ธุรกิจโรงแรมอ่วมพิษโควิด-19 เจ๊งและเลิกจ้างแล้วร่วม 1 ล้านคน นายกสมาคมโรงแรมไทย วอนรัฐบาลช่วยเหลือทุกรูปแบบ พร้อมเรียกร้องให้เปิดประเทศรับนักเที่ยวต่างชาติเฉพาะกลุ่ม คาดหากสถานการณ์ในไทยยังไม่ดีขึ้นกลางปี 2564 มีปิดกิจการ-เลิกจ้างอีกอื้อ เหตุหมดเงินทุนหมุนเวียน ขณะเดียวกันไทยยังพบติดเชื้อรายวัน ล่าสุด 7 คน เป็นชาวต่างชาติ 3 ไทย 4 เดินทางมาจาก 3 ประเทศ และอยู่ในสถานกักตัว ส่วนกรณีแข้งอุซเบฯ ทีมปราสาทสายฟ้า “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ติดโควิด-19 พบกลุ่มเสี่ยง 569 ราย ผลตรวจเบื้องต้นยังไม่พบใครติดเชื้อ
นับตั้งแต่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) เริ่มแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน มาตั้งแต่ปลายปีกลาย ก่อนจะลุกลามไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันย่างเข้ากลางเดือน 9 ของปี 2020 มีผู้ติดเชื้อกว่า 29 ล้านคน เสียชีวิตใกล้แตะหลักล้านคน ส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก และสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจต่างๆถ้วนหน้า รวมถึงไทยที่ได้รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวและการบริการ
พิษโควิดทำโรงแรมเจ๊งระนาว
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ว่า ขณะนี้ธุรกิจโรงแรมเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 1 ล้านคน หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไทยไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ถึงกลางปี 2564 โรงแรมต้องเลิกจ้าง ปิดกิจการและ ขายกิจการจำนวนมาก เพราะเงินทุนหมุนเวียนหมด แม้รัฐบาลมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างชัดเจน สมาคมโรงแรม จึงออกแถลงการณ์เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ด้วยการออกมาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ค่าจ้างงาน ค่าสาธารณูปโภค รักษาการจ้างงาน โดยให้ กระทรวงการคลังตั้งกองทุนเปิด เพื่อพัฒนาและฟื้นฟู กิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยเข้าร่วมทุนในส่วนทุน หรือ ซื้อหนี้ของแต่ละกิจการระยะเวลา 7 ปี และเปิดสิทธิรับ ซื้อคืนได้ในผลตอบแทน 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีของกองทุนฯ
...
วอนรัฐช่วยพักหนี้–ปล่อยกู้ดอกต่ำ
“ขณะเดียวกันขอให้ช่วยโรงแรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย คงที่ 2 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2-3 ปี และขอวงเงินเพื่อเพิ่ม สภาพคล่อง โดยให้อนุมัติปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ จากวงเงินกู้เดิม ในอัตราดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ ปลอด ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2-3 ปี เมื่อครบ กำหนดชำระให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์ หากมีหลักประกันไม่พอ ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน 100 เปอร์เซ็นต์” นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าว
ขอเปิดรับต่างชาติเฉพาะกลุ่ม
นางมาริสา กล่าวว่าพร้อมกันนี้ ขอให้เปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มเกษียณ ที่สามารถพำนักในไทยได้ 1-2 ปี กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ ที่มีกิจกรรมเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยให้นักธุรกิจและนักลงทุนที่ต้องการเดินทางมาประชุม หรือเจรจาธุรกิจระยะสั้นน้อยกว่า 14 วัน สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ โดยมีผลตรวจปลอดโควิด-19 ก่อนเข้าไทย และให้เปิดรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติจากประเทศหรือเมืองที่ได้มีการควบคุมการ แพร่กระจายของไวรัสได้เป็นอย่างดี เช่น ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในพื้นที่บางส่วนของจีน เป็นต้น โดยนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การกักกันตัวตามนโยบายการกักกันตัวที่เหมาะสมของไทย
แนะกระตุ้นท่องเที่ยวให้โดนใจ
นางมาริสากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ให้เร่งการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ดังนี้ ขยายเวลา โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวฤดูกาลท่องเที่ยว โดยปรับเงื่อนไขของโครงการ เพิ่มเงินสนับสนุนของรัฐบาลสำหรับค่าห้องพัก โรงแรม จาก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และสนับสนุนค่าใช้จ่าย 60 เปอร์เซ็นต์ ในวัน ธรรมดา เปิดโอกาสให้ต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงาน ในประเทศไทย และชาวต่างชาติที่มีวีซ่าให้พำนักอยู่ ในประเทศไทยระยะยาวสามารถจองห้องพักผ่านโครงการนี้ได้ รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าพัก ในโรงแรม 50 เปอร์เซ็นต์ ของราคาที่โรงแรมเสนอขายแพ็กเกจในราคาคงที่ ในรูปแบบของบัตรกำนัล (Voucher) เช่นเดียวกับการเสนอขายในงาน “ไทยเที่ยวไทยโดยผ่านอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม ที่ให้ ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย เมื่อจองและเข้าพักให้โรงแรม นำต้นขั้วของ Voucher ไปรับเงินสนับสนุนจากทาง รัฐคืนจากธนาคารพาณิชย์ที่รัฐกำหนด เป็นต้น”
ไทย–ต่างชาติติดเชื้อรวม 7 คน
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานข้อมูลว่าไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 7 คน เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย 3 คน เป็นคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศบาห์เรน 1 คน ออสเตรเลีย 2 คน และอินเดีย 1 คน อยู่ในสถานที่กักกัน/โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 4 คน ชลบุรี 2 คน และนนทบุรี 1 คน ทั้งหมดไม่มีอาการป่วย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,473 คน รักษาหายป่วย 3,312 คน ยังรักษาตัวใน รพ.103 คน ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดคงที่ 58 คน
...
