คนร้ายใช้อาวุธปืนก่อเหตุ “ชิงทรัพย์ร้านทองหรือธนาคาร” ในห้างสรรพสินค้ามักเกิดถี่บ่อยมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสบานปลายเป็นเหตุปะทะกันระหว่างผู้ก่อเหตุ และเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นเหตุร้ายสะเทือนขวัญ “ผู้บริสุทธิ์ถูกลูกหลง” เกิดขึ้นได้เสมอ

เรื่องนี้จึงไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป “ทุกคน” มีโอกาสเผชิญตกอยู่ในสถานการณ์นี้ได้ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีวิธีหาทางเอาตัวรอดยามคับขัน ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาช่วยเหลือให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้

ในการเอาตัวรอดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนก่อเหตุนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผช.อธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต แนะนำว่า ถ้าคนร้ายใช้อาวุธปืนก่อเหตุสถานที่ “คนพลุกพล่าน” โดยเฉพาะภายในตัวอาคาร หรือห้างสรรพสินค้า

อันดับแรก...“ตั้งสติ” ด้วยการสงบสติอารมณ์ และค่อยพิสูจน์ให้ชัดเจน “เสียงปืน” ได้ยินมานั้นเป็นกิจกรรมจัดกันขึ้น หรือ “เป็นเหตุการณ์จริง” ที่มีข้อสังเกตเบื้องต้น...“เสียงปืนดังลักษณะระดับความถี่ขึ้นเรื่อยๆ” สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “เป็นสถานการณ์จริง” และรีบหาทางหนีทีไล่ ออกจากจุดเกิดเหตุนั้นโดยเร็วที่สุด

...

ถ้าไม่รู้เส้นทางหลบหนี หรือหนีไม่ทัน ต้องหาจุดหลบซ่อนตัว และหยิบจับวัตถุอยู่ใกล้ตัว เพื่อนำมาเป็นอาวุธป้องกันตัวไว้ก่อน เมื่อคนร้ายออกห่างจากตัว มีโอกาสค่อยหนีออกมา แต่ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์จวนตัว ที่คนร้ายใกล้เข้ามาประชิดตัวแล้ว หนทางสุดท้าย คือ “ต่อสู้เอาตัวรอด”...

หากตกอยู่ในฐานะ “เป็นตัวประกัน” ต้องพยายาม “พูดดีหว่านล้อม” ให้คนร้ายเห็นใจ เพราะบางครั้งคนร้ายอาจมีสติอยู่บ้าง ที่คงไม่ทำร้ายคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ห้ามใช้คำพูด...ก้าวร้าว หรือท้าทายเด็ดขาด

ทว่า...“แรงจูงใจคนร้าย” ในการก่อเหตุเกี่ยวกับทรัพย์ มี 2 ประเภท... คือ ประเภทที่หนึ่ง...บุคคลไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีเหตุจำเป็นต้องการ “ทรัพย์” ต่างมีข้ออ้างมากมาย ก่อนตัดสินใจก่อเหตุใช้ปืนจี้ชิงทรัพย์ ประเภทที่สอง...บุคคลมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน มักทำผิดกฎระเบียบสังคม และขยายเป็นละเมิดกฎหมาย

หลักสังเกต...การก่อเหตุของคนร้าย มักปิดบังใบหน้า หรือสวมหมวก เข้ามาวนเวียนบริเวณใกล้ร้านทอง หรือธนาคาร ในห้างสรรพสินค้า แต่ความรุนแรงต่อการก่อเหตุขึ้นอยู่กับทักษะผ่านการฝึกฝนมาหรือไม่ ส่วนใหญ่มักมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์เท่านั้น ยกเว้นที่บางคนทำให้คนร้ายรู้สึกถึงการเข้าขัดขวางก็อาจถูกทำร้ายได้

ถ้าพูดถึงประเด็น “พฤติกรรมคนร้าย” มักเริ่มจากการกระทำผิดกฎหมายเล็กน้อย ตั้งแต่ค้ายาเสพติด จากรายย่อยกลายเป็นพ่อค้ารายใหญ่ หรือก่อเหตุ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น จนถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อพ้นโทษออกมาสังคมไม่ให้การยอมรับ...ก็ต้องหวนกลับมาในเส้นทางอาชญากรเช่นเดิม

