เหตุปมมวลน้ำมหาศาลไหลหลากเข้าท่วม “โคราช” กระแสน้ำเข้าถนนสายหลัก สายรองขาดสัญจรไม่ได้ชั่วคราว และประชาชนต้องอพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่ปลอดภัย กลายเป็นเหตุการณ์ในหลายพื้นที่ถูก “น้ำท่วมจมบาดาล” อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบ 40–50 ปี
และบ้านเรือนคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 17 อำเภอ 79 ตำบล 365 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 16,703 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ถนน 24 สาย สะพาน 12 แห่ง วัด 6 แห่ง โรงเรียน 7 แห่ง และฝาย 1 แห่ง
ไม่เท่านี้ มวลน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน ยิ่งไหลทะลักตามคลองลำพระยาธาร เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน เข้าท่วมโรงแรม และรีสอร์ตแห่งหนึ่งในทับลาน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี อย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูงถึงหน้าอก นักท่องเที่ยว 160 คน ต่างพากันหนีตายออกมาด้านนอก
ส่วนลานจอดรถกระแสน้ำไหลทะลักเข้าท่วมรถยนต์จมน้ำกว่า 60 คัน บางคันถูกกระแสน้ำซัดไหลไปตามทางน้ำสูญหาย และสัตว์เลี้ยง เช่น แพะ แกะ ม้า วัวพันธุ์บราห์มัน 100 ตัว คอกน้ำท่วม สัตว์ต้องแช่ในน้ำ
...
ก่อนที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Primnapaphas Ice โพสต์ข้อความว่า “ปลอดภัยทุกคนแล้วค่ะ #น่าจะเป็นทริปที่แพงกว่าไปยุโรป #รถหายสาบสูญไปกับน้ำป่าเรียบร้อยแล้ว” ทั้งยังได้ลงภาพน้ำท่วมบริเวณรีสอร์ต 1 ชั้น จนเกือบมิดประตู รวมทั้งความรุนแรงของน้ำป่า ทำให้รถที่จอดไว้หายไปกับน้ำด้วย
นอกจากนี้ น้ำป่ายังไหลเข้าท่วมถนน 304 หลัก กม.ที่ 195+300-195+600 บริเวณอุโมงค์เชื่อมผืนป่าเขาใหญ่-ทับลาน ระดับน้ำ 1.80 เมตร มีรถติดในอุโมงค์ 3 คัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร เร่งเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสภากาชาดไทยมอบชุด “ธารน้ำใจ” ทำให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเป็นบางพื้นที่แล้ว
แต่ว่า...“อ่างเก็บน้ำ 17 แห่ง” มีน้ำเกินล้นทะลักอ่างเก็บน้ำอยู่ ตามรายงานสถานการณ์น้ำวันที่ 5 พ.ย.63 โครงการชลประทานนครราชสีมา พบว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ปริมาณเกินความจุแล้ว
ได้แก่...1.อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ปริมาณน้ำ 364.400 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 115.87% ของความจุอ่าง 314.49 ล้าน ลบ.ม. 2.อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ปริมาณน้ำ 166.500 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 103.55% ของความจุ 155 ล้าน ลบ.ม. และ 3.อ่างเก็บน้ำมูลบน ปริมาณน้ำ 155.603 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 110.36% ของความจุ 141 ล้าน ลบ.ม.
อีกทั้ง “อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง” มีปริมาณน้ำเกินระดับเก็บกักหรือเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ อ่างลำสำลาย อ.ปักธงชัย อ่างบะอีแตน อ่างลำเชียงสา อ่างบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว อ่างห้วยซับประดู่ อ.สีคิ้ว อ่างห้วยปราสาทใหญ่ อ่างลำเชียงไกร (ตอนบน) อ.ด่านขุนทด อ่างห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่
อ่างห้วยสะกาด อ.พิมาย อ่างลำฉมวก อ.ห้วยแถลง อ่างห้วยทับครัว อ่างห้วยเพรียก อ.ครบุรี อ่างห้วยหิน อ.เสิงสาง และอ่างลำปลายมาศ อ.เสิงสาง คาดว่าจะมีแนวโน้มปริมาณจะล้นเพิ่มขึ้นจากผลพวง “พายุโคนี” คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและภาคอีสานในช่วงปลายสัปดาห์ 5–7 พ.ย.นี้
ในการนี้ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ก็ออกประกาศเตือน “พายุโซนร้อนโคนี” (พายุระดับ 3) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 6-7 พ.ย.2563 ลงเวลา 16.00 น. วันที่ 5 พ.ย.2563 พายุโซนร้อนโคนี มีศูนย์กลางห่าง 170 กม. ด้านตะวันออกเมืองกวีนอน ประเทศเวียดนาม ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กม.ต่อชม.
กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ในเช้าวันที่ 6 พ.ย. ที่จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชาส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางกับลมแรง
บริเวณ อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ขอประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและลมแรงด้วย
ปริมาณฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากท่วมหลายพื้นที่นี้ ดร.เกษม ปิ่นทอง ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยน้ำท่วม “โคราช” เกิดจาก “พายุ” เข้ามาผสมผสานร่วมอยู่ด้วย ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักสะสมค่อนข้างมากติดต่อกันเป็นเวลานาน
...
คราวนั้นลักษณะ “ลมเคลื่อนตัวช้า” ทำให้ฝนตกหนักแช่นาน สามารถวัดปริมาณน้ำฝนสะสมได้มากกว่า 140-150 มิลลิเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน” ที่เกิดน้ำป่าไหลหลากตามเชิงเขาลงอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อีกส่วนไหลลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จนเกิดน้ำท่วมขังสูงในหลายแห่งนี้
ฝนตกเช่นนี้แม้ว่า “นครราชสีมา” มีพื้นที่ราบสูงมากเพียงใด ก็ย่อมหนีไม่พ้นน้ำท่วมเช่นเดิม สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก “สภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้ “กลไกฤดูกาล” ขยับคลาดเคลื่อนออกไปจากข้อมูลสถิติเดิม อีกทั้งส่งผลให้ “สภาพอากาศแปรปรวน” เปลี่ยนไปมากกว่าอดีต ที่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เรื่องนี้ยังเกิดขึ้นทั่วโลก
เพราะต้องยอมรับว่า “อดีตการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศค่อนข้างน้อย” ซึ่งความจริงแล้วเหตุการณ์นี้อาจจะเกิดขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่อดีตก็ได้ แต่ด้วยปัจจุบันเริ่มมีระบบเก็บข้อมูลดีขึ้น ทำให้เห็นสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงชัดเจน ในลักษณะฝนขยับเคลื่อนออกไปนี้ ก็มักตกใต้เขื่อนเก็บน้ำ ทำให้น้ำเข้าน้อยตามมาด้วยเช่นกัน
...
จริงๆแล้ว...“เขื่อนเก็บน้ำ” มีวัตถุประสงค์ คือ 1.“ชะลอน้ำ” ไม่ให้เกิดน้ำท่วม และ 2.“กักเก็บน้ำ” ใช้ยามฤดูแล้ง สิ่งสำคัญ 2 เรื่องนี้กลับขัดแย้งกันสิ้นเชิง เพราะหาก “ปล่อยน้ำเยอะ” ก็เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ในทางกลับกัน “เก็บน้ำมาก” อาจเกิดน้ำท่วมอีก ดังนั้นจำเป็นต้องบริหารน้ำให้สมดุลเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยทั้ง 2 ด้าน
ปัญหามีอยู่ว่า “การบริการจัดการน้ำ” กลับมักนำข้อมูลสถิติเก่า 30 ปีก่อนนี้มาวิเคราะห์ตั้งสมมติฐาน “คำนวณปริมาณตกของฝน” แต่เมื่อยุคนี้ “อากาศแปรปรวน” เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว ทำให้รูปแบบการจัดการน้ำค่อนข้างทำได้ยาก แต่เท่าที่ทราบ “นักวิจัย” ก็พยายามศึกษาติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ประเด็น...“น้ำป่าไหลหลากบนทางหลวง 304 ถึงอุโมงค์เชื่อมผืนป่าทับลาน จ.ปราจีนบุรี” ที่เกิดจากน้ำป่า “เขาใหญ่ และทับลาน” ไหลหลากลงมาด้วยความเร็ว เพราะการใช้พื้นที่ดินปรับเปลี่ยนไปจากธรรมชาติ กลายเป็นตัวเร่งน้ำไหล อีกทั้ง “อุโมงค์เชื่อมผืนป่า” ก็มีลักษณะเป็น “แอ่งกระทะ” ทำให้ก้อนน้ำมารวมกันอยู่จุดนี้
หลักความจริง...“จุดเชื่อมผืนป่าทับลาน” ไม่ใช่เป็น “อุโมงค์” แต่มีลักษณะเสมือนเป็น “หลังคาครอบถนน” วัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย ในการให้สัตว์ป่าข้ามไปมาเชื่อม “ผืนป่าดงพญาเย็น” โดยให้ยานยนต์วิ่งลอดด้านใน ส่วนสัตว์ป่าเดินผ่านบนอุโมงค์ข้ามฝั่ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
...
“ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ออกแบบ และดูแบบโครงสร้างจุดเชื่อมผืนป่านี้ ซึ่งผู้ออกแบบได้ใช้หลักคำนวณน้ำท่วมมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากในรอบ 50 ปีต่อครั้งด้วยซ้ำ เพราะหลักการนี้ยิ่งคำนวณความเป็นไปได้ยาวนานมากเพียงใด ย่อมต้องใช้งบก่อสร้างสูงเท่านั้น และไม่ได้ออกแบบให้ถนนเส้นนี้เป็นที่ระบายน้ำ” ดร.เกษม ว่า
ตอนนี้ต้องพูดกันในเรื่อง “การป้องกันน้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก” จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย “แจ้งเตือนภัย” โดยเฉพาะยุคนี้ “สถานีเตือนภัย” มีราคาถูกมากกว่าอดีต และการแจ้งเตือนนี้จะทำให้หน่วยงานรัฐพร้อมรับมือภัยพิบัติ หรือแจ้งให้ประชาชนรู้ตัวล่วงหน้าในการเตรียมตัวอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ดีที่สุด
และยังสามารถนำ “ข้อมูลแจ้งเตือน” จัดเก็บเข้าระบบเป็นฐานข้อมูลในการศึกษา วิเคราะห์คำนวณ วางแผนในอนาคตได้อีก เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงโอกาสก่ออันตรายแก่ประชาชนได้ดีที่สุด ส่วน “เรื่องน้ำฝน” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกำหนดมาตรฐานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ลำดับต่อไปนี้...คงต้องมาคำนึงถึง “ระบบเตือนภัย” เพื่อให้มีกลไกรับรู้ข้อมูลเหตุการณ์สุ่มเสี่ยง เพราะภัยธรรมชาตินี้สามารถทำได้เพียงการ “คาดเดา” ที่ไม่มีใครคำนวณความแน่นอนอย่างแม่นยำได้ แม้แต่ “ความรุนแรง” ก็ยังมีความแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ด้วยซ้ำ
ฉะนั้นคงต้องลงทุนติดตั้ง “ระบบแจ้งเตือน” จุดเสี่ยงทางบกควบคุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ให้รับรู้รวดเร็ว และถูกต้องใกล้เคียงที่สุด เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจอยู่กันได้อย่างปลอดภัย.