นายวิวรรธน์ สงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เผยว่า อุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าและไม้หายาก คือ ข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดไม้หวงห้าม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 โดยสรุปห้ามปลูกไม้หวงห้ามธรรมดา เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ก่อนได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากเจ้าหน้าที่ ส่วนไม้หวงห้ามพิเศษ อย่าง กระเบา มะแข่น จันทน์หอม ต้องได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากรัฐมนตรี

“อย่าว่าจะให้เกษตรกรปลูกไม้เหล่านี้ในพื้นที่ตัวเองเลย แค่ไม้เหล่านี้มาขึ้นเองตามธรรมชาติในที่ดินเรา จะไปตัดเองสุ่มสี่สุ่มห้ายังผิดกฎหมาย โดนจับกันมานักต่อนักแล้ว แต่ตอนนี้จะปลูกจะตัดสามารถทำได้แล้ว แม้แต่ในที่ดินของ ส.ป.ก. เพราะได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ทำให้ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองใด ไม่เป็นไม้หวงห้าม และยังสามารถปลูกได้ในที่ดินของตัวเองอีกด้วย

นอกจากนั้นยังได้มีการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาต ให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิ เพื่อให้ไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่เป็นไม้หวงห้าม พ.ศ.2563 สาระสำคัญ ให้ไม้ที่ปลูกบนที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ทั้งตามแบบ ส.ป.ก.4-01, ส.ป.ก.4-01 ก, ส.ป.ก.4-01 ข, ส.ป.ก.4-01 ค และ ส.ป.ก.4-01 ช ไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม”

...

ผอ.สพท. เผยอีกว่า การแก้ไขกฎหมายนี้ ส่งผลให้สามารถตัดหรือโค่นไม้ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การแปรรูปไม้ที่ตัดหรือโค่น ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ เว้นแต่กรณีใช้เลื่อยวงเดือน ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ สามารถมีไม้แปรรูปหรือไม้ท่อนไว้ในครอบครองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ รวมถึงสามารถนำไม้เคลื่อนที่ได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ต้องแจ้งผ่านด่านป่าไม้ เว้นแต่ที่ดิน ส.ป.ก. ผ่านด่านป่าไม้ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมและขอออกใบเบิกทาง ส่วนการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ยังคงต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้

“ทั้งนี้การปลดล็อกไม้หวงห้าม ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาปลูกไม้เพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้ และเป็นมรดกให้กับครอบครัวในอนาคต อีกทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุก และลักลอบตัดไม้ สอด-คล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้เกษตรกร และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ฉะนั้น ส.ป.ก.จึงเดินหน้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร” นายวิวรรธน์ กล่าว.