ในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่-กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่วมกับ Duke-NUS ของสิงคโปร์ ก็พบเชื้อไวรัสหน้าตาคล้ายเกือบเหมือน YN02 ในค้างคาวมงกุฎ R.acuminatus ที่ฉะเชิงเทรา (Nature communication 2021) ตั้งชื่อเป็น RacCS203

ทั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ทั้งไวรัสที่ได้จากการป้ายเก็บเชื้อจากทวาร รวมทั้งมีการเก็บเลือดหาลักษณะของการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสด้วย และที่น่าแปลกก็คือถึงแม้ว่าลักษณะของไวรัสนั้นจะขาดท่อนที่จับติดกับมนุษย์หรือส่วนที่เรียกว่า receptor binding domain (RBD) ก็ตาม แต่เลือดของค้างคาว ก็สามารถยับยั้งไวรัสที่อยู่ในกลุ่มโควิด-19 ได้ที่มีส่วนของ RBD

ดังนั้นวิธีการที่เราใช้ในการตรวจหาหลักฐาน การติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งโควิด-19 ได้ในคนนั้น ก็สามารถนำไปใช้ตรวจในสัตว์อื่นได้ไม่ว่าจะเป็นหมาแมวหรือค้างคาว และไม่ได้เลือกว่าภูมินั้นจะเป็นภูมิแบบชนิด IgG IgA IgM (surrogate isotype independent neutralizing antibody) ขอให้เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเบต้า บี หรือซาร์โคบี ที่รวมซาร์ส โควิด-19 และแม้แต่ตัวที่คล้ายคลึงกับโควิด-19 เช่นในกรณีนี้

การที่พบเชื้อไวรัสตัวแม่พิมพ์หรือตัวปั๊มแบบนี้ อย่าเข้าใจผิดนะครับว่า เชื้อไวรัส โควิด-19 มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งนี้เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยของค้างคาว สายพันธุ์นี้กว้างขวางไปหมดทั้งประเทศจีนและเอเชียกลาง พม่า ลาว เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เลยไปถึงอินโดนีเซีย

...

แต่ถิ่นของค้างคาว ที่ครองเชื้อคล้ายโควิด-19 นี้จะแตกต่างกับถิ่นของค้างคาวที่ครองเชื้อคล้ายซาร์ส (รูปภาพประกอบในวารสาร Nature communications)...การพบเชื้อในลักษณะนี้เป็นการตอกย้ำว่าในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีการควบรวมประกอบร่างของไวรัสที่เป็นตัวปั๊มหรือแม่พิมพ์ที่พร้อมจะผสมรวมกับไวรัสอื่นที่อยู่ในตระกูลโคโรนาในสัตว์อื่นๆ

และทั้งนี้แม้ตัวโควิด-19 เองก็ตามก็มีศักยภาพและความสามารถที่จะแพร่เข้าไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นทั้งหมา แมว เสือ ลิง ชะนีและมิ้งค์ ดังที่มีการฆ่าไปหลายล้านตัว และการที่จะเข้าไปในสัตว์อื่นนั้น ไวรัสจากคนเองต้องปรับเปลี่ยนหน้าตาเพื่อให้อยู่กับสัตว์ชนิดใหม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสที่อยู่กับสัตว์เหล่านี้มีรายงานทยอยตามกันมาว่าสามารถกลับเข้ามาติดมนุษย์ใหม่ได้

การที่มีหน้าตาผิดเพี้ยนไปอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าจะไม่ต้องวิ่งเข้าสัตว์อื่นแล้วกลับมาคนใหม่ แต่ที่มีการกระจายแพร่ในคนด้วยกันเองก็ทำให้เกิดหน้าตาเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะยังไม่ได้เรียกว่าเป็นกลุ่มวาเรียนท์ใหม่ก็ตาม โดยทำให้มีการติดเชื้อซ้ำครั้งที่สองแม้จะห่างจากการติดเชื้อครั้งแรกไปเพียงหกสัปดาห์ก็ตามอย่างที่พบในประเทศสหรัฐอเมริกา ในเอกวาดอร์ ในฮ่องกง ในประเทศสเปนและอีกหลายประเทศ

