ผู้ว่า ททท.ส่งสัญญาณทำตลาดเชิงรุกสั่ง 29 สำนักงาน ททท.ทั่วโลกจับมือพันธมิตร เริ่มขายแพ็กเกจเที่ยวประเทศไทยตั้งแต่ มี.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในไตรมาส 3 ตลอดทั้งปี 2564 ตั้งเป้าสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อปูทางไปสู่ปี 2565 สร้างรายได้ก้าวกระโดด 108% หรือ 2.5 ล้านล้านบาท
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้ปรับเป้าหมายการทำงานในปี 2564 ใหม่ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-2565 ด้วยการวางแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยปี 2564-2565 โดยเป้าหมายปี 2564 ให้มีรายได้ทางการท่องเที่ยวรวม 1.2 ล้านล้านบาท และเป้าหมายปี 2565 มีรายได้ทางการท่องเที่ยวรวม 2.5 ล้านล้านบาท
สำหรับปี 2564 ประเมินว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 3 ททท.ในฐานะหน่วยงานด้านการตลาดต้องส่งสัญญาณว่าพร้อมทำตลาด ล่าสุดได้มอบหมายให้สำนักงาน ททท.29 แห่งทั่วโลก เตรียมทำตลาดเชิงรุกโดยจะเริ่มขายแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบ Hard sell กับชาวต่างประเทศ ตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งตรงกับเทศกาลอีสเตอร์ของยุโรป เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และเพื่อตลอดทั้งปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 500,000 ล้านบาท
“คาดว่านักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกล (Long Haul) ทั้งยุโรปและอเมริกาจะเดินทางเข้ามาได้ก่อน ส่วนตลาดระยะใกล้ (Short Haul) อย่างอาเซียนและเอเชียตะวันออกอาจตามมาทีหลัง เพราะนโยบายของรัฐบาลจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขอความร่วมมือประชาชนถ้าไม่จำเป็น ก็ยังไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ”
ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ตอนนี้ ททท.ได้เริ่มคุยกับพันธมิตร เช่น สายการบินจากภูมิภาคตะวันออกกลางอย่าง เอมิเรตส์แอร์ไลน์ และกาตาร์แอร์เวย์ส รวมถึงโรงแรมและผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อขายแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบ All Inclusive แก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ มุ่งเพิ่มยอดการใช้จ่ายต่อทริปต่อคน ด้วยการพัฒนารูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความหลากหลายและมีมูลค่าสูงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะถึง 10 ล้านคนในปีนี้ตามเป้าหมายของ ททท.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 เรื่องว่าจะได้รับการผ่อนปรนมากแค่ไหน ได้แก่ 1. ความรู้สึกมั่นใจ (Sentiment) ของคนไทยในฐานะเจ้าบ้าน 2.สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศ 3. การอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง (Ease of Travelling) 4. นโยบายการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศของประเทศต้นทาง 5. มาตรการด้านสาธารณสุขในการรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย ถ้ายังมีเงื่อนไขการกักตัว 14 วัน ก็ยากที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว
ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้ ททท.หาวิธีดึงชาวต่างชาติกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาเที่ยวไทย โดยอยากให้มีพาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport) และให้ไปหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (NTO) ของประเทศในอาเซียน เพื่อออกเป็นพาสปอร์ตวัคซีนร่วมกัน ภายใต้มาตรฐานเดียว นักท่องเที่ยวคนใดที่ฉีดวัคซีนแล้วถือพาสปอร์ตวัคซีน สามารถเดินทางเข้าออกประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยไม่ต้องกักตัวได้
นายยุทธศักดิ์ ได้เปิดเผยถึง สถานการณ์ท่องเที่ยวในปี 2563 ที่ผ่านมาว่า มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 812,786 ล้านบาท ลดลง 72.8% จากปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 6.69 ล้านคน ลดลง 83.24% สร้างรายได้ 332,000 ล้านบาท ลดลง 83.63% ขณะที่มีคนไทยเที่ยวภายในประเทศ 90.74 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 47.47% สร้างรายได้ 480,787 ล้านบาท เป็นที่สังเกตว่าในปี 2563 สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอยู่ที่ 41% และจากคนไทย 59%
สำหรับปี 2564 ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวรวมที่ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากปี 2563 มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 49% สร้างรายได้ 500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% ขณะที่มีเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย 120 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 33% สร้างรายได้ 700,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอยู่ที่ 42% และจากคนไทย 58%
ส่วนในปี 2565 ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวรวมที่ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 108% จากปี 2564 มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 20.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 108% สร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 160% ขณะที่มีเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 50% สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอยู่ที่ 52% และจากคนไทย 48% เป็นที่สังเกตว่าในปี 2565 ททท.ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต่อทริปให้สูงถึงคนละ 62,500 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่คนละ 49,000-50,000 บาทต่อทริปเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ขยายฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพและเพิ่มมูลค่าการที่ใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
ส่วนผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ประเมินเบื้องต้นว่า อาจส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่าเดือนละ 46,000 ล้านบาท และถ้ายืดเยื้อถึง 1 ไตรมาสก็สูญเสียรายได้เป็นหลักแสนล้านบาท แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดได้ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งจะต้องมีการออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้อยู่รอดให้ได้