เมียนมาป่วยเพิ่มกว่าร้อยชีวิต
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น และในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมียนมาที่มีรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ณ วันที่ 13 ก.ย.2563 พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 173 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,595 ราย ส่วนเวียดนามมีผู้ป่วยสะสม 1,060 ราย ประเทศกัมพูชา 274 ราย และประเทศลาว มีผู้ป่วยสะสม 23 ราย ตามลำดับนั้น กรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลว่าในส่วนของประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว อาจพบปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการนำเชื้อโรคโควิด-19 เข้ามาประเทศไทย จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยร่วมมือกันดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งในบริเวณตะเข็บชายแดนดังกล่าว และในจังหวัดที่แรงงานต่างด้าวมักเดินทางไปทำงาน
...
ฝาก “อสม.–อสต.” สกัดต่างด้าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข มีการประเมินความเสี่ยงที่อาจแพร่ระบาดมายังประเทศไทย เพื่อวางแผนในการเตรียมความพร้อมรับมือในอนาคต พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังที่ด่านชายแดนปกติ และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และปกครอง โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ร่วมตรวจสอบพื้นที่และตรวจลาดตระเวนในช่องทางธรรมชาติ รวมทั้งการค้นหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ได้มีมาตรการยับยั้งและป้องกันที่สำคัญคือ การให้ความรู้ อสต. เรื่องการตรวจคัดกรอง การป้องกันตนเอง รวมทั้งการเฝ้าระวัง ร่วมกับการค้นหาผู้ติดเชื้อและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เชิงรุกแก่ประชาชนในพื้นที่ และจัดสถานที่กักกัน สำหรับกักตัวด้วย หากพบความผิดปกติ หรือคนแปลกหน้าในชุมชน จะประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที
กลุ่มเสี่ยงเคสนักบอล 569 คน
ด้านความคืบหน้ากรณี อัคบาร์ อิสมาตุลลาเยฟ ชาวอุซเบกิสถาน นักฟุตบอลชาวอุซเบกิสถาน สังกัดสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ติดเชื้อโควิด-19 หลังพ้นระยะกักตัว 14 วันนั้น ช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่ค่ายฝึกซ้อมอะคาเดมี่ สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จ.บุรีรัมย์ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงข่าวว่าระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย.ได้สอบสวนและควบคุมโรค ทราบว่าผู้ป่วยเดินทางไปร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า มีการซ้อมและอุ่นเครื่องกับทีมราชบุรีมิตรผลและทีมขอนแก่นเอฟซี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 170คน เป็นนักกีฬาทีมสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด 44 คน ทีมสโมสรราชบุรีมิตรผล 44 คน ทีมสโมสรขอนแก่นเอฟซี 42 คน และผู้สัมผัสในจังหวัดบุรีรัมย์ 40 คน กลุ่มเสี่ยงต่ำ 399 คน อยู่ใน จ.บุรีรัมย์ 340 คนและ ต่างจังหวัด 59 คน รวมยอดกลุ่มเสี่ยง 569 คน จังหวัดบุรีรัมย์มีมาตรการกักกันกลุ่มเสี่ยงสูงและประสานกลุ่มเสี่ยงต่ำให้เฝ้าระวังอาการตนเองทุกราย พร้อมทั้งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดอยู่ระหว่างรอผลตรวจ
...
