เสือดำเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับเสือดาว แต่มีสีขนที่เป็นสีดำ เกิดจากยีนที่เรียกว่า Agouti มีหน้าที่ควบคุมการกระจายตัวของสารสี (pigment) สีดำภายในเส้นขน และการเกิดสีดำยังมีสาเหตุจากมีเมลานิน หรือสารที่ทำให้เกิดผิวสีแทน มีมากผิดปกติ...ซึ่งความผิดปกตินี้เรียกว่า “melanistic”

แม้ผู้พบเห็นจะเรียกชื่อกันว่า “เสือดำ” แต่ไม่ได้หมายความว่าเสือดำจะไม่มีลวดลาย

เสือดำนั้นมีลวดลายเหมือนเสือดาว เพียงแต่มองเห็นได้ยากเท่านั้น ต้องมีแสงส่องตกกระทบตัวในมุมที่พอดี จึงสามารถเห็นลวดลายบนตัวเสือดำได้

ลักษณะนิสัยโดยทั่วไป ปีนต้นไม้เก่งกว่าเสือโคร่ง ว่องไว ดุร้าย แต่รักสันโดษชอบหลบซ่อนตัว มักอยู่เป็นคู่ในระยะผสมพันธุ์เท่านั้น สามารถผสมพันธุ์ ได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน 98-105 วัน ออกลูกครั้งละ 1-5 ตัว อายุเฉลี่ย 20 ปี

ในประเทศไทยเสือดำที่พบเป็นชนิดพันธุ์ย่อยของเสือดาว (Indochinese leopard) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera pardus delacouri มีรายงานการกระจายพันธุ์ จากอินโดนีเซียถึงจีนตอนใต้

ถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (endan-gered : EN) ในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN Red List) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายของไทย

จากการสำรวจของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อปี 2561 มีเสือดาว 100-130 ตัว...ในจำนวนนี้เป็นเสือดำอยู่เพียงแค่ 15 ตัวเท่านั้น ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง เป็นป่าที่มีประชากรเสือดาวและเสือดำเยอะที่สุดในประเทศไทย.

...