- เช็งเม้ง ตรงกับวันไหน แนะขั้นตอนการไหว้ ต้องทำอย่างไร
- ยุคสมัยเปลี่ยน แต่หลักการยังคงเดิม ลูกหลานไหว้เช็งเม้งที่บ้าน
- ผู้ประกอบการ "เต็นท์เช่า" เงียบเหงา จากพิษโควิด-19
"เช็งเม้ง" ถือเป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน หลายคนที่แยกย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ จะเดินทางกลับมารวมตัว เพื่อไหว้สุสานของบรรพบุรุษอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลายครอบครัวไม่ได้เดินทางกลับมารวมตัวกันเหมือนเดิม ทั้งการเดินทางที่ไม่สะดวก อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องใช้จ่ายกันอย่างประหยัด แล้วจะมีวิธีใดบ้างที่ลูกหลานจะสามารถไหว้เช็งเม้งได้อย่างถูกต้อง และสะดวกต่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน
เช็งเม้ง 2564
นายเศรษฐพงษ์ จงสงวน สถาปนิกและอาจารย์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและวัฒนธรรมจีน กล่าวว่า "เช็งเม้ง" เป็นเทศกาลตามปฏิทินจีนจะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ กำหนดจากแนวโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกในจุด 15 องศา ซึ่งจะตรงกับช่วงวันที่ 4-5 เมษายน ของทุกปี เราจะเรียกว่า วันเช็งเม้ง เป็นเทศกาลที่คนจีนไปเยี่ยมสุสานบรรพบุรุษ หรือไปเคารพสุสานของผู้มีพระคุณ ซึ่งวันเช็งเม้งในปีนี้ตรงกับวันที่ 4 เมษายน 2564
...
แต่เพราะเดี๋ยวนี้ คนส่วนใหญ่มีเวลาน้อย อีกทั้งสุสานส่วนมากก็อยู่ชานเมือง นอกเมือง หรือต่างจังหวัด คนจึงนิยมไปไหว้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุด หรืออาจจะไหว้ก่อนวันเช็งเม้ง 15 วัน หรือหลังวันเช็งเม้ง 15 วัน
ในประเทศจีน "วันเช็งเม้ง" ถือเป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้คนไปทำพิธีเซ่นไหว้ เยี่ยมสุสาน ซึ่งคนจีนจะมีศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำหนึ่งคือ "เส่ามู่" คือ การไปเยี่ยมปัดกวาดหลุมศพ
หลักสำคัญของ เช็งเม้ง คือ การไปแสดงความกตัญญู โดยการดูแลสุสาน หรือหลุมศพของบรรพชน ตรวจดูว่าใน 1 ปีที่ผ่านมามีอะไรเสียหายหรือไม่ หากมีต้นไม้ ใบหญ้า ก็จัดการเอาออก
"ฮวงซุ้ย" ไม่ได้แปลว่า หลุมศพ แต่คนไทยนิยมเรียก
อาจารย์เศรษฐพงษ์ กล่าวว่า คนไทยเรียกคำว่า "ฮวงซุ้ย" แทนสุสาน หรือ หลุมศพ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า สุสาน ในภาษาจีนมีหลายคำ เช่น คำว่า "เฝิน" สมัยก่อนการสร้างสุสานจะต้องดูฮวงจุ้ย เมื่อเรียกเป็นคำไทยจึงเพี้ยนเป็น "ฮวงซุ้ย" เป็นความนิยมเรียกแบบไทยๆ
