ใครจะไปเชื่อว่า “ขนมปั้นขลิบ” ขนมไทยโบราณ ที่คุณแม่เจือ รัตตะโน ชาวนาจากเมืองพัทลุง ใช้เวลาว่างเว้นจากการปลูกข้าว บรรจงปั้นและทอดขายในราคาตัวละ 1 บาท เพื่อหาเงินส่งลูกทั้ง 3 คนได้เรียนหนังสือ จะสามารถทำรายได้สูงถึง 20 ล้านบาทต่อเดือน กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดพัทลุง สร้างงานและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านท้องถิ่นได้อย่างมั่นคง
จุดเริ่มต้น “ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง”
นางสาวรัตนาวดี รัตตะโน หรือ คุณป้อม เจ้าของแบรนด์ “น้องหนึ่ง” ธุรกิจขนมปั้นขลิบทอด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง” ว่า ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน อาชีพหลักของที่บ้านคือ ทำนา ซึ่งแต่ละปีรายได้จะไม่แน่นอน บางปีไม่มีรายได้แถมขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะน้ำท่วม ข้าวไม่ได้ผลผลิต คุณแม่เจือกลัวว่าลูกๆ ทั้ง 3 คน จะไม่ได้เรียนหนังสือ เลยคิดหารายได้เสริม จนโอกาสดีมาถึง เมื่อ “พี่หนึ่ง” ลูกสาวคนกลางได้แนะนำให้คุณแม่ลองทำขนมปั้นขลิบดู เพราะทำไม่ยาก อีกทั้งปลาทะเลที่เป็นวัตถุดิบในการทำไส้หาง่าย เพราะอยู่ใกล้ทะเล
“ในใจคุณแม่คิดว่า ถ้าขายขนมปั้นขลิบได้วันละ 500-1,000 บาท ก็เยอะพอที่จะส่งลูกๆ เรียนได้แล้ว ก็เลยเริ่มลงมือทำ ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจนสูตรลงตัว จึงได้ส่งไปให้ลูกๆ ที่กรุงเทพฯ และญาติที่ต่างจังหวัดช่วยขาย ปรากฏว่าขายดี จากที่ใช้แป้งวันละ 5 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 10 กิโลกรัม จนคุณแม่ทำคนเดียวไม่ไหว จึงได้ชวนเพื่อนบ้านที่ว่างจากการทำนามาช่วยกันทำปั้นขลิบ สร้างรายได้ให้กับเพื่อนบ้านอีกทาง”
รัตนาวดีกล่าวต่อไปว่า ด้วยรสชาติความอร่อยของขนมที่ทำกันสดๆ วันต่อวัน ทำให้ขนมปั้นขลิบของคุณแม่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มียอดการสั่งซื้อแต่ละวันเข้ามาจำนวนมาก ทำให้คุณพ่อที่ทำหน้าที่ในการวิ่งส่งของให้ลูกค้าวันละหลายเที่ยว เกือบประสบอุบัติเหตุ ทำให้คุณป้อมซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กตัดสินใจลาออกจากงานราชการที่กรุงเทพฯ มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดเพื่อช่วยที่บ้านทำขนมอย่างเต็มตัว
ด้วยความที่ไม่เคยทำงานด้านการค้าขาย ประกอบกับต้องการพิสูจน์ตัวเองให้ที่บ้านเห็นว่า เธอสามารถสานงานต่อได้ และพาขนมปั้นขลิบของที่บ้านไปไกลกว่าที่หลายคนคิด เธอจึงเริ่มทำการตลาด โดยสิ่งแรกที่เธอดำเนินการคือตั้งชื่อแบรนด์สินค้า
“คิดอยู่นานว่าจะตั้งชื่ออะไร ในที่สุด ก็เอาชื่อพี่สาวคนกลางมาตั้งเป็นชื่อขนม ชื่อว่าขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง จากนั้นเริ่มทำโลโก้ แพ็กใส่ถุงอย่างดี และเริ่มนำสินค้ามาออกร้านให้คนรู้จัก โดยช่วงปี 2551 ได้มาออกงานสินค้าโอทอปที่กรุงเทพฯ วันนั้นฝนตกหนัก น้ำท่วม แต่คนก็มาเข้าคิวซื้อขนมเราไม่ขาดสาย ทำให้สินค้าเราเป็นที่รู้จัก ยอดขายขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดือนละ 8 หมื่นบาท เป็น 3 แสนบาท และเพิ่มเป็น 1.2 ล้านบาทต่อเดือน”
สร้างยอดขาย 7 หลักต่อเดือน
หลายคนอาจจะคิดว่า การที่เธอหันมาทำธุรกิจจนสามารถเพิ่มยอดขายได้หลายเท่าตัว เป็นเรื่องง่าย แต่เธอบอกว่ากว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย หนักสุดถึงขั้นโดนปิดโรงงาน 3 เดือน เพราะปัญหาเรื่องน้ำเสีย ทำให้เธอเครียดมาก เพราะเรามีคนงานต้องดูแลกว่า 40 ชีวิต
“เราท้อไม่ได้ เพราะมีภาระต้องรับผิดชอบ โชคดีที่มีหลายหน่วยงานเข้าใจและให้การสนับสนุน อย่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พันธมิตรของโครงการไทยเด็ด เขาสนใจแผนธุรกิจที่เราเสนอไป เพราะเห็นว่าธุรกิจที่เราทำช่วยสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้ชาวบ้าน ก็เลยให้เงินทุนสนับสนุน จนผ่านวิกฤติและเดินหน้าต่อไปได้”
และมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่คุณป้อมบอกว่า ต้องขอบคุณเป็นพิเศษ ก็คือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ที่มีวิสัยทัศน์ในการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ควบคู่แนวคิดในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเติบโตไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ได้คัดเลือก “ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง” ไปวางจำหน่ายร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน พร้อมให้การช่วยเหลือคุณป้อมในการทำธุรกิจในทุกๆ เรื่องอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำเรื่องวัตถุดิบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จนทำให้ธุรกิจขนมปั้นขลิบเติบโตอย่างมั่นคง และมีรายได้ต่อเดือนเป็น 20 ล้านบาทในปัจจุบัน
ขนมปั้นขลิบสร้างอาชีพชุมชน สร้างรายได้เกษตรกร
รัตนาวดี กล่าวว่า การทำธุรกิจเป็นเรื่องที่หยุดนิ่งไม่ได้ การทำขนมปั้นขลิบก็เหมือนกัน ต้องมีการพัฒนา ต้องสร้างความพิเศษให้กับสินค้าและผู้บริโภค โดยเธอได้นำ “ข้าวสังข์หยด” ที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพัทลุง มาโม่ให้ละเอียดแล้วผสมลงในแป้ง ทำให้ได้ขนมปั้นขลิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ มีวิตามินบี 1-2 มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง และได้สินค้าเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงอย่างแท้จริง
ที่สำคัญ ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง ยังเป็นสินค้าชุมชนที่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวชุมชนอย่างแท้จริง เพราะกระบวนการผลิตขนม หลักๆ เป็นการใช้แรงงานคน เพราะการปั้นและขลิบขนมจะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเครื่องจักรทำไม่ได้ดีเท่ากับฝีมือคน นอกจากนี้ ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง ยังมีส่วนช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง ได้แก่ การซื้อข้าวสังข์หยดจากชาวนาในพื้นที่สูงถึงเดือนละ 10 ตัน ซื้อปลาจากชาวประมงเพื่อมาทำเป็นไส้ขนม และซื้อเห็ดนางฟ้า เพื่อนำมาผสมกับไส้ปลา เพราะเธอเห็นว่าชาวบ้านต้องทิ้งเห็ดที่เหลือจากการขายทุกครั้ง ทำให้ได้ขนมปั้นขลิบรสชาติใหม่ ไส้ปลาผสมเห็ด ที่นอกจากอร่อยแล้ว ยังได้แคลเซียมและไฟเบอร์สูงอีกด้วย
และด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และคอนเซ็ปต์ของขนมปั้นขลิบน้องหนึ่งที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน ตรงตามวัตถุประสงค์หลักของ “โครงการไทยเด็ด” ซึ่งโออาร์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรคัดสรรสินค้าดีสินค้าเด็ดจากชุมชนต่างๆ มาให้ผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศคัดเลือกไปวางจำหน่ายที่ “มุมสินค้าไทยเด็ด” ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่เข้าร่วมโครงการนี้เอง โออาร์จึงได้นำ “ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง” เข้ามาเป็นหนึ่งในสินค้าโครงการไทยเด็ด เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายให้กับตัวสินค้าได้กว้างขวางขึ้น ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่งจึงได้มีโอกาสเข้าไปวางจำหน่ายที่ “มุมสินค้าไทยเด็ด” ที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่ร่วมโครงการ รวมทั้งยังคัดเลือกให้ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่งเป็น “สินค้าไทยเด็ด” ที่โออาร์จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เพิ่มเติมอีกด้วย
“ต้องขอบคุณโออาร์ที่ให้โอกาสขนมปั้นขลิบน้องหนึ่งอีกครั้ง ในการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น และขายดีขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวชุมชนได้มีงานทำ และช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ขายผลผลิตมากขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงในชีวิต”
“ไทยเด็ด เด็ดที่ความคิดของคนไทย ที่ช่วยเหลือกัน”