โครงการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มุ่งหวังให้เกษตรกรไทยพยุงตัวอยู่ได้ในภาวะวิกฤติโควิด-19 ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยเฉพาะกับการลดต้นทุนการผลิต ลดขั้นตอนในการสูญเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภคและเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี ถือเป็นกลุ่มแรกๆที่ประสบความสำเร็จอย่างดี จากการเข้าร่วมโครงการนี้

“เดิมทีกลุ่มเกษตรกรใช้วิธีการบ่มมะม่วงด้วยถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์ เช่นเดียวกับเกษตรกรไทยทั่วไป แม้จะเป็นวิธีการที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างถูก แต่ควบคุมความสุกได้จำกัด ใช้ถ่านแก๊สมากไปผลจะสุกเร็วและเนื้อนิ่ม ผิวอาจมีลักษณะไหม้ได้ มะม่วงสุกไม่สม่ำเสมอ บางทีเน่าเสียและสูญเสียน้ำหนักระหว่างบ่ม ที่สำคัญระหว่างบ่มจะเกิดกลิ่นของแก๊สที่ฉุนติดไปกับผลไม้ อาจเป็นอันตรายต่อระบบหายใจของคนงาน รวมถึงยังมีโอกาสปนเปื้อนสารหนู อันตรายต่อทั้งคนงานและผู้บริโภค ปีที่แล้วจึงเข้าร่วมโครงการ ITAP จนเห็นผลในปีนี้”

...

ราเชนทร์ สุขหวานอารมณ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ จ.ราชบุรี บอกถึงที่มาของการเข้าร่วมโครงการฯก่อนปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีบ่มเพาะมะม่วงด้วยแก๊สเอทิลีน แทนใช้ถ่านแก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์ ด้วยผลผลิตของวิสาหกิจชุมชนฯ ทั้งขายในประเทศและส่งออก ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับ เพราะปลูกด้วยมาตรฐาน ThaiGAP คัดบรรจุผ่านมาตรฐาน GMP อย.

แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ประสบปัญหาการส่งออก จึงมองว่าน่าจะแก้ที่ต้นเหตุ ลดการสูญเสียในขั้นตอนบ่มเพาะ เพื่อพยุงให้กลุ่มอยู่รอด

เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ ITAP ทีมวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เข้ามาเป็นที่ปรึกษา นำเทคโนโลยีบ่มเพาะผลไม้ด้วยแก๊สเอทิลีน ที่ต่างประเทศใช้กันค่อนข้างแพร่หลายมาใช้ แต่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจ โดยเฉพาะการออกแบบห้องบ่มปิดสนิท ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแก๊สเอทิลีนให้เหมาะสม กับผลไม้แต่ละชนิด

จากการศึกษาร่วมกันระยะหนึ่ง ได้คำตอบ...สร้างห้องบ่มมะม่วงด้วยแก๊สเอทิลีนขนาด 30.375 ลูกบาศก์เมตร บ่มมะม่วงได้ครั้งละ 3 ตัน ปล่อยแก๊สเอทิลีนให้ไหลเข้าห้องบ่ม ตามความเข้มข้นที่ต้องการ ใช้เวลาบ่มครั้งละ 24 ชั่วโมง เมื่อนำออกจากห้องบ่มสามารถบรรจุและจัดส่งให้กับลูกค้าได้ทันที

การใช้ห้องบ่มเพาะเช่นนี้ของวิสาหกิจชุมชนฯ นอกจากจะปลอดภัยต่อทั้งคนงาน ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้มะม่วงมีเนื้อสัมผัสแน่น ไม่เละ ไม่เน่าเสียง่าย เพิ่มระยะเวลาในการวางจำหน่ายได้นานขึ้น ส่งผลลดการสูญเสียจากผลเน่าเดิม 12% เหลือแค่ 7% คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 บาท ลดค่าถ่านก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ 536,426 บาท ต่อ 1 รอบการผลิต

จากผลดีในเรื่องผลมะม่วงมีระยะวางขายบนเชลฟ์ได้นานขึ้น ทำให้มียอดสั่งซื้อมะม่วงเพิ่มขึ้น 193.4% คิดเป็นมูลค่าถึง 3.3 ล้านบาท

ที่สำคัญในปี 2563 นี้ มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของวิสาหกิจฯได้รับคัดเลือกจากท็อปส์มาร์เก็ต ให้เป็นสินค้าเกรดคุณภาพ แบรนด์ My Choices จำหน่ายในท็อปส์ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและชุมชนมีงานทำและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน.

กรวัฒน์ วีนิล