กรมควบคุมโรค เผยอาการชายชาวเมียนมาจากศูนย์พักพิงฯ ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ มั่นใจโอกาสการแพร่กระจายเชื้อค่อนข้างน้อย แต่น่าห่วงมีภาวะซีดมาก ส่วน นร.หญิงอาการดีขึ้นแล้ว คาดติดเชื้อจากเมียนมา ขณะที่ ผวจ.ตาก แจงเคส นร.หญิง พบข้ามฝั่งแม่น้ำเมยเข้าไทย เร่งตามหาคนขับกระบะขาวที่ไปรับตัวเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ด้าน ผอ.ศูนย์วิจัยพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซัดรัฐบาลให้งบวิจัยวัคซีนไทยน้อย แถมทยอยจ่าย คาดต้องใช้วิธีขอรับบริจาคเพิ่ม
กระทรวงสาธารณสุขเร่งตามแกะรอยที่มาของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำให้มีผู้ป่วย 2 คน ในพื้นที่ จ.ตาก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือชายชาวเมียนมา วัย 48 ปี อาศัยอยู่ในศูนย์ผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านอุ้มเปี้ยม ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ และนักเรียนหญิงไทย วัย 17 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ท่าสองยาง แต่ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่ รพ.แม่สอด โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งสองคนว่าชายชาวเมียนมาทราบว่าเข้ามาอยู่ในไทยนานแล้ว จึงคาดว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ แต่อาจเป็นการติดแนวชายแดน หรือติดจากเพื่อนชาวเมียนมา ซึ่งทีมสอบสวนโรคพยายามหาสาเหตุการติดเชื้ออยู่ ทั้งนี้ในศูนย์อพยพที่อยู่ค่อนข้างรัดกุมพอสมควร และพื้นที่ของศูนย์ค่อนข้างไกลเดินทางลำบาก โอกาสการแพร่กระจายเชื้อค่อนข้างน้อย ได้ประสานกระทรวงมหาดไทย องค์กรนานาชาติที่ร่วมดูแลพื้นที่ดังกล่าวให้เข้มงวดแล้ว ส่วนอาการป่วยนั้นอาการระบบทางเดินหายใจมีน้อย จึงคาดว่าไม่น่าจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ขณะนี้พบผู้สัมผัสใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง 99 คน ตรวจเชื้อผลเป็นลบ อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยรายนี้มีผลเลือดที่ค่อนข้างผิดปกติ คือมีอาการซีดมากจนเป็นอันตราย ซึ่งโรคโควิดโดยทั่วไปจะไม่ซีดมาก เราจึงต้องนำผลเลือดมาตรวจซ้ำอีกครั้งที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
...
ส่วนนักเรียนหญิงนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า มีความชัดเจนว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อมาจากฝั่งเมียนมา เพราะว่าเป็นลูกครึ่งไทย-เมียนมา และมีประวัติเดินทางไปเมียนมามาก่อน สำหรับอาการทางปอดดีขึ้นแล้ว ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องได้ตรวจหาเชื้อแล้วผลเป็นลบ
ด้านความเคลื่อนไหวในพื้นที่ วันเดียวกัน ที่ห้องสำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงผู้ป่วยชาวเมียนมาในศูนย์พักพิงฯ ว่าการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก บุคคลที่อยู่ในศูนย์กว่า 100 คน ผลตรวจเป็นลบทั้งหมด แต่ก็ยังตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมของในศูนย์อพยพบ้าน อุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ รวมถึงศูนย์พักพิงอีก 2 แห่งของจังหวัดตาก ที่อำเภอท่าสองยาง และอำเภออุ้มผาง ได้สั่งเพิ่มมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ให้เข้มข้นขึ้นเพราะมีผู้อพยพเป็นจำนวนมาก
ผวจ.ตากกล่าวอีกว่า ส่วนนักเรียนหญิงวัย 17 ปี จากแหล่งข่าวทราบว่าวันที่ 16 พ.ย. ป่วยเป็นไข้ เจ็บคอ ไปรักษาที่ รพ.ไล่ปวย ใน จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา หมอให้ยากลับมารักษาตัวที่บ้านฝั่งเมียนมา อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 20 พ.ย. เวลาประมาณ 13.00 น. มีรถกระบะสีขาวไปรับที่ริมแม่น้ำเมยจากฝั่งชายแดนไทย ที่บ้านวังผา ต.แม่-จะเรา อ.แม่ระมาด โดยรถกระบะขับเข้ามายังตัวเมืองแม่สอด นำผู้ป่วยรายนี้ไปตรวจยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จากนั้นผู้ป่วยถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลแม่สอดทันที เพาะเชื้อพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ถูกนำตัวเข้าห้องความดันลบ รพ.แม่สอด ขณะที่ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงในเมียนมา มียาย น้องสาว 2 คน น้าสาวและน้าเขย ส่วนผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงในไทย มีมารดาและญาติ กับ จนท.รพ.เอกชน 3 คน รวม 5 คน รอผลตรวจ และให้กักตัวแล้ว ส่วนคนขับรถกำลังติดตามตัว ส่วนผู้สัมผัสความเสี่ยงต่ำ เป็นเจ้าหน้าที่ รพ.เอกชน 7 คน รอผลตรวจ และให้กักตัวแล้วเช่นกัน
ผวจ.ตากกล่าวด้วยว่า ได้สั่งการไปทุกอำเภอ ประสานทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ปกครองและชุมชนให้เพิ่มมาตรการในชุมชน เนื่องจากตลอดแนวชายแดนที่เป็นป่า เป็นภูเขา เป็นแม่น้ำ สมมติเขาหลุดรอดหน่วยลาดตระเวนเข้ามา สิ่งหนึ่งที่เขาต้องเดินทางคือบนถนน บนทางสาธารณะทั่วไปในหมู่บ้านหรือแม้กระทั่งในเขตอุทยานฯ หรือเขตป่าสงวน ดังนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดชุดลาดตระเวนภายในพื้นที่ของตนเอง พร้อมหาข่าวการลักลอบเข้ามาของคนแปลกหน้าในพื้นที่ชุมชน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทันที
