หมอยันไทยยังเสี่ยง “โควิด-19” กลับมาระบาดรอบสอง แม้ล่าสุดคนติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ ทั้งจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและติดเชื้อในประเทศ ชี้แม้อีกครึ่งปีหน้าโลกจะมีวัคซีนป้องกันแต่เชื้อไวรัสมรณะก็ยังไม่หายไปไหน แค่ช่วยลดการเกิดระบาดใหญ่จนคนป่วยล้นโรงพยาบาล ส่วนกรณีญี่ปุ่นพบคนติดเชื้อหลังกลับจากไทย รอประสานข้อมูล ด้าน วช.ชี้ประเทศพร้อมรับมือหากมีการระบาดรอบใหม่ เตรียมทั้งห้องแล็บและชุดตรวจเชื้อ รวมถึงเร่งวิจัยและพัฒนาชุดตรวจต่างๆ เพื่อนำมาใช้งานตรวจคัดกรองที่ด่านรองรับการเดินทางระหว่างประเทศ
ไทยยังรักษาสถิติไร้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศต่อเนื่องอีกวัน รวมถึงไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย ต่างจากหลายประเทศในโลกที่ยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันโลกก็ใกล้มีข่าวดีเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัสมรณะตัวนี้แล้ว
ไทยไร้ผู้ติดเชื้อรายใหม่
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. รายงานถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นวันที่ 77 ส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,351 คน รักษาหายเพิ่ม 9 คน รวมหายป่วยแล้ว 3,160 คน ยังมีผู้ป่วยที่รักษาอาการอยู่ 133 คน ส่วนผู้เสียชีวิตเท่าเดิมคือ 58 ราย
...
โควิด–19 ระบาดรอบ 2 แน่
ต่อมาที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ว่า วันนี้เราไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ แต่ยังพบคนเดินทางกลับจากต่างประเทศติดเชื้อเฉลี่ย 5-6 ราย ขึ้นอยู่กับว่ามาจากประเทศไหน ดังนั้นไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่อยู่ และมีโอกาสค่อนข้างสูง ทุกคนต้องทบทวนบทบาทของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง มีบทเรียนที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ที่มีการระบาดระลอก 2 ทั้งที่ไม่มีผู้ป่วยมานานกว่า 90 วัน จนวันนี้ยังไม่สามารถสอบสวนหาสาเหตุได้ แต่คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดจากการมีผู้ป่วยหลงเหลือในประเทศ การพบผู้ป่วยในประเทศช้าไปประมาณ 2 สัปดาห์ กับการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศจากการลักลอบเข้าเมือง หรือการหละหลวมของสถานที่กักกัน อย่างไรก็ตาม มีการระบุว่าตัวเลขของทั่วโลกที่รายงานขณะนี้จริงๆแล้วอาจเป็นตัวเลขผู้ป่วยต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 10 เท่า เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการ
อีกครึ่งปีโลกมีวัคซีนใช้ 7 ตัว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการพัฒนากว่า 180 ชนิดจากทั่วโลก ในจำนวนนี้มี 135 ชนิดที่เข้าสู่ การทดสอบในมนุษย์ โดยทดสอบในคนระยะที่ 1 แล้ว 18 ชนิด ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 แล้ว 12 ชนิด และทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 3 เพื่อดูประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการป้องกันโรค รวมถึงพิสูจน์ความปลอดภัยแล้ว 7 ชนิด ในการทดลองระยะนี้ตั้งเป้าว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคได้ 50 เปอร์เซ็นต์ นาน 6 เดือน หลังรับวัคซีน วัคซีนทั้ง 7 ตัวนี้ มีทั้งวัคซีนชนิดเชื้อตาย และวัคซีนชนิด mRNA คาดว่าจะมีวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งใน 7 ตัวนี้จะสำเร็จออกมาใช้ในวงกว้างได้เร็วที่สุดคือ 6 เดือนนับจากนี้ นอกจากนี้ยังมีวัคซีน 1 ชนิดของประเทศจีนที่ได้รับการอนุญาตฉีดในคน คือในกองทัพแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ได้ผ่านการทดลองในคนระยะที่ 3 แต่อย่างใด
มียาต้านก็ยังไม่จบ
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของไทยพยายามอย่างเต็มที่ ในการจัดหาวัคซีนมาใช้ให้ได้มากที่สุด โดยระหว่างนี้ไทยควรเตรียมความพร้อมระดับบุคคล องค์กร โดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ คนป่วยไม่ควรออกจากบ้าน โดยเฉพาะช่วงนี้หน้าฝน เป็นฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น การคัดกรองเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ปิดมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากกว่าพื้นที่เปิดถึง 19 เท่า ขอให้ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย และอย่าตั้งความหวังว่าไทยจะไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ แต่ให้ตั้งความหวังว่าหากพบผู้ป่วยใหม่ จะควบคุมไม่ให้ระบาดวงกว้าง ขณะนี้หลายคนหวังว่ามีวัคซีนแล้วโรคจะจบ ซึ่งไม่จริง แม้มีวัคซีนก็จะยังจะพบผู้ป่วยอยู่ แต่การมีวัคซีนจะช่วยลดโอกาสเกิดการระบาดใหญ่ และช่วยไม่ให้โรครุนแรง ไม่ให้เกิดป่วยมากจนล้นโรงพยาบาล
