วิกฤติโควิด-19 ยังคงพ่นพิษไม่เลิก ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงาน ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2563 พบว่าหดตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

สาขาพืช หดตัวร้อยละ 7.0 สาขาประมง ร้อยละ 6.4 สาขาบริการทางการเกษตร ร้อยละ 3.0...นอกจากเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เกษตรกรยังต้องเจอกับสภาพอากาศร้อนแล้ง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

น้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก บางพื้นที่ยัง ประสบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช เป็นผลให้สาขาบริการทางการเกษตรหดตัวลง

และยังประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้การทำประมงทะเลลดลง และภัยแล้งยังทำให้ปริมาณการเลี้ยงกุ้งทะเลและสัตว์น้ำจืดลดลงด้วย

ในขณะที่สาขาปศุสัตว์ มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.5 จากการเพิ่มการผลิตตามความต้องการของตลาด และไทยมีการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติมีโอกาส เนื่องจากผู้คนเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตไป หันมาใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยเพิ่มขึ้น จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร พัฒนาให้อาหารของไทยปลอดภัย เน้นจุดขายเรื่องอัตลักษณ์ด้านอาหารผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ Fusion Food ขยายช่องทางตลาดสินค้าออนไลน์ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านเกษตร และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้มากขึ้น

นอกจากนั้น วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังเป็นโอกาสใหม่ในการทำเกษตรพันธสัญญากับกลุ่มธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ โดยส่งเสริมการผลิตและแปรรูปพืชสมุนไพร รองรับต่อความต้องการของตลาดโลกในอนาคตได้อีกด้วย.

สะ–เล–เต

...