ยังไม่ถึงขั้นปิดห้างร้านค้า
นพ.วิทิตกล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกอบการ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า บ้านพักนักกีฬา ทำความสะอาดพื้นผิวตามมาตรการอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจุดเสี่ยง เช่น ประตู ห้องน้ำ โต๊ะอาหาร ยังไม่มีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานประกอบการ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง และลงทะเบียนในแอปพลิเคชันไทยชนะเมื่อไปตามสถานที่ต่างๆ อย่างเคร่งครัดพร้อมกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้นำอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 มาตรวจบรรดานักฟุตบอลเยาวชนที่อยู่ในอะคาเดมีของสโมสร และเจ้าหน้าที่ของสโมสรบุรีรัมย์ด้วย
ตรวจแข้งขอนแก่นไม่พบเชื้อ
ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นพ.อดุลย์ บำรุง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น นายวีระเดช ซาตา ผจก.สโมสรฟุตบอลขอนแก่น ยูไนเต็ด ร่วมแถลงผลการตรวจโควิด-19 ของนักฟุตบอลสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด และเจ้าหน้าที่รวม 51 คน นายสมศักดิ์กล่าวว่า ผลการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรคและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน จึงต้องกักตัวกลุ่มเสี่ยง 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 5-19 ก.ย. และก่อนวันที่ 19 ก.ย. จะตรวจโควิด-19 ซ้ำอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 ให้กลุ่มนักกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง ขณะนี้ทั้งหมดถูกกักตัวในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ขอให้ประชาชนที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงสัมผัสกับนักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่ของสโมสร มาเข้ารับการตรวจได้ที่ รพ.ขอนแก่น จะรู้ผลภายใน 4 ชม.และยังคงขอความร่วมมือกับชาวขอนแก่นสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
ราชบุรีโล่งผลตรวจเป็นลบ
ส่วนที่สนามมิตรผล สเตเดียม จ.ราชบุรี นายวิสาห์ พูลสิริรัตน์ รอง ผวจ.ราชบุรี นพ.ชวนนท์ อิ่มอาบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และนายธนวัชร์ นิติกาญจนา ประธานสโมสรราชบุรีมิตรผล เอฟซี ร่วมแถลงผลตรวจเชื้อโควิด-19 ในนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ทีม 40 กว่าคน โดยนายวิสาห์กล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 ก.ย. ทีมสาธารณสุขเข้ามาตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นการตรวจรอบสองหลังจากทีมราชบุรี มิตรผล เอฟซีลงเตะอุ่นเครื่องกับทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยและสอบสวนโรคว่าใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงหรือกลุ่มเสี่ยงต่ำ มีทั้งหมด 40 กว่าคน เป็นที่น่ายินดีว่าผลตรวจล่าสุดเป็นลบทุกคน ไม่พบผู้ติดเชื้อหลังครบ 14 วัน ในวันที่ 13 ก.ย. ก็ยังจะต้องเฝ้าระวังดูอาการต่างๆว่าจะมีใครเข้าข่ายต้องสงสัยอย่างไรหรือไม่
สกัดแรงงานเถื่อนตลาดโรงเกลือ
นอกจากนี้ ช่วงสายวันเดียวกัน ที่ จ.สระแก้ว พ.ต.อ.อาทิตย์ ยาแก้ว ผกก.ตม.จ.สระแก้ว ร่วมกับ พ.ต.อ.ฐนพงศ์ โพธิ์ทิ ผกก.สภ.คลองลึก อ.อรัญประเทศ ร.ต.ธิติวุฒ ยีนุช ผบ.ร้อย ทพ.1201 สนธิกำลังออกตรวจสอบชาวกัมพูชาที่ทำการค้าและทำงานรับจ้างในตลาดโรงเกลือ ตลาดการค้าชายแดน อ.อรัญประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงในการนำเชื้อไวรัสโควิด-19 จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ ไทย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจหนังสือเดินทางและเอกสารการอนุญาตทำงานในประเทศไทยของพ่อค้าแม่ค้าและกรรมกรชาวกัมพูชาในตลาดโรงเกลือทุกคน พร้อมทั้งตรวจตราและตรวจค้นตามห้องค้าขายและห้องเช่าที่ปิดไว้อย่างละเอียดเพื่อไม่ให้มีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแอบมาซุกซ่อนตัวอยู่
ตายทั่วโลกเกือบล้านศพ