เร่งขอข้อมูลญี่ปุ่นติดเชื้อจากไทย
เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าญี่ปุ่นพบชายชาวญี่ปุ่นวัย 40 ปี เดินทางออกจากประเทศไทย ถึงสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2563 และตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 นั้นได้รับรายงานหรือไม่ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังประสานขอข้อมูลกับทางการญี่ปุ่นว่ากรณีนี้มีรายละเอียดอย่างไร
ให้ตรวจโรคปอดบวมไม่มีที่มา
นพ.ธนรักษ์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังพบว่าการตรวจหาผู้ป่วยโรคปอดบวมที่หาสาเหตุไม่ได้นั้นไม่ถึง 50เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคปอดบวม ดังนั้น ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ประสานขอความร่วมมือไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศให้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดบวมที่หาสาเหตุไม่ได้ทุกราย ส่วนกรณีผู้ประกอบการต้องขออนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยต้องมีการทำสถานที่กักกัน ที่สถานประกอบการต้องจัดตั้งเองนั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดมายื่นขออนุญาต
...
โวตรวจหาเชื้อกว่า 7.7 แสน ตย.
ด้านศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ การวิจัยและพัฒนาของ ศบค.โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการบริหารสถานการณ์และเตรียมความ พร้อมเรื่องโรคโควิด-19 โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า ไทยมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานระดับสากล และได้ตรวจวินิจฉัยและคัดกรองอย่างเป็นระบบ ในขณะนี้ได้ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วถึง 775,202 ตัวอย่าง หรือเท่ากับ 11,640 ตัวอย่างต่อประชากรหนึ่งล้านคน ทั้งในผู้ป่วย ผู้ที่สงสัย ผู้สัมผัสกับผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยงประเภทต่างๆ รวมทั้งการตรวจในบุคคลทั่วไปในเชิงรุก ซึ่งมีการวางแผนการเลือกกลุ่มที่ตรวจ จำนวนตรวจและสัดส่วนต่อประชากรที่เหมาะสมกับสถานการณ์ตามความรุนแรงและอัตราการตรวจพบ
จัดแล็บ-ชุดตรวจไว้พร้อม
...
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่าประเทศไทยใช้วิธีการตรวจแบบอาร์ทีพีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก ในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัยครอบ คลุมในทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว สามารถตรวจได้ถึงวันละ 20,000 ตัวอย่าง ในขณะที่ความต้องการการตรวจในปัจจุบันอยู่ในช่วงประมาณ 3,000-4,000 ต่อวัน แสดงว่าสามารถรองรับสถานการณ์การตรวจเพิ่มได้อีกหากจำเป็น รวมทั้งประเทศไทยยังได้เตรียมน้ำยาสำรองเอาไว้มากกว่า 500,000 ชุด ซึ่งผลิตได้เองภายในประเทศ จึงไม่มีปัญหาทั้งในแง่น้ำยา ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการตรวจนี้ด้วย
รู้ผลตรวจเร็วคนคลายกังวล
ด้าน นพ.สิริฤกษ์ เลขาธิการ วช.กล่าวว่าประเทศไทยสามารถตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากในกรณีที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น เหตุการณ์ทหารอียิปต์ที่ จ.ระยองและคอนเสิร์ตที่ จ.นครศรีธรรมราช เกิดสถานการณ์ให้เกิดความกังวล ก็สามารถเข้าสู่พื้นที่ ทำการเก็บตัวอย่างได้อย่างทันท่วงที และให้บริการตรวจวินิจฉัยเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ คลี่คลายลงได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี
เร่งพัฒนาสารพัดชุดตรวจ
เลขาฯ วช. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ยังได้เร่งให้มีการวิจัยและพัฒนาวิธีการ ตรวจแบบใหม่ๆเพิ่มเติม ทั้งชุดตรวจเสริม หรือชุดตรวจ ทดแทน เพื่อให้ได้ผลอย่างรวดเร็วขึ้น เช่น ชุดตรวจ โดยวิธีคริสเปอร์ (CRISPR) ที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยสิริเมธี หรือวิสเทค ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนชุดตรวจแบบแลมป์ (LAMP) ที่พัฒนาโดย คณะวิทยาศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ผลการประเมินที่น่าพอใจมาก พร้อมที่จะนำมาใช้งานโดยเฉพาะในการตรวจคัดกรองที่ด่านต่างๆ เพื่อรองรับการเดินทาง ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาชุดตรวจหาแอนติบอดีและการตรวจวิธีอื่นอีกด้วยโดยสามารถผลิตได้เองในประเทศพร้อมรับสถานการณ์การระบาด ของโรคได้อีกหากมีการระบาดอีกในระลอกสอง
...
นายกฯห่วง จนท.ไทยติดโควิด–19
วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ห่วงใยและสั่งการกระทรวงการต่างประเทศ ดูแลข้าราชการไทยในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 ให้เป็น อย่างดี ทราบว่าขณะนี้ข้าราชการดังกล่าวได้เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีแพทย์ดูแลอาการอย่าง ใกล้ชิดแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอส่งกำลังใจถึงเจ้าหน้าที่ ไทยทุกคน ทุกหน่วยงาน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ขอให้ดูแลรักษาสุขภาพ และให้มีความปลอดภัย เข้าใจดีว่าทุกคนทำหน้าที่อย่างทุ่มเทและเสียสละ เป็นตัวแทนของประเทศไทยเพื่อดูแลความเป็นอยู่ ให้คำแนะนำ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ชาวไทย ในต่างประเทศ พร้อมชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่งผลให้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 เจ้าหน้าที่ไทยมีส่วนช่วย ในการพาชาวไทยกลับมาจากต่างประเทศจำนวนแล้วกว่า 6 หมื่นคน
คนไทยจากทั่วโลกกลับประเทศ
ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 10 ส.ค. เวลา 14.45 น. สายการบินเคแอลเอ็มแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ KL 875 นำคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ จำนวน 6 คน เดินทางกลับถึงไทย ต่อด้วยเวลา 14.50 น. สายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 917 นำกลุ่ม คนไทยในเกาะอังกฤษ จำนวน 228 คน พร้อมด้วย นักการทูต นักธุรกิจ ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย และผู้เดินทางมารักษาตัว สัญชาติอังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมัน เบลเยียม และไอร์แลนด์ จำนวน 62 คน รวม 290 คน เดินทางจากกรุงลอนดอน เข้าไทย และเวลา 16.10 น. สายการบินไทย เที่ยวบิน ที่ TG476 นำคนไทยในนครซิดนีย์ และเมืองใกล้เคียง ประเทศออสเตรเลีย จำนวน 151 คน พร้อมด้วย นักการทูต นักธุรกิจ ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักใน ประเทศไทย และผู้เดินทางมารักษาตัว สัญชาติออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกัน อินเดีย แอฟริกาใต้ กรีซ โครเอเชีย ฝรั่งเศส และนิการากัว จำนวน 47 คน รวม 198 คน เดินทางเข้าประเทศไทย ในจำนวนนี้ พบคนไทยมีไข้ 2 คน เจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างละเอียด ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการ คัดกรองโรคเรียบร้อยแล้วจะถูกพาไปกักตัว 14 วัน ในสถานกักตัวของรัฐ และสถานกักตัวทางเลือก (ASQ) ใน กทม.สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และชลบุรี รวมถึงโรงพยาบาลทางเลือก (AHQ) สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัว
เริ่มใช้ OQ ที่กักตัวทางเลือกใหม่
ด้านนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการเริ่มดำเนินการของสถานที่กักตัวในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine-OQ) สำหรับผู้เดินทางเข้าไทยว่า เริ่มมีองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายรายสนใจจัดตั้ง OQ ล่าสุดมีอาคารภายในสถานเอกอัครราชทูตประเทศตะวันตกประจำประเทศไทย ที่ได้รับการตรวจประเมินและอนุญาตเป็น OQ แล้ว โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตประเทศตะวันตกและครอบครัวรวม 5 คนเดินทางมาถึงประเทศไทย จากนั้นเดินทางด้วยรถพยาบาลของโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ ที่มารับบุคคลทั้งหมดจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตรงไปยังสถานที่กักตัวในรูปแบบ OQ เพื่อกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ได้รับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่าทุกคนมีผลเป็นลบไม่ติดเชื้อ ระหว่างการกักตัว 14 วัน ทุกคนต้องได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพิ่มอีกครั้งซึ่งจะรายงานผลต่อกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการจะเป็นผู้จัดเก็บขยะติดเชื้อตลอดช่วงกักตัวด้วย
ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 20 ล้านคน
สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรวมใน 213 ประเทศหรือดินแดนทั่วโลกทะลุไปที่ 20.04 ล้านคนแล้ว ผู้เสียชีวิตรวมทั่วโลกอยู่ที่ 7.34 แสนคน รักษาหายดีทั่วโลก 12.91 ล้านคน สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรวมมากที่สุดในโลก 5.19 ล้านคน และ 1.65 แสนคน ตามลำดับ ตามด้วย บราซิล มีผู้ติดเชื้อรวม 3.03 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 1.01 แสนคน และอินเดีย มีผู้ติดเชื้อรวม 2.21 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 4.44 หมื่นคน
ผู้ดีย้ำเปิด ร.ร.เดือน ก.ย.
ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ระบุว่า โรงเรียนทั่วอังกฤษต้องเปิดในเดือน ก.ย.นี้ ยืนยันแม้มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่โรงเรียนต้องเปิดได้พร้อมการเตรียมรับมือและควบคุมโรคเพื่อความปลอดภัยของเด็กและผู้เกี่ยวข้อง ขณะที่ฝรั่งเศสกำหนดให้สวมหน้ากากอนามัยใน หลายพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นทั่วกรุงปารีสรวมทั้งแถบริมฝั่งแม่น้ำแซน และถนนกว่า 100 สาย มีผล ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.ยกเว้นหอไอเฟล ประตูชัย และ ถนนฌ็องเซลิเซ
ผู้ป่วยออสซีตายเพิ่ม
ที่ออสเตรเลียพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 19 คน ทั้งหมดอยู่ที่รัฐวิคตอเรีย ที่มีเมืองเมลเบิร์นเป็นเมืองเอก นับเป็นการพบผู้เสียชีวิตรายวันมากที่สุดตั้งแต่ไวรัสมรณะระบาดในออสเตรเลีย ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่รัฐวิคตอเรีย มี 322 คน ถือว่าลดลงจากที่เคยพบเมื่อ 5 วันก่อนมีมากถึง 725 คน แต่มุขมนตรีรัฐวิคตอเรีย เดเนียล แอนดรูว์ส เผยว่ายังเร็วไปที่จะบอกได้ว่าคำสั่งล็อกดาวน์ที่บังคับใช้เมื่อเดือนที่แล้ว ช่วยให้สถานการณ์การระบาดผ่อนคลาย ส่วนรัฐอื่นๆ ในออสเตรเลียมีทั้งพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2-3 คนและไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่เลย ด้านนิวซีแลนด์ ไม่พบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นมาครบ 101 วัน จึงจับมือเปิดการท่องเที่ยว (travel bubble) กับกลุ่มรัฐหมู่เกาะคุก ไอส์แลนด์ ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ มีผลภายในสิ้นปีนี้
จีน-ฮ่องกงพบติดเชื้อต่อเนื่อง
ส่วนที่จีนประเทศต้นตอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อปลายปีที่แล้ว พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 49 คน ซึ่ง 14 คนในนี้ติดเชื้อในท้องถิ่นที่ภูมิภาคซินเจียงอุยกูร์ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนที่เหลือเป็นผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศและไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม อนึ่ง จีนมีผู้ติดเชื้อรวม 84,668 คน ผู้เสียชีวิต 4,634 คน ขณะที่ฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 คน โดย 67 คน ในนี้ติดเชื้อในท้องถิ่น ส่วนญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อรวม 46,783 คน ผู้เสียชีวิต 1,040 คน นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ประกาศจะหาทางป้องกันกลุ่มคนสูงวัยและผู้เสี่ยงไม่ให้ติดไวรัสโควิด-19 เพราะไม่ต้องการประกาศภาวะฉุกเฉินอีกรอบ
ยันคณะครูฟิลิปปินส์ทำตามกฎ ศบค.
วันเดียวกัน นายวาล ไซมอน ที.โร๊ค กงสุลใหญ่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีการพาดหัวข่าวของ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ 9 ส.ค.2563 อ้างถึงคณะครูจากฟิลิปปินส์เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเสาร์ 8 ส.ค.2563 ระบุว่าสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ขอแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการใช้คำพาดหัวข่าวที่บรรยายถึงการกลับสู่ประเทศไทยของคณะครูจากฟิลิปปินส์ พร้อมขอชี้แจงถึงการกลับสู่ประเทศไทยของเหล่าคณะครูชาวฟิลิปปินส์ทุกคนต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด รวมถึงเข้ารับการกักกันตัวตามรูปแบบเงื่อนไขของรัฐบาลไทย สถานทูตฟิลิปปินส์สามารถพิสูจน์เรื่องนี้ผ่านทางกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมะนิลา สนามบิน และกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยดี