เงื่อนปมปัญหา “ขยะพลาสติกจากต่างประเทศ” ที่ยังคงทะลักเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมหาศาล กำลังจะกลายเป็นปลายทางการกำจัดขยะ เพราะ “ผู้ประกอบการ” ยังถือใบอนุญาตค้างเก่า และมีโควตานำเข้าเศษพลาสติกหลงเหลืออยู่ราว 2 แสนตัน ก่อน “รัฐบาล” สั่งห้ามนำเข้าในปี 2561

แม้ว่าเป็นการ “อนุญาต” ให้นำเข้าเฉพาะ “เศษพลาสติก” สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเป็นพลาสติกใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนบริษัทต่างชาติในประเทศ และตอบสนองสินค้าพลาสติกราคาถูกจากขยะรีไซเคิล

ในบางครั้งมักมีการ “ยัดไส้ขยะ” ไม่สามารถรีไซเคิลได้ปะปนมาด้วย เพราะ “ประเทศต้นทางขยะ” ต้องการให้ประเทศปลายทางเป็นพื้นที่ทิ้งขยะไร้ประโยชน์อยู่แล้ว จึงฉวยโอกาสช่องทางนี้ “ลักลอบ” นำขยะเข้ามาในไทย และปริมาณไม่น้อยไม่สามารถผลิตเป็นพลาสติกใหม่ได้ สุดท้ายต้องถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ เผา หรือทิ้งลงทะเล

ตามข้อมูลนักวิชาการระบุปี 2562 ประเทศไทยมีการนำเข้าขยะพลาสติกมากกว่า 400,000 ตัน สูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน และมีโรงงานรีไซเคิลมากกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ

แต่เรื่องนี้กำลังสวนทางนโยบายความร่วมมือ “ภาครัฐและเอกชน” ในการ “งดเลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว” เพื่อขับเคลื่อนให้ “ประเทศไทย” เข้าสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ ในการลดปัญหาก่อให้เกิดมลพิษผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “โรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติก”

มีการดำเนินการเลิกใช้พลาสติกมาตั้งแต่ปี 2562 คือ 1.พลาสติกหุ้มขวดน้ำดื่ม 2.พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ 3.พลาสติกผสมไมโครบีด และอีก 4 ชนิด...1.พลาสติกหูหิ้วหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2.กล่องโฟม 3.หลอดพลาสติก และ 4.พลาสติกใช้ครั้งเดียว ที่จะให้เลิกใช้ในปี 2565

...

กลายเป็นว่า...“มีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติก” แต่กลับอนุมัตินำเข้าขยะพลาสติกแทน ทำให้นโยบายย้อนแย้งกัน สะท้อนการบริหารจัดการขยะของประเทศไม่ดี อาจเป็นปัญหาขยะทับถมในอนาคต

เรื่องการนำเข้าของเสียจากต่างประเทศ เพื่อเป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2561 “หน่วยงานภาครัฐ” มีมาตรการตรวจจับโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ในการลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะเศษพลาสติกจากต่างประเทศ เข้ามากำจัดในไทย ด้วยการสำแดงเท็จ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านจากประชาชน

กระทั่งนำมาสู่การเร่งผลักดันให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ในการพิจารณาห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเด็ดขาด ส่วน “การนำเข้าเศษพลาสติก” ให้ชะลอออกไปชั่วคราว

และมีประกาศล่วงหน้าในปี 2564 ต้องสั่งห้ามนำเข้าเศษพลาสติกเด็ดขาดเช่นกัน ในส่วน “ผู้ประกอบการ” ที่มีใบอนุญาตค้างเก่า คาดว่า “ใบอนุญาตทั้งหมด” จะหมดอายุในเดือน ก.ย.2563 ยังนำเข้าขยะพลาสติกได้ แต่ต้องผ่านการตรวจปล่อยสินค้าตามที่ได้รับโควตา ตั้งแต่ด่านศุลกากร จนถึงโรงงานทุกตู้คอนเทนเนอร์

ทว่า... “สินค้าเศษพลาสติกนำเข้าในไทย” ตามหลักต้องผ่านเส้นทาง 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก... “Red Line” สถานะของสินค้า ที่จะต้องเปิดตรวจก่อน และ ลักษณะที่สอง... “Green Line” สถานะของสินค้าที่ไม่ติดเงื่อนไขการนำเข้า ทำให้ไม่ต้องเปิดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อน สามารถดำเนินการนำเข้าได้เลย

ไม่นานนี้...“กลุ่มซาเล้ง กลุ่มผู้ประกอบการรีไซเคิล หรือร้านรับซื้อ ของเก่าในประเทศ” ยื่นหนังสือต่อ “รัฐบาล” ให้ยุติการนำเข้าขยะพลาสติกถาวร ด้วยเหตุผลกล่าวอ้างว่าได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากคนในกรมโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะมีการยกเลิกการชะลอนำเข้าเศษพลาสติก

และในปี 2564 จะเปิดให้มีการนำเข้าพลาสติกราว 6.5 แสนตันอีกด้วย เหตุผลนำเข้านี้มี 2 ประการ คือ 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ประการแรก... “เศษพลาสติกในประเทศ” มีการคัดแยกไม่มีคุณภาพ ที่เป็นขยะพลาสติกสกปรก แตกต่างจากขยะพลาสติกนำเข้าที่สะอาดและราคาถูกกว่ามาก ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกต่างมีการผลักดันเรื่องนี้

...

ประการที่สอง...การนำเข้าขยะพลาสติกจำเป็นบางชนิดในประเทศไม่มี และเศษพลาสติกนำเข้า ส่วนใหญ่ก็เป็น “ขยะอุตสาหกรรม” สามารถใช้ได้ไม่มีการปนเปื้อน ในการนำเข้านี้ก็เป็นสัดส่วนน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับการใช้พลาสติกในประเทศที่มีสูงหลายสิบล้านตันต่อปี

แม้ว่าต่อมา “กระทรวงอุตสาหกรรม” จะออกมายืนยันว่า โควตานำเข้าเศษพลาสติกต่างประเทศ 6.5 แสนตัน “ไม่ใช่เรื่องจริง”...ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นโอกาสที่ดี และหวังว่า “คงจะไม่มีการอนุมัติ” ให้โควตานำเข้าเศษพลาสติกอีกต่อไป แต่เรื่องนี้มีกระแสเกิดขึ้นจากการถกเถียงกันในวงคณะกรรมการแก้ไขปัญหานำเข้าขยะพลาสติก

ในบางคนพยายาม “ยื้อเวลาออกกฎหมาย” ไม่ให้นำเข้าเศษพลาสติกมาในไทย เพราะการนำเข้าเศษพลาสติก 6.5 แสนตันนี้นับว่ามีตัวเลขสูงมาก ถ้าเทียบการนำเข้าระยะ 5 ปี ในปี 2557-2561 ราว 9 แสนตัน

สิ่งสำคัญ...“นำเข้าเศษพลาสติกเข้ามารีไซเคิลในไทย” จะเป็นการสร้างปัญหาไม่มีวันจบในหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่กำลังเป็นข้อขัดแย้งกับแนวคิด “รัฐบาล” ตามนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะในสังคม แต่กลับยังมีการนำเข้า หรือกำลังจะมีการอนุญาตให้นำเศษพลาสติกเข้ามาอีก

...

ทว่า...สาเหตุขยะพลาสติกทะลักมาไทยนี้นับตั้งแต่ปี 2561 “ประเทศจีน” เริ่มมาตรการ “ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก” เพราะอุตสาหกรรมรีไซเคิลหล่อหลอมพลาสติกจากต่างประเทศ กลายเป็นต้นเหตุก่อปัญหา “มลพิษระดับรุนแรง” แม้ว่า “ขั้นตอนระบบโรงงานรีไซเคิลของจีน” จะมีระบบควบคุมเข้มงวดที่เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ทำให้ “ระบบรีไซเคิล” มีระดับมาตรฐานความปลอดภัยสูง มีโอกาสส่งผลกระทบต่อมลพิษน้อยอย่างมาก แต่สุดท้ายอุตสาหกรรมรีไซเคิลหล่อหลอมพลาสติกนี้ก็ยังก่อมลพิษอากาศปนเปื้อนรุนแรง นำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยต่างๆ ดังนั้น “รัฐบาลจีน” สั่งปิดกิจการรีไซเคิลในประเทศจำนวนมาก และห้ามนำเข้ามาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว

หนำซ้ำกลายเป็นเหตุให้... “โรงงานหลายแห่ง” ที่เป็นกลุ่มนักลงทุนชาวจีน ต่างย้ายฐานผลิตมายังในไทยมากมาย เพราะ “รัฐบาลไทย” ไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขจำกัดใดๆในการควบคุมกำกับมาตรฐานระบบรีไซเคิลเศษพลาสติกจากต่างประเทศที่ชัดเจน ทำให้เศษพลาสติกที่เคยไปประเทศจีนทั้งหมด ก็ทะลักตามเข้ามายังในไทยด้วย...

ประเด็นนี้ทำให้ “นานาชาติกว่า 81 ประเทศทั่วโลก” ต่างมุ่งนำขยะพลาสติกเข้ามาเมืองไทย ในช่วง 5 ปีมานี้มากกว่า 9 แสนตัน โดยเฉพาะญี่ปุ่น 30% ฮ่องกง 18% สหรัฐฯ 16% ออสเตรเลีย 8% จีน 8% ในบางประเทศต่างมีโปรโมชันลด แจก แม้กระทั่งยอมจ่ายเงิน เพื่อให้นำเศษพลาสติกออกจากประเทศต้นทางด้วยซ้ำ

แต่การนำเข้าเศษพลาสติกนี้มีหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ต้องเป็นเศษพลาสติกแยกประเภทไม่ปะปนกัน สามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานได้ ที่ไม่ต้องผ่านการทำความสะอาดอีก และต้องผ่านการบด หรือตัดมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. เป็นต้น หากไม่เป็นตามนี้ต้องมีการส่งกลับประเทศต้นทางทันที

...

ตอกย้ำว่า...ในทางปฏิบัติแล้วกลับไม่เป็นตามเงื่อนไขประกาศนี้ทั้งหมด เพราะบางครั้งมีการลักลอบนำพลาสติกไม่สะอาดเข้ามาด้วย เช่น ล่าสุดกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนฯลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจยึดการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศไว้ 1,700 ตู้คอนเทนเนอร์

ผลปรากฏว่า 5 ตู้ เป็นอุปกรณ์การเล่นพนัน และอีก 4 ตู้ เป็นเม็ดพลาสติก เศษขยะพลาสติก แสดงให้เห็นว่ายังมีการสำแดงเท็จลักลอบสิ่งผิดกฎหมายแทรกเข้ามาตลอดเวลา ฉะนั้น ถ้ามีการอนุญาตให้มีการนำเข้าเศษพลาสติกอยู่ ก็จะลักลอบนำเข้าอย่างอื่นมาด้วยอยู่เสมอ

เพราะการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศต้อง “มีเส้นช่องทางใหญ่” ทำให้อาจเป็น “การเปิดช่องให้กระทำผิดกฎหมาย” ที่เรียกว่า “คอร์รัปชัน” ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมถึงการส่งออกด้วยซ้ำ

เหตุฉะนี้... “โควตา” นำเข้า “เศษพลาสติก” จากต่างประเทศ กำลังจะสิ้นสุดอายุในเดือน ก.ย.2563 “รัฐบาล” คงต้องคิดทบทวนให้หนัก มิเช่นนั้น “ประเทศไทย” อาจกลายเป็นที่ “ทิ้งขยะ” ของโลก.