คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนและ 4 กลุ่มเป้าหมายแรกในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดก่อน

วันที่ 11 ม.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม

นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ด้านการบริหารจัดการวัคซีน การสร้างการรับรู้ การให้บริการวัคซีน การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต การรักษาความมั่นคงของระบบสาธารณสุขและสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อ ความเสี่ยงผู้สัมผัส ซึ่งวัคซีนที่จัดหามานั้นได้มาตรฐาน คุณภาพ และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อย ในช่วงแรกที่วัคซีนจำกัด เป้าหมายคือการลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ปกป้องระบบสุขภาพประเทศ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

...

กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้น คือ
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 
3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ และในพื้นที่ที่มีการระบาด

ทั้งนี้ จะเริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจะฉีดคนละ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทย

ทางด้าน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ได้กำหนดการรณรงค์ให้บริการวัคซีนตั้งแต่เดือน ก.พ. - พ.ย. 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสื่อสารประชาชนให้มีความรู้ทั้งผลดีและข้อควรระวัง พร้อมประสานโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดและโรงพยาบาลเอกชนร่วมให้บริการ รวมถึงให้โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง สำรวจกลุ่มเป้าหมายล่วงหน้า เตรียมจัดบริการรองรับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จัดทีมบริการเคลื่อนที่ และเตรียมความพร้อมเรื่องระบบลูกโซ่ความเย็น โดยจะมีระบบการเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน และติดตามประเมินผลการให้บริการเป็นรายเขต จังหวัด อำเภอ และพื้นที่.