เคาะชัดเจนแผนย้าย “สถานีผู้โดยสารกรุงเทพฯ” หรือ “หมอชิต 2” จากย่านใกล้สถานีกลางบางซื่อ กลับมาเปิดให้บริการใหม่ “ใจกลางเมือง” ในพื้นที่ “หมอชิตเก่า” ตรงข้ามสวนจตุจักรอีกครั้ง ด้วยการพลิกโฉมโปรเจกต์ “โครงการพัฒนาคอมเพล็กซ์” โดยมี “บริษัทเอกชน” ผู้เช่าพื้นที่พัฒนาโครงการจาก “กรมธนารักษ์” ที่ได้รับสิทธิดำเนินงานในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ดินราชพัสดุ

โครงการคร่าวๆ...ที่เป็นประเภท “อาคารมิกซ์ยูส” เนื้อที่ใน “ตัวคอมเพล็กซ์” สูงราว 36 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 82,193 ตร.ม. ส่วนประกอบ ศูนย์การค้า สำนักงาน ศูนย์ประชุม และลานจอดรถขนาดใหญ่ และพัฒนาบางส่วนเป็น “บขส.” รองรับการจอดรถ 2 ชั้น และสำนักงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

อีกทั้งจะมีทางยกระดับเข้าสู่สถานีเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก เช่น “ทางยกระดับบนถนนพหลโยธินฝั่งขาออก” และ “ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนพหลโยธิน” ฝั่งมุ่งสะพานควายยกระดับกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แยกเกียกกาย ในช่วงถนนพหลโยธิน และถนนกำแพงเพชร เชื่อมต่อโครงข่ายด้านตะวันตกกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังมี “ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนวิภาวดีรังสิต และดอนเมืองโทลล์เวย์” เพื่อเชื่อมพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารกับถนนวิภาวดีรังสิตกับโทลล์เวย์ รองรับรถโดยสารและรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์เข้าออกโครงการ จะมีทางขึ้น-ลงเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต ที่จะมีการเวนคืนที่ดินหลายแปลง

...

คาดว่า...ปี 2564 เริ่มก่อสร้างถ้าผลศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านเรียบร้อยใช้เวลา 5 ปี

กลายเป็นข้อกังวล “หลายฝ่าย” ต่างออกมาให้ความเห็นอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างมากมาย ทั้งเรื่องปัญหาการจราจรที่ติดขัด ตลอดจนความไม่แน่นอน และความชัดเจนในนโยบายด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการวางแผนระบบคมนาคมขนส่งนี้ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง กทม. ให้ข้อมูลว่า

สถานีหมอชิตเก่า เริ่มเปิดทำการปี 2503 บนพื้นที่ “กรมธนารักษ์” ให้บริการผู้โดยสารจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และวันดีคืนดีก็มี “โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช

หลักวิศวกรรม “โรงซ่อมบำรุง โรงจอดพักรถ และศูนย์ควบคุม” ต้องตั้งอยู่ปลายทางเดินรถไฟฟ้า ทำให้เลือกใช้พื้นที่ “สถานีหมอชิตเก่า” เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง เพราะปลายทาง “สถานีอ่อนนุช” ไม่มีพื้นที่ใหญ่เพียงพอ

ในปี 2541 ได้ย้ายสถานี บขส.มาตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2 เรียกว่า “สถานีหมอชิต 2” ในพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะมีเนื้อที่ขนาดใหญ่เป็นตัวกำหนด ที่ไม่วางแผนการใช้งานในอนาคต ต่อมา “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” ก็เกิดขึ้นในเส้นทางหลักสอง-บางซื่อ ตามแผนแม่บทวิ่งเชื่อมต่อ “หมอชิต 2” แต่มีปัญหาเชื่อมต่อยากอีก

กระทั่ง “โครงการสถานีกลางบางซื่อ” ศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆก็เกิดขึ้นมา เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถขนส่งสาธารณะ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในอนาคตจะเชื่อมรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน คือสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา

ซึ่งมีการเตรียมพัฒนาพื้นที่นี้สู่ “เมืองอัจฉริยะ” ทำให้โครงการอยู่อาศัย มีระดับราคาทั้งบ้าน คอนโด และที่ดินในทำเลบางซื่อเติบโตขึ้น ก่อนที่จะผลักดัน “สถานีหมอชิต 2” ออกจากพื้นที่การรถไฟฯ กลับไปอยู่พื้นที่เดิม

ประเด็น “บขส.” ต้องย้ายกลับมานี้ “หมอชิตเก่า” ก็ยังมีเงื่อนไขการใช้พื้นที่ของ “กรมธนารักษ์” อีกประการ เริ่มปี 2535 ในระหว่าง “กทม.ส่งมอบสัมปทานให้บีทีเอส” บริการรถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ ที่ครอบคลุมสายสุขุมวิท และสายสีลม 23.5 กม. ระยะเวลา 30 ปี และใช้พื้นที่หมอชิตเก่า เป็นโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้านี้

อีกทั้ง “กรมธนารักษ์” ก็ให้สัมปทาน “บริษัทเอกชน” ในวันที่ “บขส.” ย้ายไปถนนกำแพงเพชร 2 เพื่อสร้างโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่มีเงื่อนไขต่อว่า โครงการเสร็จแล้ว บขส.ต้องกลับไปใช้พื้นที่เดิมด้วย

...

แต่โครงการกลับไม่ผ่าน พ.ร.บ.รวมทุนฯ พ.ศ.2535 จนมีกระบวนการผลักดันนำสู่ ครม. เห็นชอบหลักการ และประกาศใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ในปี 2555 ก็ประกวดราคาให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการโครงการทันที

และยัดโครงการ “บขส.”เข้ามาอยู่ในแผน ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 และ ชั้น 3 เพื่อเป็นไปตามสัญญาการย้ายกลับมายังพื้นที่เดิม และพ่วงผูกมัดการดำเนินโครงการถนนลอยฟ้าเชื่อมโทลล์เวย์ ให้มีประเด็นความเหมาะสม และเพิ่มมูลค่าให้ตัวโครงการยิ่งขึ้นด้วย

เพราะ “รถโดยสาร” เข้าสถานีหมอชิตคอมเพล็กซ์ได้ ต้องวิ่งบนถนนลอยฟ้าเท่านั้น ทำให้มีโครงการทำทางเชื่อมยกระดับด้านถนนวิภาวดีรังสิต และดอนเมืองโทลล์เวย์ เชื่อมเข้าพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารรองรับรถโดยสาร และรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์เข้าออกโครงการจะมีทางขึ้น-ลงเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตอย่างสวยงามสมบูรณ์แบบ

สาเหตุของที่มาการออก พ.ร.ฎ.พื้นที่เวนคืนที่ดิน บริเวณซอยยาสูบ 1 หรือซอยวิภาวดีรังสิต 5 ระยะทาง 530 เมตร 35 แปลง โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 21 รายการ โดยเขตทางที่จะเวนคืนกว้างที่สุดอยู่ที่ 300 เมตร แคบสุด 100 เมตร ค่าก่อสร้างตอนนั้น 1,650 ล้านบาท และค่าเวนคืน 300 ล้านบาท

“วันนี้สถานีกลางบางซื่อคือศูนย์คมนาคมขนส่งและจุดเปลี่ยนถ่ายในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ ที่ไม่ใช่หมอชิตเก่าต่อไป แต่มีความพยายามใช้ประโยชน์จากการย้าย บขส. เป็นข้ออ้างในการเวนคืนที่ดิน และดำเนินการโครงการสร้างถนนลอยฟ้าเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตกับโทลล์เวย์ เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อเอกชนเชิงพาณิชย์”

...

เพราะ “การเวนคืนที่ดิน” ที่ภาครัฐทำการบังคับขอซื้อที่ดินคืนจาก “ประชาชนเจ้าของที่ดิน” ต้องนำไปใช้ในกิจการที่เป็นสาธารณประโยชน์ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ดังนั้น การพัฒนา “โครงการคอมเพล็กซ์” ให้มีถนนหนทางสะดวก จึงต้องดึง บขส.ที่เป็นสาธารณประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย...

