เมื่ออดีตสามีและอดีตภรรยาไม่ลดทิฐิต่อกัน ก็อาจจะเป็นเหตุให้ใช้อำนาจปกครองในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ปั่นหัวเด็ก หรือไม่อนุญาตให้เด็กได้เจอกับอีกฝ่าย สวัสดีท่านผู้ทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจ และเชื่อว่าเป็นปัญหาใหญ่ของหลายๆ ครอบครัวที่สามีภรรยาแยกทางกัน โดยมีบันทึกข้อตกลง หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล เกี่ยวกับเรื่องอำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดู และสิทธิในการติดต่อบุตรตามสมควร ฯลฯ
ผมเชื่อว่าหลายท่านยังไม่ทราบถึงอำนาจพิเศษในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ซึ่งคู่ความอาจจะร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นเอง ศาลอาจจะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สั่งให้คู่ความในคดีปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับได้
ส่วนใหญ่เมื่อบิดามารดาแยกทางกันแล้ว บุตรอาจจะต้องอยู่กับคนใดคนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่มีอำนาจปกครองย่อมมีสิทธิ์ที่จะติดต่อบุตรของตนได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ ฝ่ายที่ดูแลปกครองบุตรจะกีดกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งติดต่อบุตรนั้น ทำไม่ได้ แม้ฝ่ายที่ขอติดต่อบุตรจะมิได้ส่งเสียค่าอุปการะเลี้ยงดูเลยก็ตาม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
หากฝ่ายที่ใช้อำนาจครองมีพฤติการณ์กีดกันไม่ให้อีกฝ่ายติดต่อกับบุตร ศาลอาจจะออกหมายเรียกให้มาตักเตือนหรือสั่งกักขัง จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ก็เป็นไปได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1584/1 บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม
หากฝ่ายที่มีหน้าที่ในการส่งเสียเลี้ยงดูบุตร ไม่ส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ฝ่ายที่ดูแลบุตรก็สามารถใช้สิทธิทางศาล เพื่อบังคับให้อีกฝ่ายส่งเสียเลี้ยงดูบุตรได้ โดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือบันทึกข้อตกลง
...
ในกรณีที่ถูกกีดกันไม่ให้พบบุตร ฝ่ายที่ถูกกีดกันก็สามารถใช้สิทธิทางศาล เพื่อบังคับให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยให้ติดต่อบุตรได้เช่นเดียวกัน
หากคู่ความหรือผู้ที่ถูกคำสั่งบังคับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับตัวมาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับอีกโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีพฤติการณ์จงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ “ให้ศาลมีอำนาจกักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง”
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
มาตรา 161 เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำบังคับที่ไม่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 159 หากความปรากฏต่อศาลเองหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้แทนหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องต่อศาลว่าคู่ความหรือผู้ที่ถูกคำสั่งบังคับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับตัวมาไต่สวน และตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับอีกโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีพฤติการณ์จงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ให้ศาลมีอำนาจกักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับแต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่าสิบห้าวันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว
สุดท้ายนี้ บิดามารดาย่อมมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้การศึกษา อบรมสั่งสอนให้บุตรเป็นคนดี และไม่เป็นภาระแก่สังคม แม้กฎหมายจะบัญญัติหน้าที่ไว้เฉพาะบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่หน้าที่ตามศีลธรรมจรรยา มนุษยธรรม และจิตใต้สำนึก นั้น ย่อมยิ่งใหญ่กว่ากฎหมายเสมอ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook : ทนายเจมส์ LK
Instagram : james.lk