กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยเริ่มผลิตวัคซีน "โควิด-19" ในประเทศแล้ว โดยเป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซเนกา

วันที่ 3 ม.ค. 2564 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แถลงข่าวความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับวัคซีนในเวลาไม่ช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ โดยตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย ได้เตรียมการหาข้อมูล วางเป้าหมาย วิธีการทำงาน มีกลไกต่างๆ ที่จะทำให้ได้วัคซีนมา ตั้งแต่ยังไม่ทราบผลการวิจัยวัคซีนชนิดใดที่จะประสบความสำเร็จ ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยรัฐ ฟรีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร หรือประมาณ 70 ล้านโดส โดยได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโดส กับบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ขณะนี้อยู่ระหว่างถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม อีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเจรจากับ COVAX Facility ทำข้อตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนที่คาดว่ามีโอกาสนำมาใช้ได้ รวมทั้งได้เจรจากับบริษัทอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, บริษัทจากประเทศจีน หรืออาจขอซื้อเพิ่มจากแอสตราเซเนกา เพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ มีข่าวดีว่าจะได้รับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน 2 ล้านโดส โดยได้รับปลายเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 200,000 โดส ปลายเดือนมีนาคม 800,000 โดส และปลายเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส

...

สำหรับเวลานี้วัคซีนมีจำนวนไม่มาก แม้แต่ประเทศที่เริ่มฉีดแล้วก็เริ่มทยอยฉีด ไม่สามารถฉีดพร้อมกันได้ในครั้งเดียว ไม่ใช่สินค้าที่จะหาซื้อได้ทั่วไปในตลาด ที่สำคัญคือจะต้องมีระบบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย จะไม่มีการซื้อวัคซีนจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีผลการทดลองเฟส 3 รองรับ บริษัทเอกชนที่จะนำมาจำหน่ายต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ที่สำคัญคือทุกลอตที่จะออกสู่ท้องตลาดต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

ทางด้าน นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) แล้วจากผู้ผลิต 9 ราย 4 ชนิดวัคซีน เช่น mRNA, Viral Vector, Inactivated และ Sub unit protein ในประเทศไทยจะยอมรับการขึ้นทะเบียนที่มีผลของเฟส 3 มีประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียนและได้รับการยอมรับมีเพียง 3 ชนิด คือ ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่เหลือเป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน โดยใช้ผลการทดลองเฟส 2 เท่านั้น

แม้วัคซีนของจีนและรัสเซียที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้าตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค. 2563 ก็ยังไม่มีผลเฟส 3 อย่างเป็นทางการออกมา และวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกชนิดยังไม่สิ้นสุดการทดลอง ซึ่งทั้งของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนหลังสามเดือน ในขณะที่ของแอสตราเซเนกาที่ไทยจองซื้อ ได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินจากหน่วยงานควบคุมกำกับของอังกฤษแล้ว เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563

สำหรับข่าว 10 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านโดสนั้น เกิดจากการจองวัคซีนล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 โดยขณะที่ทำการจองนั้นยังไม่ทราบผลเบื้องต้นของการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน มีความเสี่ยงสูงมากที่วัคซีนจะไม่ประสบความสำเร็จ และไม่ได้รับวัคซีน สำหรับประเทศไทย การจองวัคซีนล่วงหน้าก่อนทราบผลเฟส 3 โดยมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับวัคซีนนั้น ได้อาศัยการออกประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 และได้จองวัคซีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้ ไม่ได้มีการปิดกั้นภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนมาจำหน่ายในประเทศ โดยทำตามกระบวนการที่จะต้องได้รับการอนุมัติจาก อย. เพื่อเป็นการประกันว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งได้มีแผนรองรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดย อย.ได้มีการเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินไว้แล้ว สามารถประสานขอข้อมูลส่วนนี้ได้จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ทางด้าน ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตราเซเนกา ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่ โรงงาน วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องจักร ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตทั่วโลก ภายใต้บริษัท แอสตราเซเนกา มีกำลังผลิตประมาณ 200 ล้านโดสต่อปี หรือเดือนละ 15 ถึง 20 ล้านโดส

ทั้งนี้ จะมีการทดสอบใน 5 รอบการผลิต แต่ละรอบผลิตห่างกัน 14 วัน ใช้เวลารอบละ 120 วัน (4 เดือน) เป็นการผลิต 60 วัน และอีก 60 วันสำหรับการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพ โดยผลิตรอบแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา กำลังดำเนินการผลิตรอบที่ 2 เมื่อผลิตครบ 5 รอบ จะนำผลยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยาเพื่อพิจารณาอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตวัคซีนคือ คุณภาพ และความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และจะมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ.