• เจาะกลยุทธ์ "วีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์" ชุบชีวิตธุรกิจ "การ์ดเกม"  
  • พูดคุยกับ "นุ-กฤช" เข้าวงการเทรดดิ้งการ์ด 2 ปี เปิดประมูลการ์ดโปเกมอน ได้เงิน 14 ล้าน
  • เทคนิค (ไม่) ลับ สร้างรายได้จาก "เทรดดิ้งการ์ด" 

หากพูดถึง "การ์ดเกม" หลายคนคงนึกถึง ภาพการ์ดกระดาษ มีรูปภาพตัวการ์ตูนสวยงาม มีค่าพลังกำกับ เช่น การ์ดยูกิ, การ์ดโปรเกมอน, การ์ดเมจิกเดอะแกเธอริง ซึ่งมีผู้เล่นเฉพาะกลุ่ม โดยจะต้องศึกษากฎกติกา ความสามารถของการ์ดแต่ละใบ เพื่อใช้ทักษะวางแผนเอาชนะคู่ต่อสู้ หรือ บางคนอาจที่ไม่ชอบความซับซ้อนอาจจะใช้วิธีเล่นเขี่ยไพ่ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดฮิตของเด็กไทยในยุค 90

ซึ่งในปัจจุบัน การ์ดเกม ได้พัฒนา มีการ์ดเกมใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการนำไปปรับเป็นเกมออนไลน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนยังชื่นชอบการเล่นแบบเผชิญหน้า หรือ การเล่นแบบคลาสสิก รวมไปถึงยังมีนักสะสมการ์ด และนักลงทุน ยอมทุ่มเงินหลักล้านเพื่อครอบครองการ์ดหายาก ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อย สงสัยเช่นกันว่า เหตุใดคนจึงยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อการ์ดใบเดียว

การ์ดเกม คืออะไร

นายวีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์ กรรมการ และผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท คิดซ์ แอนด์ คิทซ์ จำกัด กล่าวถึงนิยามคำว่า "การ์ดเกม" คือ กิจกรรมสันทนาการที่มีการใช้การ์ดหรือบัตรที่มีรูปภาพ มีค่าพลัง และความสามารถ เป็นเครื่องมือ จุดสำคัญของมันคือมีรูปภาพที่สวยงาม หรือบางทีก็มีคาแรกเตอร์การ์ตูนดังๆ ที่เรารู้จักกัน ทำให้เด็กๆ หรือนักสะสมชื่นชอบ

...

แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า การ์ดเกมคือไพ่ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว "การ์ดเกม" จะเหมือนกับ "หมากรุก" แต่ผู้เล่นการ์ดจะมีรูปแบบการเล่น และใช้จินตนาการหลากหลายกว่าการเล่นหมากรุก


ยุคมืด-ยุครุ่งเรือง "การ์ดเกม" ในประเทศไทย

นายวีระรัตน์ เล่าว่า บริษัท คิดซ์ แอนด์ คิทซ์ จำกัด เริ่มเปิดมาตั้งแต่ปี 2007 ประมาณ 13 ปีที่แล้ว ถือเป็นผู้นำการตลาดในธุรกิจการ์ดเกม จุดเริ่มต้นก่อนจะมาทำธุรกิจนี้เริ่มจากการธุรกิจของเล่นมาก่อน แต่ส่วนตัวชอบเล่นการ์ดมาตั้งแต่เด็ก และเห็นว่าเมืองไทย ยังไม่มีบริษัทที่ทำการ์ดเกมอย่างจริงจัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจการด์เกมของตน

ประวัติการ์ดเกมในเมืองไทย มีมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 20-25 ปี ส่วนตัวขอแบ่งเป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคแรก จะเป็นยุคเริ่มต้น ไม่มีการ์ดภาษาไทย มีแต่การ์ดนำเข้าจากต่างประเทศ มีทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น

ยุคที่สอง ประมาณปี 2542-2543 เป็นยุคที่การ์ดเกมเริ่มเป็นที่รู้จัก เรียกได้ว่าเป็น "ยุคทอง" ที่การ์ดเกมเบ่งบานในประเทศไทย เพราะเริ่มมีการ์ดเป็นภาษาไทย ทำให้ราคาถูกลง คนสามารถเข้าถึงการ์ดเกมได้ง่ายขึ้น และคนไทยทำการ์ดเกมกันเยอะ

ยุคที่สาม ประมาณปี 2546 เรียกได้ว่าเป็น "ยุคตกต่ำ" ของการ์ดเกม เนื่องจากเริ่มมีเกมออนไลน์เข้ามา ทำให้ธุรกิจการ์ดเกมถูก Digital Disruption ไม่ได้รับความนิยมเลยก็ว่าได้ คนที่เคยเล่นการ์ดในยุคนั้นจะหันไปหาเกมออนไลน์ แต่ในยุคนั้นยังไม่มีเกมมือถือ (Mobile Game) ไม่มีโซเชียลมีเดีย เหมือนในปัจจุบัน

ยุคที่สี่ ประมาณปี 2556 เป็นยุคใหม่ในรอบ 10 ปี หลังจากการ์ดเกมเข้าสู่ยุคตกต่ำ และเป็นช่วงที่ตนเริ่มเข้ามาในวงการพอดี ซึ่งหลายคนมักจะตั้งคำถามว่า ในเมื่อการ์ดเกมอยู่ในช่วงตกต่ำแล้วทำไมเลือกทำธุรกิจในช่วงนี้ สำหรับผมมองว่ามันมีช่องทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ โดยการนำ Business Model มาใช้ แต่สิ่งสำคัญเลยก็คือความชอบส่วนตัวที่เล่นการ์ดมาตั้งแต่เด็ก ทำให้มีโมเดลธุรกิจในใจ คิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วการ์ดเกมจะกลับมานิยมอีกครั้ง

กลยุทธ์ชุบชีวิตการ์ดเกม "ราคาถูก-ไม่ต้องสุ่ม"

สำหรับ Business Model หรือ กลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ที่นำมาใช้ อย่างแรกเรามองเห็นปัญหาของธุรกิจการ์ดเกม คือปัจจัยด้าน "ราคา" เมื่อราคาการ์ดสูง คนจะเข้าถึงการ์ดเกมได้ยาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาสูง คือ การนำเข้าจากต่างประเทศ และแม้จะเป็นการ์ดเกมของคนไทย แต่ยังจำหน่ายในรูปแบบของการสุ่ม หมายความว่า คนซื้ออาจจะไม่ได้ การ์ดแบบที่ตัวเองชอบทุกใบ

ยกตัวอย่าง ตนซื้อการ์ดมา 1 ซอง ราคา 50 บาท มีการ์ด 5 ใบ เฉลี่ยใบละ 10 บาท ตนจะไม่รู้เลยว่าจะได้การ์ดอะไร ในสมัยก่อนคนที่จะมีการ์ดดีๆ จะต้องเป็นคนที่มีเงินซื้อการ์ดเยอะๆ ส่วนตัวมองว่า คนมีเงินน้อยอาจจะไม่สนุกเพราะมีความเสี่ยง เงินซื้อการ์ด 50 บาท สามารถกินข้าวได้ 1 มื้อ ผมเลยคิดว่า ถ้าราคาถูกลงและเด็กๆ ไม่ต้องสุ่ม น่าจะเพิ่มโอกาสเข้าถึงการ์ดเกมได้ง่ายขึ้น คนจะมีการ์ดเท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำกันมาก ที่เหลือแข่งกันที่ฝีมือ ไม่อย่างนั้นคนที่มีโอกาสมากกว่าจะถือการ์ดที่เก่งกว่า มีเงินเยอะกว่าในการสุ่มก็จะชนะคนที่มีเงินน้อยกว่า

...

  • อันดับแรก จึงปรับราคาลงมา จากเดิมหนึ่งซอง 50 บาท ได้ 5 ใบ ปัจจุบัน 1 กล่องราคา 59 บาทได้ การ์ด 40 ใบ ราคาถูกลงเยอะมาก เพราะต้องการให้เด็กเข้าถึงสิ่งที่ดีๆ สนุกๆ ไม่ใช่แค่เด็กที่มีเงิน ถึงจับต้องได้
  • ข้อที่สอง ผู้เล่นได้การ์ดแบบที่ต้องการโดยไม่ต้องสุ่ม สามารถเลือกการ์ดที่ตัวเองชอบได้เลย
  • ข้อที่สาม ต้องอธิบายก่อนว่า เมื่อก่อนเวลาจะซื้อการ์ด สถานที่จะจำกัดอยู่ที่ร้านการ์ดเท่านั้น หลายคนไม่รู้ว่าร้านการ์ดเกมอยู่ที่ไหน ผมจึงมีความคิดว่า นอกจากราคาจะถูกลง ซื้อการ์ดที่ชอบโดยไม่ต้องสุ่มแล้ว หากเข้าถึงได้ง่าย เช่น ซื้อในร้านสะดวกซื้อ ร้านหนังสือ หรือตามร้านของเล่นทั่วไป คนจะเข้าถึงการ์ดเกมได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางให้หาซื้อได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องมีจุดดึงดูดของการ์ดเกม คือการนำการ์ตูนที่เกี่ยวกับการ์ดเกมมาฉาย ทำให้ดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความชอบ สามารถหาซื้อการ์ดเกมได้ง่ายและราคาถูก นี่ก็คือ Business Model ใหม่ที่สามารถปฏิวัติวงการการ์ดในช่วงนั้นได้จนถึงทุกวันนี้

ทำไม "การ์ดเกม" ได้รับความนิยมอีกครั้ง

นายวีระรัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวผมคิดว่าการ์ดเกมไม่ได้กลับมาบูม จริงๆ แล้วธุรกิจการ์ดเกมจะ "Stable" สร้างรายได้คงที่ โตแบบช้าๆ ไม่ได้บูมอะไรมากมาย แต่ที่คนทั่วไปรู้สึกว่ามันบูม เนื่องจากว่า มีกระแส ทำให้คนหันมาสนใจเฉยๆ แต่ถามว่าตลาดโดยรวมก็อยู่ในสภาพที่คงที่ เติบโตเล็กน้อย ปัจจุบันในเมืองไทยมีฐานคนเล่นการ์ดอยู่มีอยู่ไม่เกิน 5 แสนคน ซึ่งไม่ได้เยอะมาก

เมื่อถามถึงแนวโน้มการเติบโตของการ์ดเกม ผมมองว่าเป็นการเติบโตไปแบบช้าๆ เราไม่ได้มองคู่แข่งว่าเป็นการ์ดเกมด้วยกัน แต่เป็นกิจกรรมอื่น เช่น เกมมือถือ , E-sport, โซเชียลมีเดีย แม้กระทั่ง Clubhouse ก็เป็นกิจกรรมสันทนาการ ที่สามารถแย่งเวลาของคนที่เล่นการ์ดเกมไปได้ 

...

นายวีระรัตน์ กล่าวต่อว่า จริงๆ ในตลาดการ์ดเกม สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ กลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อสูง ผู้ใหญ่ในที่นี้อาจจะหมายความถึง คนวัยระดับมัธยมปลาย, มหาวิทยาลัย และวัยทำงาน สามารถซื้อการ์ดในราคาที่แพงขึ้นมาหน่อย ส่วนใหญ่จะบริโภคการ์ดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาญี่ปุ่น หรือการ์ดภาษาไทยที่มีราคาสูง

กลุ่มถัดมาคือ กลุ่มเด็ก ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายหลัก วัยประถมและมัธยมต้น มีกำลังซื้อไม่มาก ต้องเจียดเงินค่าขนมมาซื้อการ์ด จะเน้นการ์ดที่เป็นภาษาไทยราคาถูก เน้นนำมาเล่นกับเพื่อน ไม่ค่อยสะสม ต่างจากกลุ่มแรก นอกจากการเล่นแล้วจะมีการสะสมการ์ดเพื่อให้เกิดมูลค่าขึ้นมาอีกด้วย

"การสะสมไม่ว่าอะไรก็ตาม มันสามารถเป็นมูลค่าได้ ยกตัวอย่างคนเก็บของเก่าหรือคนที่มีเทปเพลง อย่างในยุคผม เป็นยุค 90 เทปเพลงบางตลับมีราคา ดังนั้น การ์ดเกมก็มีมูลค่าของมัน ประเด็นหลักอยู่ที่ความพึงพอใจ และต้องดูว่าตลาดให้ราคาหรือไม่ จริงๆ ประโยชน์ของการ์ดเกมคือความสนุก การเก็งกำไรขึ้นอยู่กับคุณค่าทางจิตใจ และความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย

...