สถานการณ์โคโรนาไวรัส “โควิด-19” ทั่วโลกล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ผู้ติดเชื้อใกล้ทะลุ 29 ล้านคน อยู่ที่กว่า 28.9 ล้านคน ผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 9.25 แสนคน ผู้ติดเชื้อหายป่วยมากกว่า 20 ล้านคน โดยสหรัฐอเมริกา ยังครองตำแหน่งพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดของโลกคือกว่า 6.67 ล้านคน ผู้เสียชีวิตสะสมใกล้ 2 แสนคน อันดับ 2 ได้แก่ อินเดีย พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 4.75 ล้านคน ผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 7.8 หมื่นคน อันดับ 3 บราซิล พบผู้ติดเชื้อกว่า 4.31 ล้านคน แต่ผู้เสียชีวิตในบราซิลมากอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ อยู่ที่กว่า 1.31 แสนคน ส่วนรัสเซีย พบผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มอีก 5,499 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 94 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.06 ล้านคน ผู้เสียชีวิตกว่า 1.85 หมื่นคน อยู่อันดับ 4 ของโลก
อินเดียแชมป์ติดเชื้อรายวัน
ขณะที่สถานการณ์ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทวีปเอเชีย อินเดียพบผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยสูงที่สุดของโลกกว่า 94,372 คน ส่วนบังกลาเทศพบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดของทวีปเอเชียรองจากอินเดีย คือกว่า 3.36 แสนคน ผู้เสียชีวิตกว่า 4.7 พันคน ปากีสถาน พบผู้ติดเชื้อกว่า 3 แสนคน ผู้เสียชีวิตกว่า 6.38 พันคน ส่วนจีนพบผู้ติดเชื้อทั้งหมดยังอยู่ที่ราว 8.5 หมื่นคน ผู้เสียชีวิตสะสม 4,634 คน ญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 7.45 หมื่นคน ผู้เสียชีวิตกว่า 1,423 คน เกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อกว่า 2.2 หมื่นคน ผู้เสียชีวิตกว่า 358 คน ขณะที่เกาหลีใต้ เริ่มผ่อนปรนมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลงต่ำกว่าระดับตัวเลข 3 หลัก โดยอนุญาตผู้คนชุมนุมกันได้ในพื้นที่ร่ม 50 คน และสถานที่กลางแจ้ง 100 คน ที่รัฐวิคตอเรียของออสเตรเลีย ตำรวจจับผู้คน 74 คน ละเมิดมาตรการด้านสาธารณสุข และจับปรับผู้คนอีก 176 คน ฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ห้ามออกจากที่พักอาศัย โดยออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อสะสมทั้งประเทศกว่า 2.66 หมื่นคน ผู้เสียชีวิต 810 คน
จับตาเมียนมาติดเชื้อพุ่งเร็ว
ส่วนประเทศในแถบอาเซียน ฟิลิปปินส์ พบผู้ติดเชื้อกว่า 2.61 แสนคน ผู้เสียชีวิตกว่า 4.37 พันคน อินโดนีเซีย พบผู้ติดเชื้อภายในวันเดียวเพิ่มกว่า 3,000 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2.18 แสนคน ผู้เสียชีวิตกว่า 8.7 พันคน สิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 5.7 หมื่นคน ผู้เสียชีวิต 27 คน มาเลเซีย พบผู้ติดเชื้อรวมกว่า 9.8 พันคน ผู้เสียชีวิต 128 คน และเมียนมา ที่สถานการณ์น่าห่วงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 201 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,796 คน ผู้เสียชีวิต 16 คน
บริษัทวัคซีนผู้ดีกลับมาทดลองต่อ
ด้านความพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท “แอสตราเซเนกา” ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแห่งอังกฤษ มีรายงานล่าสุดว่ากลับมาเดินหน้าทดลองกับมนุษย์ขั้นต่อไปอีกครั้ง หลังหยุดการทดลองตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ก.ย. เพราะอาสาสมัครทดลองวัคซีนรายหนึ่งป่วยจากอาการทางระบบประสาท แต่หลังจากกระบวนการตรวจสอบพิจารณาอย่าง.ถี่ถ้วนแล้วไม่ก่ออันตรายใดๆ บริษัทจึงเริ่มการทดลองวัคซีนอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ ทั้งนี้ วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการพัฒนาก้าวหน้ามากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก และอยู่ระหว่างทดลองใช้กับมนุษย์ในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ อังกฤษ บราซิล แอฟริกาใต้ และเตรียมขยายพื้นที่ทดลองวัคซีนอีกในญี่ปุ่นกับรัสเซีย บริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเคมบริดจ์ เตรียมแผนการผลิตจำหน่ายวัคซีนทั่วโลกมากถึง 3,000 ล้านโดส