ขณะที่ภาพรวมโควิด-19 ในไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานวันที่ 23 พ.ย.ว่า ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 7 คน เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสู่สถานกักกันของรัฐทั้งหมด แยกเป็นคนไทย 6 คน มาจากประเทศเยอรมนี เลบานอน เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร กาตาร์ สหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 คน และเป็นชาวซีเรียมาจากประเทศเลบานอน 1 คน ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,920 คน เสียชีวิตคงเดิมที่ 60 คน
ส่วนที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี วันเดียวกัน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการเรื่องแนวโน้มการพัฒนายาวัคซีนและเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์ของโควิด-19 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะคณะกรรมการบริหารบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ กล่าวว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ร่วมมือกับบริษัทแอสตราเซนเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีข้อตกลงการผลิตวัคซีน ซึ่งได้เริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาแล้ว ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เรามีข้อตกลงว่าการผลิตวัคซีนลอตแรกจะต้องแบ่งปันให้ประเทศอื่นในอาเซียน จากนั้นจึงเป็นการผลิตสำหรับคนในประเทศ ซึ่งต้องทยอยผลิต หากให้คนทั้งโลกได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 11 บริษัทที่มีอยู่ เพราะทุกคนตอบสนองวัคซีนแตกต่างกัน ดังนั้น กว่าเราจะมีวัคซีนใช้ได้จริงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ตอนนี้ขอให้คนไทยใช้วัคซีนส่วนตัวคือ การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ส่วนเรื่องยาต้านไวรัสนั้น ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่าไม่ควรใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ดังนั้น จึงเหลือยาฟาวิพิราเวียร์ที่ยังเป็นที่ยอมรับ จากการสอบถามกรมควบคุมโรค ทราบว่ามียาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศจำนวนมากเพียงพอ หากเกิดการระบาดอีกระลอกเชื่อว่ารองรับได้
...
นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 สัญชาติไทย ว่า คาดว่าจะเริ่มทดลองในคนได้เดือน เม.ย.2564 โดยบริษัท ไบโอเนคเอเซียที่ร่วมการทดลองกับทางคณะ มีการนำงบของบริษัทมาร่วมจัดซื้อวัตถุดิบในการผลิต ทั้งขวดใส่ยาและอื่นๆ แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ น้ำยาที่จะใช้ในการผลิต คาดว่าอาจไม่เพียงพอ เพราะบริษัทใหญ่ๆมีการจองซื้อไปหมดแล้ว ขณะนี้แม้ในกระบวนศึกษาทดลองของจุฬาลงกรณ์ได้รับงบประมาณ 300 ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติกลับได้รับแบบทยอยจ่าย งวดละ 42 ล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลอยากให้ความสำคัญ แต่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาการขับเคลื่อนวิจัยวัคซีนได้รับความร่วมมือทางวิชาการทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แต่งบประมาณส่วนที่ได้จากรัฐอาจไม่ทัน ต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้บริจาคไปก่อน
สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อตลอด 24 ชม. เพิ่มขึ้นอีกกว่า 515,000 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมใกล้แตะ 59 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่มเกือบ 8,000 คน รวมเสียชีวิตสะสมเฉียด 1.4 ล้านคน ส่วนที่สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ด้วยยอดสะสมผู้ติดเชื้อกว่า 12.5 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 262,000 คน ขณะที่เมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ยังพบผู้ติดเชื้อรายวันหลักพันคน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งไปใกล้หมื่นคนอยู่อันดับ 71 ของโลก เสียชีวิตรวม 1,739 คน
...
ส่วนความคืบหน้าเรื่องวัคซีนที่จีนเริ่มฉีดวัคซีนทดลองให้กับประชาชนแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนสหรัฐฯเตรียมเริ่มโครงการฉีดวัคซีนเร็วสุดในเดือน ธ.ค. คาดประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศก่อน 20 ล้านคน จากนั้นเดือนละ 30 ล้านคน ขณะเดียวกันวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ เผยประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ หลังทดลองกับอาสาสมัครกว่า 2 แสนคน โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศ อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในบราซิล แม้เปอร์เซ็นต์การป้องกันน้อยกว่าวัคซีนของ บ.ไฟเซอร์และ บ.โมเดอร์นา แต่ทางออกซ์ฟอร์ดอ้างว่าวัคซีนจะมีราคาถูกกว่า และเก็บรักษาได้ง่ายกว่าของไฟเซอร์กับโมเดอร์นา