และเป็นหลักฐานว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ได้จากการติดเชื้อครั้งแรกนั้น เมื่อมาเจอเชื้อใหม่ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจะไม่สามารถทำอะไรได้

ในประเทศบราซิล เขตอเมซอน แม้ว่าจะมีการระบาดลุกลามไปมากมายในช่วงปี 2563 และดูสงบมาตลอดในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งแสดงว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่ ทั้งนี้คนไม่ต่ำกว่า 76% จะมีภูมิคุ้มกันที่น่าจะยับยั้งการติดเชื้อได้ แต่กลับปรากฏว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมากลับมีการระบาดใหม่โดยมีผู้เสียชีวิตและมีอาการหนักเข้าโรงพยาบาลมากมาย

ความสำคัญของการที่ไวรัสมีหน้าตาผิดเพี้ยนเหล่านี้ส่งผลไปถึงการวินิจฉัยที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่มีการแยงจมูกและลำคอ และหาชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสโดยการเพิ่มจำนวนให้ตรวจจับได้

ในเดือนตุลาคม 2563 คนไทยที่กลับจากซูดานและพบว่า 15 ราย จาก 77 รายที่ติดเชื้อและปล่อยเชื้อได้นั้น กระบวนการตรวจจับไม่สามารถจับเชื้อได้อย่างแม่นยำทั้งหมด โดยสามารถจับได้จาก 1 ใน 2 วิธี และวิธีที่จับได้นั้นไม่สามารถจับท่อนพันธุกรรมของไวรัสได้ทุกท่อน

สิ่งที่มนุษย์โลกต้องเผชิญต่อจากนี้ เป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างเชื้อโรคกับคน ทั้งนี้การหาไวรัสในสัตว์ต่างๆนั้น อาจเป็นเรื่องรองแล้ว

...

ทั้งนี้จากการที่เราสำรวจไวรัสในสัตว์ป่ารวมทั้งค้างคาวมา 20 ปีแล้ว พิสูจน์ยืนยันชัดเจนว่าไวรัสมีความสามารถในการผ่องถ่ายตัวเองจากสัตว์อมโรคโดยสัตว์ไม่มีอาการมายังสัตว์ชนิดอื่น และในที่สุดมาเข้าคนแล้วจากนั้นมีการติดต่อจากคนสู่คนด้วยกัน

สิ่งที่ต้องทำโดยรีบด่วนคือต้องมีความสามารถในการตอบโจทย์ว่า คนที่มีการติดเชื้อนั้น ติดเชื้อจากอะไร เชื้อที่ติดนั้นเป็นเชื้อที่เรารู้กันอยู่แล้ว หรือเป็นเชื้อที่หน้าตาเปลี่ยนไป เช่นกลุ่มวาเรียนท์ของโควิด-19 หรือจะเป็นโควิดหน้าตาใหม่เอี่ยม ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมกระทั่งถึงไวรัสในกลุ่มครอบครัวอื่นๆ ทั้ง 24 ครอบครัว เป็นต้น ซึ่งในที่สุดก็จะดาหน้าเข้ามาติดเชื้อในมนุษย์

และวิธีการตรวจนั้นต้องสามารถเข้าถึงได้ ตรวจได้รวดเร็ว จำนวนมาก และแน่นอนราคาจับต้องได้ และเมื่อทราบว่าเป็นเชื้ออะไร จะได้รักษาถูก ป้องกันได้ทันท่วงทีจนกระทั่งถึงพัฒนายาและวัคซีนแบบใหม่ขึ้นมาได้ทันกาล
เมื่อนั้นเราถึงจะเสมอกับเชื้อในสงครามครั้งนี้แต่ยังคงไม่ถึงกับชนะเด็ดขาด.


หมอดื้อ