สังเกตได้จากการประมูลการ์ด คุณค่าอยู่ที่ผู้ซื้อและผู้ขายเห็นตรงกัน บางครั้งเราไม่รู้เลยว่า ในอนาคตการ์ดใบนี้จะราคาแพงมากน้อยขนาดไหย เมื่อเวลาผ่านไป ก็เหมือนกับวัดดวง คนอาจจะนิยมเก็บการ์ดใบนี้ หรือการ์ดใบนี้มีจำนวนน้อย จนนักสะสมให้ความสนใจ บางคนยังไม่รู้เลยว่า การ์ดที่ตัวเองมีมูลค่า เพราะไม่เคยได้ข่าว และไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกครั้ง ไม่เหมือนกับการเทรดหุ้นที่ราคาหุ้นที่ขึ้น-ลงเป็นเรื่องปกติ"

ส่วนตัวผมไม่ได้สะสมการ์ด จะเป็นแนวเล่นเพื่อความสนุกมากกว่า และมองว่าการ์ดเกมเป็นเกมฝึกสมอง ปรัชญาของผมคือ ทำยังไงให้การ์ดเกมราคาถูก มีจำหน่ายทั่วไป เด็ก ๆ สามารถจับต้องได้ง่าย นอกจากนี้การเล่นการ์ดเกมเป็นกิจกรรมเข้าสังคม ทำให้เด็กๆ แทนที่จะนั่งเล่นเกมอยู่ที่บ้าน

การเล่นโมบายเกม ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่การ์ดเกมจะช่วยดึงให้เด็กเจอเพื่อน เพราะการ์ดเกมไม่สามารถเล่นคนเดียวได้ เมื่อเขาเล่นการ์ดเกม เขาก็ต้องเข้าสังคม เจอคน เผชิญหน้ากับคน ห่างไกลจากจอมือถือ

การ์ตูน กับการ์ดเกม เป็นของคู่กัน

นายวีระรัตน์ กล่าวว่า กลยุทธ์หลักของเราคือการใช้ตัว Animation หรือ ตัวการ์ตูน ซึ่งศัพท์ทางการตลาดเราเรียกว่า figure เป็นตัวกระตุ้นให้คนสนใจการ์ดเกม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักๆ คือเด็ก จึงต้องใช้ "การ์ตูน" ในการดึงดูด นี่คือกลยุทธ์อีกข้อคือ การใช้ Influencer Marketing หรือใช้คนที่มีชื่อเสียงในโซเชียลมาช่วยโปรโมต

ในปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กๆ ดูยูทูบกันเยอะ เราก็อาศัย Youtuber ที่เป็นขวัญใจเด็กๆ บอกถึงข้อดีว่าเล่นการ์ดเกมมีประโยชน์อย่างไร บอกในเรื่องของการแบ่งเวลา ทำกิจกรรมอื่นไปด้วย เล่นกีฬาด้วย เล่นการ์ดเกมด้วย เป็นส่วนของการใช้ Influencer Marketing เข้ามาเสริม ซึ่งใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้ผลดี ตลาดโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ในทุกปี ซึ่งโตอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบ

สำหรับการ์ดเกมของบริษัทฯ ที่ขายดีในประเทศไทยขณะนี้ มี 2 ตัว คือ Future Card Buddyfight และ Cardfight!! Vanguard มีทั้งการ์ตูนออนไลน์แอร์ และมีการ์ดขายด้วย อาจจะไม่คุ้นชื่อ เพราะตลาดเป็นกลุ่มเด็ก

ส่วนการ์ดที่คุ้นหูอย่าง "การ์ดยูกิ" จะเน้นเป็นการ์ดภาษาญี่ปุ่น ไม่มีภาษาไทย นิยมในกลุ่มนักสะสม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ตลาดนี้เป็นตลาดเล็ก แต่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งตอนนี้ก็กำลังพยายามที่จะแปลการ์ดเป็นภาษาไทย ซึ่งต้องใช้ความพยายามค่อนข้างมาก 

สาเหตุสำคัญที่ "การ์ดเกม" ยังอยู่ได้ ในยุคโมบายเกมและโซเชียลมีเดีย

นายวีระรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกิจกรรมทางเลือกหลากหลาย แต่จากการลงพื้นที่ได้สังเกตและสอบถาม ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมาว่า อันดับแรกคือ ความสนุกของ Face to Face การได้เผชิญหน้า ซึ่งส่วนนี้หาไม่ได้จากการเล่นโมบายเกม แม้ว่าจะมีการแข่งเหมือนกันแต่ต่างจากการ์ดเกมตรงที่ เมื่อเราไม่เจอหน้ากัน ความกดดันจะน้อยกว่า แต่ถ้าเราเจอหน้ากันเราจะต้องใช้จิตวิทยาในการควบคุมอารมณ์ ส่วนนี้เป็นเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้คนชื่นชอบเสน่ห์ของการที่ต้องมาเผชิญหน้ากัน

