- ตำนาน "สารทจีน" การเซ่นไหว้ "วิญญาณบรรพบุรุษ" และ "วิญญาณเร่ร่อน"
- "สารทจีน" กับคนไทย และของไหว้แก้ "อาถรรพณ์"
- 7 ข้อห้ามทำ เตือน "อาถรรพณ์" ทำผิดชีวิตเปลี่ยน
"วันสารทจีน" ตามปฏิทินทางจันทรคติ จะตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน บางครั้งเรียกว่า เทศกาล "กุ่ยเจี๋ย" หรือ "เทศกาลผี" เป็นเดือนสำคัญที่เหล่าลูกหลาน จะต้องแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับที่ 2 ก.ย.2563
2 ตำนานความเชื่อ "วันสารทจีน"
ตำนานที่ 1 กล่าวถึงความ "สยอง" ว่า "วันสารทจีน" เป็นวันที่ "เงี่ยมล้อเทียนจือ" หรือ "ยมบาล" จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย เพื่อส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงสู่ขุมนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายเหล่านั้น จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้ จึงต้องมีการ "เปิดประตูนรก" นั่นเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ "อาถรรพณ์" ชาวจีนจึงประกอบพิธี "เซ่นไหว้" เพื่อบูชาดวงวิญญาณเร่ร่อน
ตำนานที่ 2 กล่าวว่า มีชายหนุ่มผู้หนึ่งนามว่า "มู่เหลียน" หรือ "พระมหาโมคคัลลานะ" เป็นคนเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ ปีหนึ่งช่วงเทศกาลกินเจ นางเกิดความหมั่นไส้คนถือศีลกินเจนุ่งขาวห่มขาว นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้น เพื่อมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่า นางเกิดความศรัทธาในบุญกุศล จึงพากันมากินอาหารที่บ้าน แต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้น มีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำครั้งนี้ถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุด และได้รับความทุกข์ทรมานสุดแสนสาหัส
...
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดากำลังอดอยาก จึงป้อนอาหารให้ แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมด และเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์สุดแสนสาหัส มู่เหลียนได้เข้าไปขอยมบาล ว่าตนขอรับโทษแทนมารดา แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดงนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่า กรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้น และพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์ "อิ๋วหลันเผิน" ให้มู่เหลียนท่อง เพื่อเรียกเซียนทุกทิศทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่างๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋วหลันเผิน และถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิด จึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันมาโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจวิญญาณเร่ร่อน ที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักนั้นเอง
"วันสารทจีน" สำหรับ "ประเทศไทย"
เชื่อกันว่าเป็นวัน "แก้อาถรรพณ์" ชาวไทยเชื้อสายจีนจึงมีการเซ่นไหว้ เพื่อแสดงความกตัญญูด้วยของไหว้หลากหลายความหมาย ทำปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน โดยของไหว้ที่นิยมนำมาไหว้นั้น ชาวจีนมีความเชื่อว่า ของที่ใช้ไหว้ต้องเป็นอาหารคาวหวานที่มีความหมายดีและมีคุณภาพ เพราะถ้าไหว้ผิด อาจทำชีวิตเปลี่ยนแปลงได้
การไหว้ "สารทจีน" แบ่งออกเป็น 3 ชุด
1. ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่ วันสารทจีน จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวาน ขนมที่ใช้ไหว้ คือ ขนมถ้วยฟู กุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณี คือ ขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่า สีแดงเป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
2. ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ วันสารทจีน คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบและต้องมีต้มจืด น้ำแกง หรือขนมน้ำใสๆ และเส้นบะหมี่วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ
...
3. ชุดสำหรับไหว้วิญญาณเร่ร่อน หรือวิญญาณไม่มีญาติ วันสารทจีน วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า "ไป๊ฮ้อเฮียตี๋" แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้าน ของไหว้จะมีทั้งคาวหวานและผลไม้ตามต้องการ และที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
ทั้งนี้ เมื่อไหว้ "วันสารทจีน" เสร็จแล้วจะมีการเผา "กระดาษเงินกระดาษทอง" ซึ่งมักจัดมาเป็นชุด แต่ต้องมีอ่วงแซจี๊เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้บรรพบุรุษได้รับของตามที่ส่งให้ด้วย จากนั้นลูกหลานถึงจะนำของไหว้วันสารทจีน มารับประทานกันในครอบครัวได้ เพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง
การเผากระดาษเงินกระดาษทองให้ "วิญญาณบรรพบุรุษ"
ชาวจีนเชื่อกันว่า "วันสารทจีน" วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้กลับมาเยือนโลกมนุษย์อีกครั้ง เพื่อเยี่ยมครอบครัว เพราะฉะนั้นวันนี้ชาวจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันทุกครัวเรือน กิจกรรมหลัก คือ การเผากระดาษเงินกระดาษทองให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ก่อนเผากระดาษต้องนำหินปูนมาขีดเป็นวงกลมซ้อนกัน 3-4 วงตรงลานบ้านที่จะใช้เผา จากนั้นนำกระดาษเงินกระดาษทองวางไว้ให้อยู่ในวงกลมวงในสุดที่ขีดไว้ ด้วยความเชื่อว่าวงกลมที่วงไว้โดยรอบ จะกันมิให้ผีไร้ญาติมาแย่งชิงเอากระดาษเงินกระดาษทองไปได้ หลังจากนั้นจึงเผากระดาษเงินกระดาษทองที่เตรียมไว้ ขณะที่เผาก็กล่าวเชิญบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วให้มารับ หลังจากเผากระดาษเงินกระดาษทองที่อยู่ในเส้นวงกลมหมดแล้ว ยังต้องนำกระดาษเงินกระดาษทองอีกชุดหนึ่งมาวางไว้นอกเส้นวงกลม เพื่อเผาเพื่อแผ่ส่วนบุญให้แก่ผีไร้ญาติด้วย
...
"7 ข้อห้าม" ทำแล้วซวย
1. ห้ามแต่งงานในเดือนนี้
2. ห้ามเดินทางบ่อยในเดือนนี้
3. ห้ามอยู่นอกบ้านช่วงกลางดึกในเดือนนี้
4. ห้ามซื้อ-ห้ามย้ายบ้านในเดือนนี้
5. ห้ามเริ่มงานก่อสร้างในเดือนนี้
6. ห้ามดำเนินการเริ่มธุรกิจในเดือนนี้
7. ห้ามว่ายน้ำตอนกลางคืนในเดือนนี้
และนี่คือ 7 ข้อห้าม "วันสารทจีน" โดยชาวจีนเชื่อกันว่า หากใครฝ่าฝืนจะทำให้ซวยตลอดทั้งปี เรียกว่า "ทำผิดชีวิตเปลี่ยน" ฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นก็พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด
เรียบเรียงโดย : หงเหมิน
ที่มาข้อมูล 1.วิกิพีเดีย 2.trueid 3.Masterkool
...