ทำให้การก่อเหตุครั้งต่อไป...มีประสบการณ์เรียนรู้ ในเรื่องการป้องกันตัวเอง ไม่ให้ถูกจับกุมได้ง่าย ด้วยการซื้ออาวุธปืนเถื่อน มาก่อเหตุหวังยกระดับความรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมากกว่าเดิม เช่น ใช้ปืนชิงทรัพย์ธนาคาร ที่ได้เงินครั้งละหลายแสนบาท หรือการจี้ชิงทองที่ได้เงินมากกว่าการวิ่งราวทรัพย์บนถนน

ในการก่อเหตุก็มีการเรียนรู้เตรียมสิ่งที่ต้องเผชิญมาเป็นอย่างดีด้วย เช่น...คนร้าย 2 คน ชิงทอง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการศึกษาเส้นทางหลบหนี ติดตามช่วงปฏิบัติหน้าที่ตำรวจมานานกว่า 3 สัปดาห์ จนทำให้ทราบว่า...“คนร้าย” ก็มีการวิเคราะห์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเช่นกัน

ส่วนเหตุประสงค์ต่อชีวิต...มีมูลเหตุไม่กี่เหตุผล ประการแรก...ความขัดแย้งทางธุรกิจ ประการที่สอง...เรื่องส่วนตัว “ชู้สาว ความโกรธ” แต่มูลเหตุเกิดขึ้นหลายคดี คือ...“ชู้สาว” กลุ่มนี้มีแรงจูงใจ...ให้ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเป็นพวกต้องการฆ่าตัวตาย เพราะผิดหวังจากความรัก จึงตัดสินใจก่อเหตุ

จริงๆแล้ว...“ห้างสรรพสินค้า” ต้องมีระบบสกัดคนร้าย ไม่ว่าจะร่วมมือกับตำรวจ ในการวางมาตรการป้องกันต่างๆ หรือห้างสรรพสินค้า อาจต้องออกแบบระบบสกัดกั้นด้วยกระจกนิรภัยทางเข้าออก

ย้อนไปเช่นกรณี “จี้ชิงทอง จ.ลพบุรี” มีประตูกระจก 2 ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน มีไว้ไม่ให้ความเย็นของแอร์ออกนอก และไม่ให้ความร้อนเข้ามา แต่ไม่สามารถสกัดคนร้ายได้ ในวันเกิดเหตุตามกล้องวงจรปิดนั้น จะเห็นว่า รปภ. ปิดประตูชั้นใน และคนร้ายพยายามเปิดประตูด้วยการใช้ตัวกระแทก จนประตูเปิดออก

...

หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ...“ห้างสรรพสินค้า” มักเป็นประตูกระจกนิรภัยกันกระสุน มีระบบควบคุมมาจากห้องปฏิบัติการ ที่เรียกว่า “คอนโทรลโซน” เมื่อคนร้ายก่อเหตุในห้างสรรพสินค้า ผู้ควบคุมระบบจะทำการล็อกขังคนร้ายให้อยู่ระหว่างประตูชั้นนอก และชั้นในได้ทันที เพื่อรอตำรวจมาดำเนินการต่อไป

อีกทั้งยังมีระบบควบคุมสกัด “ยานพาหนะคนร้าย” ในการหลบหนี ด้วยระบบตะปูโผล่ออกมาจากพื้น ทำให้เกิดอุปสรรคชะลอการหลบหนีได้ จนสามารถจับกุมง่ายขึ้น และยังมีระบบสแกนตรวจจับรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ในการส่งสัญญาณเตือนให้กับเจ้าหน้าที่ รปภ.ตรวจสอบได้อีกด้วย

ตอกย้ำว่า...“ประเทศไทย” ยังไม่มีการนำนวัตกรรมการสกัดคนร้ายนี้มาใช้กัน ดังนั้น “ห้างสรรพสินค้า” อาจต้องลงทุนเพิ่มระบบความปลอดภัย เพราะมักเป็นตั้งให้บริการทั้งร้านทอง ร้านเพชร และธนาคารมากมาย เพื่อลดความเสี่ยงโอกาสของการก่อเหตุ และมีความคุ้มค่ากับการลงทุนในสิ่งที่อาจจะเกิดการสูญเสียไปด้วยซ้ำ

เพราะที่ผ่านมาคดีก่อเหตุของคนร้าย มักหลบหนีได้เสมอถึงร้อยละ 60 ส่วนจับกุมคนร้ายได้ร้อยละ 40 มักเป็นเฉพาะคดีที่ประชาชน หรือสื่อมวลชนให้ความสนใจ

...