จริงๆแล้ว...การเวนคืนที่ดิน และการก่อสร้างถนนลอยฟ้า อาจต้องเสียงบประมาณไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท และคิดกันเล่นๆ ไม่ต้องดำเนินการก่อสร้างถนนลอยฟ้านี้ นำเงินนี้ไปพัฒนาประเทศส่วนอื่นได้มากมาย หรือใช้เงินก้อนนี้ดำเนินการหาพื้นที่จัดตั้ง บขส.ใหม่นอกเมือง ก็อาจสามารถสร้างเมืองใหม่ได้สบายด้วยซ้ำ

สิ่งสำคัญไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ตอนนี้กลับกำลังนำ “สถานีหมอชิต 2” มาเป็นข้ออ้างต่อรองให้โครงการขนาดใหญ่เกิดความสมประโยชน์เท่านั้นเองหรือไม่...

โดยเฉพาะการจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดิน และสร้างถนนลอยฟ้า ที่จะเป็นตัวทรัพย์สินสาธารณะ กลับไม่เชื่อมโยงต่อประโยชน์สาธารณะโดยตรง จนถูกมองว่า “เอื้อประโยชน์ให้ตัวโครงการมากกว่าด้วยซ้ำ” หากเป็นเมื่อ 30 ปีก่อน อาจจำเป็นจริงๆ เพราะยังไม่มีสถานีกลางบางซื่อ ตอนนี้มีแล้วตรงนั้น บขส.ก็ควรอยู่จุดเดิมเหมาะสมกว่า...

เมื่อเป็นเช่นนั้น...กทม.ก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 1-2 พันล้านบาท ในการเวนคืนที่ดิน และการก่อสร้างถนนลอยฟ้า ทำให้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงก็ไม่เดือดร้อน ทั้งจะได้รับ “การปลดทุกข์” ที่จะได้อยู่กันอย่างมีความสุขกันได้เสียที จากที่ต้องทุกข์ทนทรมานมานานกว่า 20 ปีแล้ว เพราะมีความกังวลว่าเกรงจะถูกเวนคืนที่นี้มาตลอด

ตอกย้ำข้อกล่าวหาถึงขนาดว่า...“โครงการถนนลอยฟ้านี้ ผู้ได้ประโยชน์อาจเป็นโครงการคอมเพล็กซ์” เพราะบริษัทสำรวจความเห็นชาวบ้านและออกแบบก่อสร้างโครงการล้วนเป็นคนของเจ้าของโครงการ ซ้ำร้ายเงินก็ไม่ต้องจ่ายสักบาท ส่วน “บขส.” ได้ใช้ประโยชน์น้อย ที่มีผลกระทบต่อจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

...

จนมีกระแสว่า “ผู้ใหญ่” กำลังบีบ “บขส.อย่าพูดมาก” ทำให้ต้องเดินตามนโยบายกันไป

ต้องเข้าใจว่า...“ข้าราชการบางคน” ชอบเป่าตาม “โน้ต” มักไม่คิดนอกกรอบ เมื่อมีแผนแม่บทมาแล้วก็ต้องเดินตามนั้น เพราะไม่มีใครขัดแย้งกับ “นาย” ที่สั่งแบบไหนก็ต้องได้ตามนั้น แม้แต่รู้ดีว่า “การเวนคืนที่ดิน” ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน และ “ภาครัฐ” ต้องเสียงบมากมาย ก็เก็บไว้ในใจ ไม่มีการเสนอแนะใดๆออกมา...

โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 แต่วันนี้ปี 2563 สถานการณ์ปัจจัยภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลงจนหมด สุดท้าย...“ภาครัฐ” จ่ายค่าเวนคืน และค่าก่อสร้างถนน มีผลกระทบถึง “ชาวบ้านเดือดร้อน ถูกเวนคืนที่ดิน”... ที่อาจไม่ก่อเกิดประโยชน์ตามประสงค์...แต่ผู้ได้ประโยชน์เต็มๆกลับเป็นเจ้าของโครงการ.