แม้ใบอนุญาตนำเข้าเศษขยะพลาสติกตามโควตาค้างเก่าจะหมดสิ้นลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2563 แต่ก็ไม่ใช่ว่า “หมดหนทางที่เป็นการปิดประตูถาวร” จนไม่สามารถมีโอกาสนำเข้ามาใหม่ได้สิ้นเชิง เพราะยังมี “กลุ่มภาคอุตสาหกรรมบางประเภท” พยายามเคลื่อนไหวออกมาแสดงความจำนงต้องการนำเข้าเศษพลาสติกผ่าน “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” เมื่อครั้งการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 2/2563 ในวันที่ 11 ก.ย.2563 ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุผลว่า...วัตถุดิบที่มีภายในประเทศไม่เพียงพอ คุณภาพต่ำปนเปื้อนสูง จำเป็นที่ต้องขอนำเข้าเศษขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกอยู่เช่นเดิม
คณะอนุกรรมการฯ ก็ให้กลับไปสำรวจ “ตัวเลขเศษขยะพลาสติกที่มีในประเทศ” และ “ผู้ประกอบการ” ที่มีความจำเป็นต้องนำเข้าเศษพลาสติก แล้วรวบรวมตัวเลขทั้งหมดกลับมาเสนออีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า โควตานำเข้าขยะหมดสิ้นแล้ว ที่จะไม่มีการนำเข้า และยังไม่มีโควตาใหม่ ในส่วน “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” มีความจำเป็นต้องนำเข้าขยะนั้นยินดีรับทราบข้อเสนอจากทุกหน่วยงาน...
เพราะพูดอยู่เสมอว่า...“การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จะต้องเดินควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ” แต่เมื่อขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันตัวเลขที่ตรงกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่สามารถอนุมัติการนำเข้าขยะเข้ามาได้ หากต้องนำเข้าขยะมาก็ต้องดูจากความจำเป็นจริงๆ และต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเสียก่อน
...
แสดงให้เห็นได้ว่า...“ประตูการนำเข้านี้” อาจเป็นเพียงการ “คล้องใส่กุญแจไว้ชั่วคราว” ถ้าเมื่อใด “มีตัวเลข” ลงตัวตรงกันชัดเจน ก็เสนอเข้าต่อคณะอนุกรรมการฯ ให้พิจารณา “เปิดโควตาใหม่” ในการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศเช่นเดิม เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบรีไซเคิล และผลิตสิ่งของในประเทศ
จนถูกมองว่า “เอื้อประโยชน์” ให้โรงงานในการรับขยะจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากหรือไม่ กลายเป็นความกังวลสำคัญว่า “ประเทศไทยเสี่ยงเป็นจุดรับขยะ” กลับมาอีกครั้ง ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ทางกฎหมายของไทยที่ยังไม่สามารถควบคุมเรื่องขยะได้มากพอ
ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม 62 องค์กร มีความห่วงใยต่อประเด็นนี้ที่อาจส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาขยะในประเทศ จึงนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อประธานคณะอนุกรรมการนี้
เพื่อให้ยืนยันมติเดิมเมื่อปี 2561...“กำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2563”
การนำเข้าเศษพลาสติกนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า การอนุญาตนำเข้าโควตาเศษพลาสติกสิ้นสุดแล้ว ในวันที่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นไป “ประเทศไทย” ต้องห้ามนำเข้าเศษพลาสติกอีกต่อไป
แต่ด้วยมีแรงกดดันใน “ภาคอุตสาหกรรมในไทย” ที่ยังต้องการนำเข้ากันอยู่ ในช่วงนี้ก็อยู่ระหว่างต่อรองของภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้ “กรมควบคุมมลพิษ” ในฐานะเลขาคณะอนุกรรมการฯ ก็มีการประชุมหลายฝ่าย ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อหารือผลสรุปตัวเลข และความต้องการเปิดโควตาใหม่
ประเด็นนี้ “เครือข่ายภาคประชาสังคม” ก็มีการยื่นขอข้อสรุปการหารือครั้งนี้ด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธ เพราะหน่วยงานรัฐมีความพยายามปิดบังข้อมูลให้เป็นความลับกันอยู่ ทำให้ต้องมีแผนขับเคลื่อนต่อต้านกันต่อ ด้วยการรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านราว 3 หมื่นรายชื่อเตรียมยื่นต่อ “รัฐบาล” ในการคัดค้านการเปิดโควตานำเข้าใหม่
จริงๆแล้ว...กระแส “ทั่วโลก” มีการหยุดเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกระหว่างประเทศกันมานานแล้ว ในส่วน “ประเทศไทย” ต้องอาศัยพลังความเข้มแข็งของ “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เป็นหัวเรือหลักที่ต้องหนักแน่น ในการ “ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกเด็ดขาด” ย้อนกลับไปยึดตามนโยบายมาตรการเดิมในปี 2561
...
