นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในฐานะประธานคณะกรรมการความมั่นคงทางอาหารโลก เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกยังมีคนอดอยาก ขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤติโควิด-19 มากกว่า 132 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการล็อกดาวน์ ประชากรบางส่วนต้องบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพ แถบยุโรปบางประเทศที่ต้องนำเข้าแรงงานเก็บผลผลิตทางเกษตร ผลผลิตเสียหายในช่วงล็อกดาวน์ เพราะไม่มีแรงงานเข้ามาเก็บผลผลิตทำให้เน่าเสีย และไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันการขนส่งอาหารที่ต้องหยุดชะงัก
“เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จึงได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศ มุ่งเน้นระบบการผลิตอาหาร เพราะที่ผ่านมานอกจากจะผลิตอาหารไม่เพียงพอแล้ว ระบบการผลิตยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จากการปนเปื้อนสารเคมีในดิน แหล่งน้ำ รวมถึงระบบการผลิตอาหาร และการบริโภคที่ขาดความสมดุลทำให้เกิดอาหารเหลือทิ้งในปริมาณมากและขาดความยั่งยืน เป็นที่มาของการประชุมสุดยอดผู้นำด้านระบบอาหารของโลก “UNITED NATIONS FOOD SYSTEMS SUMMIT 2021” ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ให้ผู้นำของแต่ละประเทศขึ้นกล่าวถ้อยแถลง ประกาศเจตนารมณ์ สร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ โดยจะเตรียมหารือกับ ตัวแทนรัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกในเบื้องต้น ถึงแนวทางของแต่ละประเทศ ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ กรุงโรม ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้”
...
ประธานคณะกรรมการความมั่นคงทางอาหารโลก เผยอีกว่า ล่าสุดมีประเทศขนาดใหญ่ อย่าง จีน และอินเดีย ประกาศรายชื่อผู้บริหารระดับสูง ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กรภายในประเทศแล้ว ขณะที่ไทย ในฐานะประเทศสมาชิก UN จะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแม่งานหลัก ล่าสุด ได้ประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อการขับเคลื่อน และเร่งหาข้อสรุปเสนอต่อองค์การสหประชาชาติ
“ภาพรวมของไทยถือว่าสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ มากกว่าความ ต้องการบริโภคในประเทศ และส่งออกสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับ 12 ของโลก แต่จำเป็นต้องมีระบบแปรรูป เก็บอาหาร เพื่อรองรับภาวะชะงักงันในการขนส่ง
ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ขณะเดียวกันระบบการผลิตของไทยและโลกยังต้องคำนึงถึงการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Negative impact) ให้มากที่สุดเพื่อสร้างความสมดุลและความยั่งยืนให้กับระบบการผลิตของประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs 2030) 17 เป้าหมาย โดยมีเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องสำคัญ” นายธนวรรษ กล่าว
ซึ่งหลักการสำคัญของ FAO คือ การทำให้ประชากรทั่วโลกมีสิทธิเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและเพียงอย่างเท่าเทียม รับมือกับวิกฤติโรคระบาด และภัยธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน.