2564 ถือเป็นอีกปีที่มีข้าวพันธุ์ใหม่ออกมาให้เราเห็น ล่าสุด ข้าวหอมจินดา และข้าวธัญญา 6401 ผลงานของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่นำมาอวดโฉมในงาน สวทช. 3 ทศวรรษ งานวิจัยด้านเกษตรและอาหาร “ความรู้ ความเชี่ยวชาญ สู่ความยั่งยืน”
ข้าวหอมจินดา...เป็นข้าวลูกผสมระหว่างข้าวหอมปทุม กับข้าวต้านทานโรคขอบใบแห้ง โดยเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาปรับปรุงพันธุ์ พัฒนาร่วมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร
เป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้านทานโรคขอบใบแห้ง จุดเด่น เมล็ดมีกลิ่นหอม นุ่ม ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ปลูกได้ตลอดปี ระยะเวลาการปลูก 110–120 วัน ผลผลิตไร่ละ
838 กิโลกรัม
หลังจากร่วมมือวิจัยกับสถาบันการศึกษา ขยายผลจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่มูลนิธิรวมใจพัฒนา ร่วมปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร จ.ชัยนาท จ. เพชรบูรณ์ จ.ลำปาง และ จ.เชียงใหม่
พบว่า ข้าวหอมจินดาปลูกได้แทบทุกพื้นที่ แต่เหมาะกับภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน จะให้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยส่วน ธัญญา 6401 เป็นข้าวลูกผสมระหว่าง กข 47 กับข้าวต้านทานโรคขอบใบแห้ง เป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้านทานโรคขอบใบแห้ง
จุดเด่น ทรงต้นตั้งตรง ลำต้นแข็งแรง แตกกอดี ปลูกได้ตลอดปี ระยะเวลาการปลูก 120 วัน ผลผลิตไร่ละ 750-800 กิโลกรัม
ผลการปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร จ.สุพรรณบุรี จ.นนทบุรี จ.ชัยนาท และ จ.กำแพงเพชร พบเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะจะปลูกในพื้นที่ภาคกลาง.
สะ-เล-เต