ส่วนข้อที่ 2 คือ การเล่นการ์ดเกมไม่ใช่ว่าคนที่มีเงินเยอะจะชนะเสมอไป อย่างหลายๆ เกมที่มีคนเรียกกันว่า "เทพทรู" ยิ่งมีเงินเยอะ เติมเงินเยอะก็ชนะ แต่การ์ดเกมเนี่ย ต่อให้ถือการ์ดที่ดีที่สุด แพงที่สุด คุณอาจจะแพ้คนที่ถือการ์ดกลางๆ ราคาถูกๆ ก็ได้ ถ้าคุณไม่เก่งจริง แม้ว่าตัวการ์ดช่วยคุณได้แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวเองและการวางแผน


ข้อสุดท้ายจากการที่ได้ไปสังเกต คือ การได้ community เพราะความสนุกไม่ได้จบที่การเล่น บางคนไม่ได้เล่นการ์ด แต่เข้ามาในสถานที่เล่นการ์ด เพราะมาเจอเพื่อน มาพูดคุย มายืนดู มาเชียร์เพื่อน เล่นเสร็จก็ไปสังสรรกันต่อ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมสังเกตได้ มันตอบโจทย์ผม ในคำถามที่ว่า "ปัจจุบันเกมมีเยอะแยะ อย่างเพลย์สเตชั่นออกมาใหม่ แต่เสน่ห์ของการ์ดเกม มันดึงดูดทำให้คนยังเล่นกันอยู่"

สัมภาษณ์ทางไกล "นุ-กฤช" การ์ดโปเกมอน 14 ล้าน

นอกจาก "การ์ดเกม" จะกลับมาได้รับความนิยมแล้ว เมื่อไม่นานมานี้หลายคนคงจะได้ยินข่าว หนุ่มไทยเปิดประมูลการ์ดเกม Pokémon topsun charizard 1/1 สุดหายาก คิดเป็นเงินไทย 14,436,000 บาท จนกลายเป็นกระแส "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" หลายคนเริ่มให้สนใจการ Trading Card (เทรดดิ้งการ์ด) มากขึ้น

จากการสอบถาม นายกฤช แก้วสุวรรณ หรือ คุณนุ หนุ่มไทยในนิวยอร์ก เจ้าของการ์ดหายาก มูลค่า 14 ล้านบาท อธิบายว่า ปกติแล้วการ์ดมีหลายประเภท การเทรดดิ้งการ์ด หรือ การ์ดสะสม จะประกอบด้วย การ์ดจากเกม การ์ดกีฬา หรือ สปอร์ตการ์ด (Sports Card), การ์ดภาพยนตร์ (Movie Card), การ์ดนักร้อง การ์ดดารา (Idol Card) จะมีการเทรดกันอยู่แล้ว เฉพาะกลุ่มของการ์ดแต่ละประเภท

นายกฤช แก้วสุวรรณ
นายกฤช แก้วสุวรรณ

สำหรับ "สปอร์ตการ์ด" มีมานานกว่า 50-60 ปี เมื่อก่อนสปอร์ตการ์ด เป็นแค่งานอดิเรกของเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ที่ชอบเก็บการ์ดนักกีฬาในดวงใจ พอผ่านมา 10 ปี 20 ปี เริ่มมีการพัฒนา คนซื้อขายการ์ดกันมากขึ้น การเทรดก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

หลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนสปอร์ตการ์ด ซึ่ง 3 ปีให้หลัง สปอร์ตการ์ดค่อนข้างเป็นที่นิยมจากหลายปัจจุจัย ไม่ว่าจะเป็นสื่อ คนที่เข้ามาในวงการสปอร์ตการ์ดมากขึ้น รวมไปถึงเซเลบ ดารา นักร้อง แม้กระทั่งนักกีฬาระดับโลก

