• โควิด-19 จางแต่ยังไม่จบ คนไทยเตรียมพร้อมรับมือปัญหา ฝุ่น PM 2.5 
  • ประเภทหน้ากาก คุณสมบัติต่างกัน แนะวิธีเลือกให้เหมาะสม
  • ไอเดียหน้ากากประยุกต์ ปลอดภัยจากโควิด-19 พร้อมป้องกัน ฝุ่น PM 2.5

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในระดับวิกฤติ แต่ก็ต้องรักษาระดับการป้องกันอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ปัญหาที่ตามมาเป็นประจำทุกปี คือ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 โดย PM ย่อมาจาก Particulate Matter เป็นส่วนหนึ่งในมลพิษที่ลอยในอากาศ (Airborne Particulate Matter Pollution) ส่งผลให้ "หน้ากากอนามัย" ยิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ชีวิตประจำวันที่ต้องเจอทั้งฝุ่น PM 2.5 และยังต้องป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด-19 ควรเลือกใส่หน้ากากอนามัยแบบไหน ซึ่งอันดับแรก ต้องรู้ก่อนว่า หน้ากากอนามัยแต่ละประเภท ผลิตจากวัสดุใด และมีคุณสมบัติอย่างไร

...

หน้ากาก N95

หน้ากาก N95 ถือว่าเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 และ โควิด-19 เนื่องจากมีความสามารถในการกรองฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 3 ไมครอน ได้อย่างน้อย 95% ขึ้นไป ประกอบกับลักษณะของหน้ากากมีรูปทรงที่ครอบกระชับใบหน้า จึงเหมาะกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ

ข้อเสียคือ หาซื้อได้ค่อนข้างยาก มีราคาแพง ใส่ทำกิจกรรมหนักๆ เช่น วิ่งออกกำลังกายแล้วหายใจลำบาก

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เป็นหน้ากากอนามัยที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ผลิตจากพอลิโพรไพลีน ซึ่งเป็นพลาสติกช่วยป้องกันละอองน้ำลาย ที่ไอจามออกมา และในบางรุ่น ยังสามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย

ข้อดีคือ สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ราคาไม่แพง สามารถใช้แล้วทิ้งได้ แม้ว่าช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 จะสามารถหาซื้อได้ค่อนข้างยาก

สำหรับวิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องในการป้องกันโควิด-19 ทางมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำการสวมใส่ และถอดหน้ากากอนามัย ดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับหน้ากากอนามัย
2. ให้ด้านสีเขียวอยู่ด้านนอก และด้านที่มีโลหะอยู่ด้านบน
3. ดึงสายคล้องที่ใบหู
4. กดส่วนโลหะด้านบนแนบตรงสันจมูก ดึงหน้ากากอนามัยปิดจมูก และปาก

หลังจากใส่หน้ากากอนามัยแล้ว แนะนำวิธีการถอดและทิ้ง ดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาดก่อนถอดหน้ากากอนามัย
2. ใช้มือสองข้างดึงสายหน้ากากอนามัยออกพร้อมกันในแนวตรง
3. ทิ้งลงถังขยะ
4. ล้างมือทุกครั้งหลังถอดหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสำคัญคือ ห้ามใช้มือสัมผัสด้านหน้าของกากอนามัย เพราะอาจมีเชื้อโรคอยู่ และขณะสวมใส่นั้นหน้ากากอนามัยต้องปิดทั้งจมูกและปาก อย่าดึงลงมาไว้ใต้คาง

หน้ากากผ้า

หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หน้ากาก N95 หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดตลาด โดยมีการรณรงค์ให้ผู้ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ได้สวมใส่ ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถสวมหน้ากากผ้า และหมั่นล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส

ทำให้หน้ากากผ้าเริ่มกลายเป็นที่นิยม และมีการประยุกต์เป็นแฟชั่นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะหน้ากากผ้ามัสลิน ซึ่งมีคุณสมบัติดีที่สุด คุณภาพรองลงมาคือ ผ้าฝ้ายดิบ มีประสิทธิภาพต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้น้อยกว่าผ้าฝ้ายมัสลิน ส่วน ผ้าสาลู ต้านการซึมผ่านของละอองน้ำได้ดีเท่ากับผ้าฝ้ายมัสลิน แต่กักอนุภาคได้ไม่ดีเท่า

...

ข้อดีคือ เมื่อนำผ้ามาเย็บเป็นหน้ากาก 2-3 ชั้นพบว่าเส้นใยของผ้าสามารถกักอนุภาคได้ดี และยังสามารถนำกลับมาซักได้หลายครั้ง หาซื้อได้ง่ายในราคาไม่แพง

สำหรับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ของหน้ากากผ้านั้น สามารถทำได้โดยใส่สารเคลือบชนิดพิเศษป้องกันจุลินทรีย์ และทอด้วยเทคโนโลยี "อิเล็กโทรสปินนิ่ง" เพื่อให้เส้นใยนาโนเกิดรูพรุนขนาดเล็กไว้ดักจับฝุ่น PM 2.5

ฉะนั้น หน้ากากผ้าธรรมดา ที่เย็บขายกันทั่วไป ไม่มีการการันตีว่า เคลือบด้วยสารชนิดพิเศษป้องกันจุลินทรีย์ และทอด้วยเทคโนโลยี "อิเล็กโทรสปินนิ่ง" ก็ไม่สามารถใส่ป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 ได้

หน้ากากแบบประยุกต์

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แนะนำว่า การใส่หน้ากากแบบประยุกต์ คือใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไว้ด้านใน แล้วใช้หน้ากากผ้าใยสังเคราะห์ ที่เป็นลักษณะ 3 มิติเข้ากับใบหน้า สวมทับอีกชั้น กดให้หน้ากากแนบกับหน้าไว้

...

สังเกตว่าเวลาหายใจจะลำบากขึ้นกว่าการใส่หน้ากากอนามัยการแพทย์ธรรมดา เวลาหายใจเข้าจะรู้สึกได้ถึงการดูดของหน้ากากเข้ามาแนบกับใบหน้า ซึ่งถือว่าใช้ได้แล้ว

ข้อดีคือ สามารถถอดหน้ากากด้านในทิ้งได้ โดยที่ยังเก็บหน้ากากด้านนอกเอาไว้หรือซักได้ด้วย