“เมืองไทย” ว่า กันว่ามี “ยาเสพติด” มากถึง 120 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ...“ฝิ่น” จนกระทั่งก่อให้เกิด “ศูนย์ศึกษาวิวัฒนาการยาเสพติด หอฝิ่น” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ตามพระราชดำริ “สมเด็จย่า” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมท่องเที่ยวไทย ที่บ้านสบรวก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
“กัญชา” หรือ “Cannabis” แบ่งสปีชีส์เป็น Cannabis indica เรียก...“กัญชา” และ Cannabis sativa เรียก...“กัญชง” ก็รวมอยู่ในจำนวนนั้น โดยมีแหล่งกำเนิดแถบเอเชียกลางและใต้ ไหลจากอินเดียเข้าไทย
น่าสนใจว่ามีสรรพคุณรักษาโรคได้สารพัด เช่น มะเร็ง พาร์กินสัน ลมชัก ปลายประสาทเสื่อม รูมาตอยด์ อัลไซเมอร์...แต่กระนั้นก็มีสารเสพติดรุนแรงระบาดไปทั่ว ไม่ต่างเม็กซิโกนักค้ารายใหญ่ระดับโลก
ผลที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยต้องตรา พ.ร.บ.กัญชา ครั้งแรก พ.ศ.2477 ต่อมา พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ควบคุมเพื่อใช้ทางการแพทย์เฉพาะ...แต่ไม่วายถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด...เพราะกัญชาหาได้ง่ายกว่าไม้จิ้มฟันในร้านอาหารเสียอีก?
...
ภาพสะท้อนอีกมิติเหลี่ยมมุมเป็นเช่นนั้น...ทาสสารเสพติดจึงถูกตีตรวนติดคุกเหมือนหมูล้นคอก มหาอำนาจอย่างอเมริกา...แหล่งชุมนุมบุปผาชน “ฮิปปี้” พี้กัญชา ที่ รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) เคยนำชีวิตคนพวกนี้มาเขียนถึงในชุด “หลงกลิ่นกัญชา” ให้หนอนหนังสือยุคโก๋หลังวังอ่านระหว่างซดยาดองแกล้มมะขามเปียกก็มีให้เห็น
กระทั่งเกิดแรงขับเคลื่อนสังคมไทยเมื่อใกล้เลือกตั้งปี 2562 ได้ผลักดันกัญชายาเสพติดให้โทษประเภท 5 มาชูโรงหาเสียง เพื่อเปิดเสรีการปลูกและครอบครองโดยไม่ผิดกฎหมาย ผลคือได้รับเลือกตั้งเข้ามาหลายที่นั่ง
วันที่ 25 ก.พ.2564 บันทึกไว้ กระทรวงสาธารณสุขได้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 378 พ.ศ.2559 เรื่องการกำหนดพืช สัตว์ หรือส่วนของพืชหรือสัตว์ ที่ห้ามใช้ในอาหาร แล้วใช้ฉบับใหม่ตามปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 45 ง...สาระสำคัญยังคงให้สิ่งเหล่านี้เป็นของต้องห้าม
“กัญชา” เป็นพืชที่ถูกบรรจุรวมอยู่ท้ายประกาศ...แต่ให้ยกเว้นวัตถุหรือสารที่ผลิตขึ้นในประเทศ และมีคุณภาพมาตรฐานตามประกาศที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบ ซึ่งต้องไม่มียอดหรือช่อดอกเจ้าปัญหาติดมาด้วย...เพราะเป็นสารออกฤทธิ์สูงเหมาะใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ประชาชนกลุ่มเคมีตรงกันจะเอามาเสพเมาหัวทิ่มบ่อ...หรือเกิดอาการหลอนฆ่าใครต่อใครตามใจฉันนั้นไม่ได้
กระนั้น...ก็ยังยกเว้นสารสกัดที่มีสาร “แคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD)” เป็นส่วนประกอบ กับสาร “เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC)” ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักแห้ง...กากหรือเศษจากการสกัดให้มีเตตราไฮโดรฯ ไม่เกิน 0.2 เมื่อน้ำหนักแห้ง
หลังประกาศฉบับนี้...คนไทยได้ ฮ่า! ฮ่า! ฮ่า! กันครึ่งค่อนประเทศ ด้วยเข้าใจว่า...รัฐปลดล็อกสู่ห้วง “กัญชาเสรี” แล้ว...ซึ่งข้อเท็จจริงเพียงผ่อนปรน ไม่ถึงกับคลายปมให้ “ปลูกค้า” และ “เสพ” ภายใต้เงื่อนไข...
ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า...“ผู้ปลูก” ต้องรวมกันในรูปวิสาหกิจชุมชน 7 ครัวเรือน เพื่อขออนุญาต “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” หรือ “อย.” ซึ่งกำหนดให้ปลูกหลังบ้านได้ไม่เกินครัวเรือนละ 6 ต้น...ส่วนผู้ปลูกเพื่อจำหน่ายก็ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.ภายใต้ข้อจำกัดที่รัดกุมเช่นกัน
แล้วก็มาถึงขั้นตอนการนำ “ใบกัญชา” ประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย...แน่นอนว่าก็ต้องมีใบอนุญาตประกอบการรวมถึงคนปรุง แล้วต้องซื้อวัตถุดิบจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย
...
