การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตได้ ซึ่งมีการประมาณกันว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีการทำแท้งถึง 45 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ต้องเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เช่น มดลูกติดเชื้อ, การเสียเลือดอย่างมาก และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
พ.ต.ท.นพ.อรัณ ไตรตานนท์ นายแพทย์ สบ.3 กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลเรื่อง "การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย" เริ่มเล่าให้ "กนก" ฟังว่า หมอขอใช้คำว่าการยุติการตั้งครรภ์ แทนคำว่าการทำแท้ง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาระดับโลก สำหรับในประเทศไทยมีผู้หญิงที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งปีละประมาณ 30,000 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 24-28 รายต่อปี เกือบทั้งหมดที่เสียชีวิตคือ ผู้หญิงที่เข้ารับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและผิดกฎหมาย
ขณะที่โลกออนไลน์มีการถกเถียงเรื่อง ยาขับเลือด หรือ การยุติการตั้งครรภ์ คนบางกลุ่มสนับสนุนให้มีการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย แต่ก็มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่มองว่าผิดต่อหลักการศาสนา แสดงให้เห็นว่าในสังคมบ้านเรามีความเห็นที่ต่างกันคนละฝั่งอย่างชัดเจนในประเด็นนี้อยู่มาก จึงอยากจะขอแสดงความเห็นในมุมมองของสูตินรีแพทย์คนหนึ่ง
...
จากประสบการณ์ที่ทำงานทางด้านสูตินรีเวชกรรม มาประมาณ 10 ปี มักจะให้คำแนะนำคนไข้และสอนนักเรียนแพทย์เสมอว่า การป้องกันการตั้งครรภ์ คือวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม ส่วนใหญ่ของปัญหาของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม มักจะอยู่ในวัยรุ่นหรือวัยเรียน แม้ว่าในประเทศไทยของเราจะเปิดเผยเรื่องเพศศึกษามากกว่าอดีต แต่ทุกคนล้วนมีความผิดพลาดได้ทั้งนั้น แต่เมื่อผิดพลาดแล้วต้องหาทางแก้ไขที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ขอฝากถึงวัยรุ่นที่คิดจะใช้การยุติการตั้งครรภ์แบบผิดวิธีว่า จะอันตรายแค่ไหน เจอผลกระทบอะไรต่อร่างกายบ้าง และอยากให้เรียนรู้หาข้อมูลวิธีป้องกันการตั้งครรภ์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาท้องไม่พร้อม วิธีการเลือกใช้ถุงยาง การใช้ยาคุมกำเนิด การใช้เครื่องตรวจครรภ์ และที่สำคัญยาคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่ควรใช้เป็นประจำ จุดสำคัญในการแก้ไขปัญหาคือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้วตระหนักว่าไม่พร้อมต้องรีบหาข้อมูล ขอความช่วยเหลือจากครอบครัว คือ พ่อแม่
สำหรับอดีต การทำแท้งถูกตีตราว่าผิดกฎหมาย แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว กว่า 30 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องมากมายได้พูดคุยกันในเรื่องราวของปัญหานี้มาตลอด มีทั้งท่านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีเหตุผลที่สนับสนุนต่างกัน แต่เราทุกคนคงมองเห็นความจริงที่เหมือนกันว่า การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้น ผู้หญิงจะเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
ซึ่งหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ กระทรวงสาธารณสุข ก็มีนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม โดยได้นำทีมจัดตั้งเครือข่ายการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 1663 สายด่วนท้องไม่พร้อม โดยจะมีคุณหมอจิตอาสาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย เพื่อให้คำปรึกษาให้ความรู้ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศด้วย
สำหรับ การยุติการตั้งครรภ์นั้น จะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และเป็นไปตามข้อกฎหมายกำหนด เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพกาย-สุขภาพใจ, ถูกข่มขืน, การตั้งครรภ์ทารกพิการรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิต และผู้หญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 15 ปี
ขณะที่ปัจจุบัน การยุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 9 สัปดาห์ แพทย์จะใช้หลอดดูดสุญญากาศ ไม่ได้ใช้การขูดมดลูก ไม่น่ากลัว ไม่เจ็บแบบสมัยก่อน ในบางรายแพทย์จะให้ใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งมองแบบไม่ซับซ้อน การยุติการตั้งครรภ์ที่ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน ย่อมเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำแท้งเถื่อน
...
สุดท้ายขอย้ำว่า การแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการตั้งครรภ์ และคงต้องอาศัยเวลาให้คนในสังคมของเราปรับมุมมองเข้าหากัน ทั้งท่านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เลิกตีตราบาปให้กับผู้หญิงที่ทำแท้งว่าเป็นความผิด เขาเหล่านั้นอาจจะไม่เหลือหนทางแก้ปัญหาแล้วจริงๆ ผู้หญิงควรมีสิทธิ์เลือกในการยุติการตั้งครรภ์ คล้ายกับที่เราทุกคนต่างก็ต้องการสิทธิ์ในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ชีวิตเราเองเช่นกัน.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
ขอบคุณ : พ.ต.ท.นพ.อรัณ ไตรตานนท์ (เจ้าของเฟซบุ๊ก อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน)
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun