ดร.ปรีดา บุญเพลิง ประธานคณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เมื่อเร็วๆนี้ได้สรุปสาเหตุการเกิดหนี้สินครูพบว่า หนี้สินครูโดยรวมอยู่ที่สหกรณ์ ออมทรัพย์ครู ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่นๆ แบ่งครูที่เป็นหนี้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มหนี้ปกติ คือ ส่งคืนหนี้ ได้ปกติทุกเดือน และมีเงินเดือนเหลือพอใช้จ่าย 2.กลุ่มหนี้ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ คือ ส่งคืนได้ปกติทุกเดือน แต่ไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะใช้จ่ายแต่ละเดือน ต้องวิ่งหากู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้จ่าย กลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และ 3.กลุ่มหนี้เข้าขั้นวิกฤติ คือ ไม่สามารถส่งคืนเงินกู้ได้ปกติ เงินใช้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่ตกเป็นภาระผู้ค้ำประกันหนี้ กลุ่มนี้มีน้อยแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
การเป็นหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน ขาดการยอมรับในสังคม การแก้ปัญหาต้องแก้ไขเป็นระบบ คงไม่สามารถดำเนินการทั้งหมดในคราวเดียวกันได้ เพราะครูที่เป็นหนี้มีจำนวนมาก ต้องเริ่มต้นกลุ่มครูที่เป็นหนี้วิกฤติก่อนแล้วจึงขยายผลไปยังกลุ่มอื่น ตามมาตรการ ดังนี้ 1.การประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้แก่ครูที่เป็นหนี้ขั้นวิกฤติ และกำลังเข้าขั้นวิกฤติ มีการกำหนดแผนการชำระหนี้และเจรจาประนอมหนี้ 2.รัฐต้องพักชำระหนี้ให้แก่ครู อย่างน้อย 2 ปี หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ตามความเหมาะสม 3.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 4 บาทต่อปี
ดร.ปรีดากล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว อาทิ เสนอให้เพิ่มรายวิชาในหลักสูตรการเรียนครู คือวิชาเศรษฐศาสตร์การเงิน การลงทุน การดำเนินชีวิตด้วยวิถีเศรษฐกิจแบบพอเพียง, กำหนดให้มีสถาบันการผลิตครูโดยตรงกระจายตามภูมิภาคต่างๆ จบแล้วบรรจุรับราชการครูในท้องถิ่นได้ทันที แก้ปัญหาการบรรจุห่างไกลภูมิลำเนา, จัดสวัสดิการสวัสดิภาพครูให้เท่าเทียมกับอัยการ ทหาร ตำรวจ, ปรับปรุงอัตราเงินเดือนครู โดยให้ฐานเงินเดือนครูเริ่มต้นควรเพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และลดภาระงานครูให้เหลือแต่หน้าที่สอนอย่างเดียว เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอให้มีการออกรับข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องวิชาชีพครู และเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพครูทั่วประเทศใน 4 ภูมิภาค เพื่อหลอมรวมและแก้ปัญหาครั้งสุดท้ายภายในเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฯ พิจารณาต่อไป.
...