ที่สำคัญ...ต้องควบคุมผู้บริโภคมิให้เกินวันละ 5 ใบ...เพื่อป้องกันค่า THC ออกฤทธิ์สูงเกินมาตรฐานกำหนด
อีกทั้งงดให้บริการอาหารที่ปรุงด้วยกัญชาแก่เด็กอายุต่ำกว่า 25 ปี หรือหญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคไต หัวใจ กระทั่งผู้กินยาสลายลิ่มเลือด...ซึ่งเสี่ยงต่อสาร THC ที่มีอยู่ในนั้น
กฎกติกาข้างต้นเหล่านี้เป็นบริบทพื้นฐาน ที่ผู้คนควรรู้ก่อนเข้าร่วม “กระบวนการกัญชาเสรี” ตั้งแต่ พ.ศ.นี้นั่นเอง
...
มิติเดียวกัน...ระหว่างการแพร่ระบาดไวรัส “โควิด-19” แผลงฤทธิ์ไปทั่วโลก “สวนนงนุชพัทยา” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เจ้าของ “ท็อปเทนสวนสวยที่สุดของโลก” ก็เกิดแนวคิดพลังไดนามิกจัดสวน “กัญชงกัญชา” เป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่ ขึ้นมาเสริมเติมเต็มสวนสวยดั้งเดิมที่มีอยู่เก่าก่อน
สวนที่ว่านี้ออกแบบตกแต่งให้สร้างคุณประโยชน์แก่มนุษย์ ภายใต้ธีม “โรงเรือนวิจัยและพัฒนากัญชงและกัญชา (Research and Development House of Hemp and Cannabis)”
กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา บอกว่า โรงเรือนที่ว่านี้ใช้งบฯ 20 ล้านบาท มุ่งหมายให้เป็นแหล่งศึกษา วิจัย เรียนรู้ นอกเหนือเรือนศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสวน
“เราต้องการสร้างโชว์รูม ให้คนอยากมาสัมผัสการทำเกษตรปลูกกัญชาคุณภาพ แล้วส่งมอบรัฐโดยไม่มีผลตอบแทน ทั้งนี้ได้ทำสัญญาไว้กับสถาบันแพทย์แผนไทยไว้แล้ว กำลังรอใบอนุญาตจาก อย. หากได้มาก็จะดำเนินการทันที”
บนพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร วันนี้...งานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 80% ภายในเป็นห้องปลูก ห้องอนุบาลต้นอ่อน ห้องตัดแต่ง...ตากแห้ง ห้องสกัด ห้องทำงาน ซึ่งควบคุมอุณหภูมิอากาศ และแสงสว่างที่เหมาะกับการเจริญพันธุ์ โดยทีมนักวิจัยสวนนงนุชฯ เป็นผู้พัฒนาคุณภาพผลผลิต
...
นอกจากนี้แล้วยังมีบริเวณพื้นที่ปลูกที่ถูกจัดเป็นเขตหวงห้าม มีกล้องวงจรปิด 50 ตัวรายงาน พื้นที่นี้คนมาเที่ยวสามารถมองผ่านกระจกใสเห็นระยะใกล้ๆตรงหน้า...โดยภายนอกเป็นห้องแสดงนิทรรศการประกอบความรู้ ซึ่งจะบ่งบอกถึงคุณลักษณะกัญชาพืชล้มลุกสูง 3-5 เมตร มีใบ 5-7 แฉก กับแนวทางการวิจัยพันธุ์
นับรวมไปถึงขั้นตอนการเก็บ...ตากแห้งให้ถูกวิธี และช่วงเก็บดอกที่เหมาะสมกับการนำไปทำยาตามข้อกฎหมาย
“เราได้เตรียมจดลิขสิทธิ์เป็นของคนไทย และเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการส่งออกกัญชาให้ต่างชาติ ไปเป็นวัตถุดิบผลิตยาส่งกลับมาขายบ้านเราในราคาที่แพง” กัมพล ทิ้งท้าย
ยุควิถีใหม่ “นิวนอร์มอล” คงต้องยอมรับว่าการพัฒนาท่องเที่ยวให้เดินต่อไปได้ “เอกชน” คือ “หัวใจสำคัญ”...ที่มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างปัจจัยรองรับอุปสงค์ผู้บริโภค ได้แก่ “นักท่องเที่ยว”
โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติที่ต้องพึ่งตลาด “ไทยเที่ยวไทย” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสรรหาอุปทานที่เป็นโปรดักส์ใหม่ๆน่าสนใจ...มาสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นตลาด
ขจรเดช อภิชาติตรากุล ผอ.ททท. สำนักงานพัทยา เสริมว่า ททท.พัทยา พร้อมขานรับสิ่งแปลกใหม่ที่ว่านี้ เพื่อชวนคนไทยเที่ยวในประเทศสู่พัทยาและจะประสาน ททท.สำนักงานต่างประเทศทั่วโลก 29 แห่ง ลงมือขายตั้งแต่ไตรมาสสองให้ทันได้ทัวริสต์ต่างชาติอย่างน้อย 5 ถึง 6 ล้านคน ช่วงไตรมาสสุดท้ายปลายปีนี้
“ท่องเที่ยว” เป็นเรื่องละเอียดอ่อน...หากทุกฝ่ายร่วมมือกันย่อมได้ “สมการ” ตอบโจทย์ที่สมบูรณ์ เหมือนการนำพืชสีเทา...กัญชากัญชงมาฟอกขาวดึงดูดหนุนฟื้นอุตสาหกรรม “ท่องเที่ยวไทย” ช่วยกู้เศรษฐกิจ ชาติ...ท่ามกลางกระแสวิกฤติโควิด-19 ที่ย่ำแย่ในขณะนี้.