แต่การสร้างสุสานในปัจจุบัน บางครั้งจะมีการจัดที่ไว้เฉพาะ มีบริเวณที่มีคนดูแล เช่น สุสานของสมาคมจีน มูลนิธิต่างๆ ทำให้บางครั้งไม่ได้สร้างตามหลักฮวงจุ้ย 100% เพราะข้อจำกัดในการจัดที่ที่ไม่อาจเลือกได้มากนัก
ขั้นตอนการไหว้เช็งเม้ง ทำอย่างไร
ตามความเชื่อของจีน เมื่อไปถึงสุสานจะต้องทำความสะอาดหลุมศพ ป้ายชื่อบรรพบุรุษ รวมไปถึงการเติมสีลงในแผ่นป้าย ซึ่งในปัจจุบันมีบริการดังกล่าวเตรียมไว้ล่วงหน้าแลกกับการเสียค่าบริการ จากนั้นจะต้องไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสุสาน หรือ เทพเจ้าดูแลที่ดิน ในกรณีเป็นสุสานรวม ต่อมาคือการไหว้เจ้าที่บริเวณพื้นด้านซ้ายของหลุมศพ
ของไหว้เช็งเม้ง ได้แก่ ข้าว อาหาร น้ำชา เหล้า ขนม ผลไม้ แต่ละอย่างที่กล่าวมาสามารถเลือกจัดได้ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความพร้อมตามกำลัง ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องไหว้ผลไม้ 5 อย่าง สามารถไหว้ผลไม้เพียงชนิดเดียวก็ได้
"หลักการของประเพณี คือ การไปแสดงความเคารพ ระลึกถึง ในสมัยโบราณมีเหล้าจีนขวดเล็กๆ ไปเซ่นไหว้ก็เพียงพอแล้ว และในปัจจุบันคนจีนสมัยใหม่ได้เปลี่ยนไปวางดอกไม้ที่หลุมศพ เพื่อแสดงความเคารพ แต่หากไม่ติดธุระหรือความจำเป็นอย่างอื่น ก็ควรไปเยี่ยมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง"
...
ข้อห้ามในวันเช็งเม้ง ส่ิงใดไม่ควรทำ
อาจารย์เศรษฐพงษ์ กล่าวว่า เวลาในการไหว้เช็งเม้ง ไม่มีข้อห้ามอะไร สามารถยึดฤกษ์สะดวก แต่หลักการของจีนโบราณที่สำคัญมี 1-3 ข้อ ดังนี้
1. ไปด้วยความเคารพ ไม่พูดคุยเรื่องไร้สาระ หรือหยอกล้อกันต่อหน้าสุสานบรรพบุรุษ
2. ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง พูดคำหยาบ
3. ไม่นั่ง หรือเหยียบย่ำสุสานผู้อื่น
สำหรับขั้นตอนการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษ เป็นความเชื่อตามยุคเก่า ส่วนใหญ่จะเตรียมเท่าที่เตรียมได้ เป็นการเผาเชิงสัญลักษณ์ว่า ลูกหลานได้มาเยี่ยมสุสานแล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่คนนิยมใช้กันคือ แถบกระดาษสีโปรยบนหลุมศพ เป็นสัญลักษณ์ว่าลูกหลานได้มาเยี่ยมแล้ว หลังจากเผากระดาษเสร็จ ลูกหลานจะจุดธูปกล่าวลา ซึ่งปกติคนจีนจะจุดธูปไหว้ 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เป็นการบอกกล่าวว่าเราได้มาเยี่ยมแล้ว
ครั้งที่ 2 เป็นการไหว้ ทำความเคารพ
ครั้งที่ 3 เป็นการบอกลา และเผากระดาษ
ความเชื่อแกะ "หอยแครง" วางที่หลุมศพ
การแกะหอยแครงวางหน้าหลุมศพ เป็นความเชื่อในบางท้องถิ่นของจีน เช่น คนจีนแต้จิ๋ว คนจีนฮกเกี้ยน เนื่องจากหอยแครงเป็นตัวแทนของเบี้ยโบราณ เมื่อโยนหอยแครงไว้หน้าฮวงซุ้ย จึงมีความเชื่อว่า จะมีเงินทองเพิ่มพูน เป็นสิริมงคล
...
สำหรับคนที่มีความจำเป็น ไม่สามารถเดินทางไปไหว้ที่ฮวงซุ้ย สามารถตั้งโต๊ะไหว้ที่บ้านได้ เพราะส่วนใหญ่แต่ละบ้านจะมีรูปของบรรพบุรุษอยู่แล้ว ดังนั้นก่อนวันเช็งเม้ง ให้จุดธูปบอกกล่าวว่า ในปีนี้จะขอไหว้ที่บ้าน เหมือนช่วงเทศกาลตรุษจีน หากเป็นธรรมเนียมเก่า ลูกหลานจะกลับมาไหว้ที่บ้านอีกครั้ง เพราะบางครอบครัวมีบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆ อยู่ที่ประเทศจีน
เมื่อถามถึงความเชื่อในการจุดประทัด ถามว่าจำเป็นไหม เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล บางคนเชื่อว่าจุดประทัดแล้วจะเจริญรุ่งเรือง แต่บางคนเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่ดี รบกวนบรรพบุรุษ
"อยากจะเน้นย้ำว่า การไหว้เช็งเม้ง เป็นการรวมตัวของลูกหลาน นอกจากจะเป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นการแสดงความสามัคคีในหมู่พี่น้อง รักษาความรักใคร่กลมเกลียวในครอบครัว อย่าไปทะเลาะกันที่สุสาน จะไม่เป็นสิริมงคล ครอบครัวจะเป็นสุขจะต้องรักใคร่ปรองดองกัน อันนี้คือสิ่งสำคัญจึงจะมีโชคดีเข้ามา" อาจารย์เศรษฐพงษ์ กล่าว
เต็นท์เช่าเงียบเหงา คนมาไหว้เช็งเม้งบางตา
...
จากการสอบถาม นายอำนาจ บุญเลิศ เจ้าของธุรกิจเครื่องเสียงและเต็นท์เช่าใน จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ตนทำธุรกิจมาประมาณ 6-7 ปีแล้ว แต่เมื่อปี 2563 ก่อนจะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโครานา 2019 หรือ โควิด-19 ช่วงนั้นธุรกิจกำลังไปได้ดี มีงานเข้าประมาณ 10 งานต่อเดือน พอมีคำสั่งห้ามจัดงานรื่นเริง งานก็หาย ตอนนั้นสตั้นเลย แต่ยังโชคดีที่เรายังมีงานอื่นๆ รองรับ จึงไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ผลกระทบหนักจะไปตกกับลูกน้อง เรียกได้ว่าเป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่แทบไม่มีงานเข้ามา จนตอนนี้ ธุรกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น
ในส่วนของเต็นท์เช่างานเช็งเม้งปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะสามารถจัดงานได้ แต่คนเช่าเบาบางลงมาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี และคนไม่ค่อยเดินทางมาไหว้ ปกติในวันเช็งเม้งของทุกปีจะมีคนเช่าเต็นท์กางหลุมศพอย่างน้อยประมาณ 20 หลังต่อวัน โดยจะคิดค่าบริการเช่าเต็นท์ ครึ่งวัน 600 บาท มีรายได้ต่อวันประมาณ 12,000 บาท ซึ่งสุสานแต่ละที่จะมีผู้ให้บริการเต็นท์เช่าหลายราย ไม่ใช่เราแค่เจ้าเดียว ดังนั้นก็จะแบ่งลูกค้ากันไป ส่วนในปีนี้ก็ยังต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร
สำหรับสถานการณ์ทั่วไปตอนนี้ เริ่มมีงานเลี้ยง งานบวช เข้ามาประมาณ 3-4 งานติดๆ กัน เหมือนที่ผ่านมาคนอั้นไว้ พอสถานการณ์ดีขึ้น คนก็รีบจัดงาน แต่ความอลังการของงานลดลง คือ ปกติคนจะจ้างแดนเซอร์ เครื่องเสียง เช่าเต็นท์ ตอนนี้คนตัดแดนเซอร์ออกเพื่อลดรายจ่าย เราเองต้องยอมรับภาระตรงนี้ ลูกน้องยังได้รับเงินเดือนแต่ไม่เยอะมาก หากมีงานก็จะให้เพิ่ม เพราะถ้าเราไม่ให้เขาเลย เขาก็จะไม่มีรายได้จากไหน.
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphum