รวมทั้งมีวัตถุดิบต้นแบบ แต่แน่นอนเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนมากกว่ายาธรรมดาที่ได้มาบรรจุหลอดเลย เป็น biosimilar...ชีววัตถุคล้ายคลึงที่ต้องตามประเมิน
ตั้งสติร่ายคาถารับมือสู้กับการระบาดของไวรัส “โควิด-19” กันให้ดีๆ “ตื่นตัวแต่อย่าตื่นตูม”...ไม่ต้องเร่งรี่เดินทางเข้ามาตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลกันอย่างมโหฬาร หากสงสัยตนเอง...ไม่มีอาการ ทำง่ายๆ คือ...
แยกตัวห่างจากคนอื่น ใส่หน้ากาก กันไม่ให้เชื้อตนเอง (ถ้ามี)...แพร่ไป ล้างมือบ่อยที่สุด ไม่เอามือที่อาจติดเชื้อจากตนเองไปป้ายพื้นผิว กักตัว 14 วัน แม้ตนเองติดเชื้อมาระหว่างนี้จะหายเองได้และไม่แพร่เชื้อต่อ ถ้าอยากแน่ใจ ตอนจบอาจจะตรวจก็ได้ แม้ว่าอาจไม่จำเป็น...แต่ถ้ามีอาการ รีบแจ้งโรงพยาบาลเพื่อรักษา
ประเด็นสำคัญที่สุด...คือในช่วงที่ “กักตนเอง” นี้ ก็ไม่ “แพร่เชื้อ” ครับ.