แต่หากมีระบบป้องกัน หรือสกัดกั้นคนร้ายหลบหนี สามารถจับกุมได้ทันควัน จะปิดช่องโอกาสให้คนคิดทำความผิดหันมาทบทวนใหม่ แม้คนร้ายมีการศึกษากลไกระบบป้องกัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการก่อเหตุอีกต่อไป

อีกทั้งการจับกุมคนร้ายได้แบบทันทีทันใด ที่ยังทำให้ประชาชนเกิดมีความรู้สึกว่า “หน่วยงานภาครัฐ” มีการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ประการต่อมา...ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมีแผนมาตรการระงับป้องกันการก่อเหตุคนร้ายอย่างดีอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมก่อเหตุ กลับมีการปรับเปลี่ยนจากการเรียนรู้ศึกษางานของหน่วยงานรัฐ ในโลกโซเชียล อยู่ตลอดเช่นกัน แม้ภาครัฐจะมีแผนมาตรการดีเพียงใด ก็ต้องทบทวนรูปแบบก่อเหตุอยู่เสมอ

เพราะคนร้ายยังมีการฝึกใช้อาวุธปืน จนมีทักษะการใช้อาวุธ และปรับเปลี่ยนลักษณะการก่อเหตุรูปแบบใหม่ๆ ต้องยอมรับว่า...คนร้ายบางคน มีความสามารถยิงปืนแม่นกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยซ้ำ

สาเหตุจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่มีเวลาทบทวนฝึกซ้อมยิงปืน และบางคนก็ไม่มีงบประมาณซื้อลูกกระสุนซ้อมยิงกัน ส่วนตัวองค์กรก็ขาดงบประมาณจัดอบรมใช้อาวุธปืนอีก ขณะที่รูปแบบการก่อเหตุกลับเปลี่ยนแปลงทุกวัน ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตรวจจับพฤติกรรมของคนร้ายฝ่ายเดียว

...

แต่ “คนร้าย”...ก็มีการศึกษาติดตามการทำงาน หรือการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน ทำให้ต้องพูดถึงเรื่อง “แนวคิดตำรวจสมัยใหม่” (Modern police concept) ที่ต้องจัดอบรมรูปแบบการก่อเหตุของคนร้าย ด้วยการจำลองเหตุการณ์ลักษณะต่างๆ ในการพัฒนาให้เทียบเท่าระดับสากล

ตัวอย่าง...เหตุชิงทอง ต้องมีหลักสูตรการระงับเหตุอีกแบบ ส่วนคนร้ายกราดยิง การปฏิบัติก็ต้องอีกแบบหนึ่ง ในแต่ละหลักสูตรมีรูปแบบการฝึกต่างกันออกไป ไม่ใช่เป็นหลักสูตรแบบร่วมเหมือนดั่งที่เป็นอยู่ตอนนี้

ในต่างประเทศ อาทิ “เอฟบีไอ สหรัฐอเมริกา” มีการเปิดหลักสูตรปฏิบัติการระงับเหตุต่างๆมากกว่า 100 หลักสูตร เพื่อให้ได้เจ้าหน้าที่พร้อมชำนาญการรับทุกเหตุการณ์ สามารถลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด

ต้องยอมรับว่า...“สังคมมีอันตรายมากขึ้น” ในเรื่องการก่อเหตุอาชญากรรม ที่มีความรุนแรงมากกว่าอดีต ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุ ที่ได้เรียนรู้จากคดีอื่นหรือคนในสังคมต่างมีความอดทนน้อยลง เพราะมุ่งเน้นเร่งพัฒนาเฉพาะการเจริญเติบโตของเมือง หรือเทคโนโลยี แต่ลืมให้ความสำคัญ “ยกระดับจิตใจคนในสังคมไทย”

เรื่องนี้ต้องปลูกฝังจิตสำนึก “ความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน” ที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต ในกิจกรรมทางศาสนา “ฟังเทศน์ ฟังธรรม” อย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้การละเมิดกฎหมายน้อยลงก็ได้...