นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีส่วนทำให้สถานการณ์หลายๆอย่างของทรัพยากรทางทะเลดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2563 พบว่า เต่าทะเลวางไข่มากถึง 500 รัง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่พบเพียง 434 รัง

ที่สำคัญคือ เต่ามะเฟือง ที่เป็นเต่าขนาดใหญ่ที่สุดขึ้นมาวางไข่มากถึง 25 รัง และเป็นการวางไข่ของเต่าทะเล ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ถึง 19 รัง จากสถิติเดิมที่เคยวางไข่ไม่เกิน 7 รังต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ โลมาและวาฬสำรวจพบ 3,025 ตัว ชนิดหลักๆได้แก่ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ โลมาอิรวดี โลมาหลังโหนก โลมากลุ่มสตีเนลลา โลมาปากขวด วาฬเพชฌฆาตดำ และวาฬบรูด้า ทั้งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน

ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเกิดเฉลี่ย 4 ตัวต่อปีเท่านั้น และมีอัตราการตาย 3 ตัวต่อปี ทั้งนี้ โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยสำรวจประชากรประมาณ 20 ตัวเท่านั้น สำหรับพะยูน ปี 2563 สำรวจพบประชากรประมาณ 255 ตัว จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่าแนวโน้มประชากรพะยูนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 แหล่งที่พบพะยูนมากที่สุดคือ ทะเล จ.ตรัง พบ 165 ตัว อย่างไรก็ตาม นอกจากการเพิ่มประชากรสัตว์ทะเลหายากแล้ว ในเรื่องของการเจ็บป่วยและการสูญเสียสัตว์เหล่านี้ พบว่า ตลอดปีที่ผ่านมา พบเต่าทะเลเกยตื้น 512 ตัว โลมาและวาฬเกยตื้น 261 ตัว พะยูนเกยตื้น 19 ตัว ซึ่งปริมาณดังกล่าวลดลงจากปี 2562 ที่พบพะยูนเกยตื้นถึง 24 ตัว.