แต่แนวโน้มก็เชื่อได้ว่า...ในปี 2564 จะมีการผ่อนผันนำเข้าเศษพลาสติก ด้วยเหตุข้ออ้างข้อเรียกร้อง “กลุ่มโรงงานรีไซเคิลในประเทศ” ที่ยังต้องการวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพราะในประเทศไม่เพียงพอ และคุณภาพต่ำ ส่วนปีถัดไปจะเปิดโควตาอีกหรือไม่นั้น “ภาคประชาชน” ต้องกระตุ้นต่อต้านตรวจสอบอย่างแข็งขันกันต่อไป
มองว่า “เหตุผลข้ออ้างนั้นไม่จริง” ตามข้อมูลลึกๆ เรื่องนี้เป็นความคืบคลานในเชิงผลประโยชน์ระหว่างบริษัทโรงงานรีไซเคิลผลิตพลาสติกในประเทศ และประเทศต้นทางขยะพลาสติก ต้องการผลักออกจากประเทศอยู่แล้ว เพราะ “ประเทศไทย” มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างมีความอ่อนแอ
อีกทั้งยังสงสัยว่ามี “ข้าราชการบางคน”? ต่างรู้เห็นเป็นใจให้มีการนำเข้ามา ที่มีทั้งแบบถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ดังนั้น เศษพลาสติกนำเข้ามาได้ล้วนแล้วเป็นผลประโยชน์ที่จะได้รับกันทั้งสิ้น...
ตอกย้ำ...สถิติการนำเข้าขยะพลาสติกของไทยที่มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์หลังจีนปิดประตูนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่ปลายปี 2560 มีพุ่งสูงขึ้น 152,737 ตัน ปี 2561 เป็นจุดสูงสุด 552,912 ตัน และแล้วค่อยๆ
ลดลงหลังมีเหตุการณ์จับกุม และรัฐบาลสั่งห้ามนำเข้า โดยปลายปี 2562 ก็มีนำเข้า 323,167 ตัน
...
ปี 2563 จำนวน 96,724 ตัน ในจำนวนตัวเลขปลายปี 2561-30 ก.ย.2563 เป็นช่วงผ่อนผันตามโควตาค้างเก่า แต่กลับมีนำเข้าเกินโควตาอย่างมากด้วยซ้ำ ในการนำเข้าเศษพลาสติกนี้กลับเป็นการสวนทางกับนโยบายของ “รัฐบาล” ที่กำลังรณรงค์ให้ลดขยะภายในประเทศ
ข้อน่าสังเกต...“โรงงานรีไซเคิลเศษพลาสติกในเขตอีอีซี” ก็เริ่มมีเพิ่มสูงมากขึ้นเช่นกัน ตั้งแต่ปลายปี 2560 หลังจาก “ประเทศจีน” ประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเด็ดขาด โดยเฉพาะในปี 2561-2562 มีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะ “เขตอีอีซี” ถูกบังคับให้ใช้ “กฎหมายพิเศษ” มีข้อยกเว้นข้อกฎหมายทั่วไปมากมาย
ลักษณะเสมือนเอื้อสิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ เช่น สิทธิยกเว้นลดหย่อนภาษีนำเข้า หรือส่งออกสินค้า โดยเฉพาะไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมบางอย่าง ด้วยการใช้ “กฎหมายอีอีซี” ที่มีสิทธิเหนือกฎหมายฉบับอื่น ทำให้ “โรงงานรีไซเคิล” ต่างมุ่งเข้าตั้งโรงงานในเขตอีอีซี ที่ไม่ต้องไปต่อสู้กับประชาชนผู้คัดค้าน
และมีนัยสำคัญ...“ในการนำเข้าเศษพลาสติกเสรี” ไม่ต้องยึดตามโควตา และไม่ต้องถูกตรวจสอบตู้สินค้า ที่มุ่งตรงเข้าพื้นที่อีอีซีได้เลย ในส่วน “นอกเขตอีอีซี” ก็ต้องเป็นไปตามระบบโควตาเช่นเดิม
ตามข้อมูลออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานปี 2553-2563 มีโรงงานลำดับที่ 53 กิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก 2,141 โรง ในจำนวนนี้ จ.ชลบุรี 264 โรง ระยอง 104 โรงฉะเชิงเทรา 69 โรง และโรงงาน 105 กิจการเกี่ยวกับการคัดแยก ฝังกลบหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว 621 โรง ในพื้นที่ชลบุรี 99 โรง ระยอง 83 โรง ฉะเชิงเทรา 76 โรง
ประเภทโรงงาน 106 กิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม 438 โรง ในพื้นที่ชลบุรี 55 โรง ระยอง 40 โรง ฉะเชิงเทรา 81 โรง ลักษณะเสมือนปล่อยให้เปิดโรงงานในประเทศแบบไม่ควบคุมจำนวนด้วยซ้ำ
...
กลายเป็นข้ออ้างว่า...“โรงงานกลุ่มนี้” ต้องการวัตถุดิบนำไปผลิตเม็ดพลาสติก ดังนั้น ตอนนี้ต้องคุมโรงงานที่มีอยู่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และต้องไม่อนุญาตให้มีโรงงานรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอีก ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “กลิ่นสารเคมี” ที่ก่อโรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ
ปัญหานี้ “ภาคประชาสังคม 62 องค์กร” ต่างก็กำลังประเมินปัญหาสถานการณ์ต่างๆกันอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางออกร่วมกันด้วยการ “งัดกฎหมายที่มีอยู่” นำมาใช้บังคับในการผลักดัน “ยกเลิกนำเข้าขยะถาวร” ทั้งเขต
อีอีซี และนอกเขตอีอีซี เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลประโยชน์ของชาติ
เช่นนี้แล้ว “ภาครัฐ” คงต้องทำหน้าที่คุ้มครองประชาชน และปกป้องสิ่งแวดล้อม “ประเทศไทย” อย่างยิ่งยวด ไม่ใช่โอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดัน “กลุ่มนายทุน” เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์จากการนำเข้าขยะต่างประเทศเท่านั้น.