การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตสับปะรดโรงงาน ในพื้นที่ภาคตะวันตกแหล่งผลิตหลักของประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) พบว่า สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2563 ส่งผลให้ผลผลิตสับปะรดในปี 2563 ลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ดีดตัวสูงขึ้นเพิ่มจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 40

โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เมื่อปีที่แล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 12 บาท โดยช่วง มิ.ย.-ก.ค. มีราคาสูงสุด เฉลี่ย กก.ละ 14 บาท เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้อย ขณะที่โรงงานมีความต้องการสูง

สำหรับสถานการณ์การผลิตปีนี้ คาดว่าปริมาณผลผลิตสับปะรดโรงงาน ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น เพราะราคาในปีที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรปลูกมากขึ้น

ส่วนสถานการณ์ตลาด คาดว่า ราคาสับปะรดโรงงานในไตรมาสแรก (ม.ค.–มี.ค.) จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี

แต่อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งสินค้าส่งออกไปต่างประเทศไม่เพียงพอ ทำให้ตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ ดังนั้นโรงงานแปรรูปสับปะรดอาจต้องปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดของภาคตะวันตก จังหวัดได้ขอความร่วมมือโรงงานในพื้นที่ให้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนมาตรการในระยะยาวส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดและโรงงานแปรรูปวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน (Contract Farming) โดยสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ในการทำเกษตรพันธสัญญา เพื่อลดปัญหาผลผลิตส่วนเกินและราคาตกต่ำ และได้ผลผลิตมีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด

จึงฝากถึงเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ควรวางแผนการบังคับผลผลิต เพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดการกระจุกตัว หรือปรับการผลิตเป็นสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดบางส่วน และการร่วมมือกับโรงงานแปรรูปทำ Contract Farming ล่วงหน้า จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านปริมาณผลผลิตและราคาสับปะรดให้มีเสถียรภาพและสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดได้.

...

สะ–เล–เต