ถั่วเหลืองพืชเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูง ปัจจุบันเกษตรกรนิยมนำมาปลูกหลังจากการทำนา นอกจากจะสร้างรายได้ให้เกษตรกร ยังเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
และยังเป็นพืชที่มีอนาคตสำหรับเกษตรกร เนื่องจากแต่ละปีสามารถเพาะปลูกได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝน ปลูก ก.ค.-ส.ค. เก็บเกี่ยว ต.ค.-พ.ย. และฤดูแล้ง ปลูก ธ.ค.-กลาง ม.ค. เก็บเกี่ยว มี.ค.-เม.ย.
จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตถั่วเหลือง รุ่นที่ 2 (ถั่วเหลืองหลังนา) ของจังหวัดชัยภูมิ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60, มข 35 และพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ราคาเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย กก.ละ 25-30 บาท ปลูกด้วยวิธีการหว่านใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 20 กก.
มีต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 2,827 บาท/ไร่/รอบการผลิต เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 90-110 วัน ให้ผลผลิตรวม 868 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 210 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต
ราคาที่เกษตรกรขายได้เมล็ดความชื้น 14.5% เฉลี่ย 19 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ เดือนพฤศจิกายน 2563) สร้างรายได้เฉลี่ย 3,990 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้กำไร 1,163 บาท/ไร่/รอบการผลิต
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 95 เกษตรกรจะจำหน่ายในลักษณะเมล็ดแห้งให้กับพ่อค้าที่รวบรวมในท้องที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปแปรรูป ส่วนอีกร้อยละ 5 เกษตรกรเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไป
จึงขอเชิญชวนและส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจหันมาปลูกถั่วเหลืองคุณภาพดีเนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นปลูกเพียง 4 เดือน ต้องการน้ำน้อย ให้ผลผลิตสูง ราคาดี เพื่อรองรับความต้องการของตลาด และยังบำรุงคุณภาพดินส่งผลให้การปลูกข้าวของเกษตรกรได้ผลผลิตสูงขึ้นด้วย
...
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลูกต้องมีความเหมาะพอควร มีปริมาณน้ำเพียงพอและสามารถระบายน้ำออกได้ดี และต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพการเก็บเกี่ยว ต้องควบคุมคุณภาพเมล็ดในเรื่องของความชื้นสูง เพราะจะทำให้เมล็ดบวม เน่า เสียหาย เกษตรกรที่สนใจข้อมูลการผลิตการตลาดถั่วเหลืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-4446-5120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th
สะ-เล-เต