ส่วน "การ์ดเกม" จะอยู่ใหมวดเทรดดิ้งเหมือนกัน แต่จะเป็นกลุ่มคนที่ชอบเกม อย่างเช่น การ์ดโปเกมอน การ์ดยูกิ การ์ดเมจิก หรือ Magic The Gathering (MTG) ที่เด็กไทยนิยมเล่น ซึ่งอเมริกาและทั่วโลกก็เล่นเหมือนกัน คนในกลุ่มการ์ดเกมจะเทรดการ์ดที่หายากๆ ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงที่สปอร์ตการ์ด และการ์ดเกม ราคาสูงขึ้นมาพอๆ กัน คาดว่าสาเหตุมาจากดารา ที่ทำให้กระแสบูมขึ้น

จุดเริ่มต้นก่อนเข้าวงการเทรดดิ้งการ์ด

นายกฤช เล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้วีซ่า มาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา ต้องแบ่งเวลาทำพาร์ทไทม์ในร้านอาหาร เพื่อหาค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ เหมือนเด็กทั่วไป ควบคู่กับขายของสตรีทแบรนด์ จนวันหนึ่งรู้สึกว่า สตรีทแบรนด์เริ่มเอาต์ ขายไม่ค่อยดี คู่แข่งเยอะ จึงหยุดทำ จนมาเจอกับ "สปอร์ตการ์ด" และเริ่มศึกษาจากการไม่รู้ ซึ่งสปอร์ตการ์ดมีมานานแล้ว แต่ตนเพิ่งเข้าวงการมาได้ 2 ปี

เริ่มจากการซื้อกล่องมาเปิด ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะได้การ์ดอะไร ต้องลุ้น การลงทุนแรกๆ ได้บ้างเสียบ้าง เลยลองนำการ์ดที่ได้ไปขายดูว่าจะมีคนซื้อไหม ลองโพสต์ขายไปใน eBay ปรากฏว่า มีคนกดซื้อ เลยรู้ว่าการ์ดสามารถสร้างรายได้ จึงลองซื้อกล่องมาเปิดเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่ความเสี่ยงสูง เพราะไม่รู้ว่าจะได้การ์ดนักกีฬาที่มีชื่อเสียงหรือไม่ ทำให้รู้สึกว่า การเปิดกล่อง ไม่ใช่การลงทุนที่ดีเท่าไร

และเมื่อศึกษาเยอะขึ้น ทำให้รู้ว่ามีอีกหลายช่องทาง ที่เราลงทุนกับสปอร์ตการ์ดได้ สามารถซื้อการ์ดใบที่ต้องการได้ หรือ การ์ดที่ทำคะแนนมาแล้ว เช่น การ์ดเกรด 9 หรือ เกรด 10 รอให้ราคาขึ้นแล้วขาย เปรียบเหมือนการลงทุนซื้อหุ้น ซื้อทอง แต่เป็นหุ้นตัวใหม่ ราคาค่อยๆ ขยับ แต่ราคาขึ้นชัวร์ รอ 1 ปี 2 ปี 

คะแนนการ์ด หรือเกรดการ์ด คืออะไร

นายกฤช เล่าต่อว่า ที่อเมริกาจะมีบริษัทประเมินคุณภาพของการ์ดแล้วจะให้คะแนนการ์ดที่เราส่งไปประเมิน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการทำเกรดประมาณ 70-100 เหรียญ (ประมาณ 2,000-3,000 บาท) แล้วแต่ระยะเวลาที่เราต้องการ หากการ์ดที่ส่งไปได้ 10 คะแนน นั่นจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของการ์ดทันที เพราะเป็นคะแนนที่สูงสุด หมายถึง การ์ดเพอร์เฟกต์ที่สุด ราคาการ์ดก็จะขยับขึ้นไปประมาณ 3-4 เท่า

สมมติการ์ดราคา 200 เหรียญ ประเมินได้ 10 คะแนน ราคาจะพุ่งขึ้น 800-1,000 เหรียญ ที่ผ่านมาผมเริ่มส่งการ์ดไปเกรดเหมือนกัน ได้ 10 บ้าง 9 บ้าง 8 บ้าง ก่อนจะนำมาลงขายใน eBay

"อยากให้หลายๆ คนเข้าใจก่อนว่า การเปิดการ์ดมาจากซอง แม้จะเป็นการ์ดใหม่ และไม่ได้นำไปเล่นก็จริง แต่ไม่ใช่ว่า จะได้ 10 คะแนน เพราะบางครั้ง การ์ดอาจเป็นรอยมาจากโรงงาน เช่น รอยที่มุมกระดาษ ดังนั้น โอกาสที่จะได้ 10 ค่อนข้างยาก"

วิธีดู "การ์ด" แบบไหนมีโอกาสได้เกรด 9 เกรด 10

การประเมินการ์ด จะมี 4 ช่อง ดังนี้ 1. ผิวของการ์ด ต้องไม่มีรอยขนแมวรอยขีดข่วนทั้งหน้าหลัง 2. ภาพปรินต์บนการ์ด เช่น รูปนักกีฬา จะต้องอยู่ตรงกลาง ไม่เบี้ยว 3. มุมทั้งสี่มุมต้องคม ไม่บิดงด 4. ขอบทั้ง 4 ด้าน ต้องไม่มีรอยกระดาษหลุด สีไม่ตก เหมือนกระดาษถูกฉีกออกไปหรือเป็นขุย หากการประเมิน 4 ข้อ ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ ก็จะได้เกรด 10

ขณะที่ การ์ดเกรด 9 และ เกรด 10 ราคายังต่างกันค่อนข้างมาก เช่น การ์ดเกรด 9 ราคาขาย 250 เหรียญ แต่ถ้าเกรด 10 ราคาจะพุ่งถึง 1,000 เหรียญ เนื่องจากนักสะสม ชอบเก็บการ์ดที่สมบูรณ์ อีกทั้งที่สหรัฐฯ มักมีการ์ดลิมิเต็ด ผลิตมาจำนวนจำกัด เช่น 1 หมื่นใบ ในจำนวนนี้ อาจมีการ์ดเกรด 10 แค่ประมาณ 1,000 ใบ เหมือนเป็น "แรร์ไอเทม" ของหายาก

คนยอมจ่าย 14 ล้านบาท แลกกับการ์ด 1 ใบ 

นายกฤช เล่าว่า ปกติผมซื้อขาย "สปอร์ตการ์ด" จึงค่อนข้างมีความรู้เกี่ยวกับสปอร์ตการ์ด แต่ไม่มีความรู้เรื่องการ์ดโปเกมอน ช่วงจังหวะนั้น กีฬาบาสปิดซีซั่น สปอร์ตการ์ดก็ปิดซีซั่น จึงคิดว่าจะเทรดดิ้งซื้อขายอะไรดี แล้วเป็นจังหวะที่เซเลบ คนดังระดับโลกอย่างเช่น Logan โลแกน พอล ยูทูบเบอร์, สตีฟ อาโอกิ (Steve Aoki) ดีเจและโปรดิวเซอร์ และคนดังอีกหลายๆ คน เข้ามาผลักให้ "โปเกมอน" บูม มีการซื้อการ์ดใบนึงหลายแสนเหรียญ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะปกติการ์ดโปเกมอนซื้อขายกันแค่หลักหมื่นเหรียญ แม้จะเป็นการ์ดสมบูรณ์ ก็ไม่เคยถึงหลักแสนมาก่อน

ซึ่งผมมีการ์ดใบนี้อยู่ ซื้อมาเกือบปี ในราคา 30,000 กว่าบาท แต่ยังไม่ได้ส่งเกรด พอมีกระแสมากขึ้นจึงลองส่งไปเกรด ก็พบว่าการ์ดได้เกรด 10 ยอมรับว่า ตกใจ ไม่รู้จะขายเท่าไรดี เพราะไม่ได้อยู่ในวงการโปเกมอน รู้สึกว่าถ้าขายได้กำไรนิดหน่อย 1,000-2,000 เหรียญ ก็แฮปปี้แล้ว 

"ผมเลยตัดสินใจ นำไปโพสต์ในไอจีแล้วแท็กหาทุกคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการ์ดโปเกมอนทั้งหมด ตอนที่แท็กไปไม่รู้ว่าจะมีใครอ่านไหม สรุปอ่านทุกคน เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดเ พราะทุกคนเป็นระดับเซเลบ แม้กระทั่งสตีฟ อาโอกิ ได้ทักมาขอซื้อการ์ดในราคา 2 หมื่นเหรียญ และยังมีคนท็อปๆ โปเกมอนเข้ามาขอซื้อ"

Pokémon topsun charizard
Pokémon topsun charizard

กระทั่งได้รับคำปรึกษาจากคนดังในแวดวง Pokemon Toy คนหนึ่ง ซึ่งเขาตกใจมาก ยังบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีการ์ดใบนี้ ที่ได้เกรด 10 ในโลก ผมจึงส่งการ์ดให้ดู ซึ่งเขาบอกว่า นี่คือข่าวใหญ่มากในวงการโปเกมอน พร้อมกับช่วยกระจายข่าว 

และก็กลายเป็นว่า ข่าวนี้ได้รับความสนใจ ทั้งจาก โลแกน พอล, จัสติน บีเบอร์ ก่อนที่เขาจะแนะนำให้ผมนำการ์ดไปปล่อยประมูล ในเว็บไซต์ประมูลที่ดังที่สุดในโลก ซึ่งจะรับแต่การ์ดที่เป็นแรร์ไอเทม แบบที่หายากมากๆ เท่านั้น ซึ่งทางเว็บไซต์ได้ปล่อยให้ผมประมูลการ์ดประมาณ 20 วัน การประมูลจบที่ 490,000 เหรียญ

"ตอนที่รู้ดีใจมาก ตื่นเต้นกับเงิน ผมแค่ทำตามที่ศึกษามา ยังไม่คิดเลยว่าการ์ดจะได้เกรด 10 เพราะการ์ดรุ่นนี้มีหลายใบก็จริง แต่จำตัวเลขไม่ได้ว่ามีกี่ใบ แต่ไม่เคยมีใครได้เกรด 10 เลย มี 9 ทั้งหมด 11 ใบในโลก เกรด 10 มีของผมใบแรกในรอบ 25 ปี"


เทรดดิ้งการ์ด กับโอกาสทำเงินในอนาคต

นายกฤช กล่าวว่ ถ้าถามผม คิดว่าไปต่อได้อีกไกล เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ที่นิวยอร์กช่วงนี้ ร้านอาหาร นั่งได้แค่ 25% บางที่ไปทำงานได้ บางที่ไม่ได้ แล้วสปอร์ตการ์ดเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะเป็นการซื้อขายทางออนไลน์


นอกจากนี้ นายกฤช ยังแนะนำว่า การซื้อกล่องมาเปิด ไม่ใช่การลงทุน เหมือนซื้อหวยมาขูด ผมมองว่าเป็นการพนัน และกล่องหนึ่งไม่ใช่ราคาถูกๆ ประมาณ 3 หมื่นบาท หากเปิดมาไม่ได้นักกีฬาที่เก่งๆ แสดงว่าเงิน 3 หมื่นหายไปเลย แต่การซื้อการ์ดมาเป็นใบๆ ผมรู้สึกว่าเป็นการลงทุน เพราะว่าการ์ดมีค่าอยู่แล้ว


อีกทั้งในมุมมองของตน ถ้านักกีฬาเล่นเก่งไปเรื่อยๆ ราคาสปอร์ตการ์ดของนักกีฬาคนนั้นก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก ผมแนะนำทุกคนเลยว่า การเปิดกล่องไม่ใช่การลงทุน ไม่คุ้มเสี่ยง มันคือ 50/50 ได้มาก็โชคดี แต่ถ้าไม่ได้ก็หมดเลย การ์ดแต่ละใบมีมูลค่าของตัวเอง ถ้าเราซื้อมา 500 เหรียญ พรุ่งนี้ก็ยัง 500 เหรียญ ผ่านไป 1 อาทิตย์ ก็ยัง 500 เหรียญ หากวันข้างหน้านักกีฬาเล่นดี อาจพุ่งมาเป็น 700 เหรียญได้ หรือ 1,000 เหรียญ

ยกตัวอย่าง ผมซื้อการ์ดอเมริกันฟุตบอลมา 1 ใบ ถ้าในอนาคตนักกีฬาในการ์ดฝีมือเก่งขึ้น ราคาการ์ดก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เก็บไว้ 2-3 ไปแล้วขายไม่ขาดทุนแน่นอน จนเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนักกีฬาคนนี้ได้แชมป์มาอีก 1 สมัย จากตอนแรกผมซื้อมาในราคา 150,000 บาท แต่ผมขายได้ 820,000 บาท ที่สำคัญผมซื้อการ์ดใบนี้จากเมืองไทย คนไทยมีการ์ดโหดๆ เยอะ การ์ดที่ราคาสูงถึงหลักล้านก็มี.

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟิก : Sathit Chuephanngam